ลืมรหัสผ่าน
 สมัครเข้าเรียน
ค้นหา
ดู: 1928|ตอบกลับ: 1

การพระเมรุ และพระเมรุในสมเด็จภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

[คัดลอกลิงก์]

นิสิตสัมพันธ์

อยากมีเพื่อนคุยกินเที่ยวกัน

กระทู้
594
พลังน้ำใจ
30581
Zenny
218593
ออนไลน์
3227 ชั่วโมง

สมาชิกระดับเพชรคู่สมาชิกระดับเพชรสมาชิกระดับเพชรบริหารสมาชิกระดับตรีเพชรสมาชิกระดับมงกุฎ

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย Medmayom เมื่อ 2012-5-23 20:20



นับตั้งแต่วันที่ ๙ เมษายน ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันส่งเสด็จ สมเด็จภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตน์ราชสุดา สิริโสภาพรรณวดี พระธิดาเพียงพระองค์เดียวของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ นั่นก็แทบจะเรียกได้ว่า เป็นการสิ้นสุดการทำหน้าที่พระเมรุ อันเปรียบประหนึ่งเขาพระสุเมรุกลางสรวงสวรรค์
หากเพียงแต่จะรื้อทิ้ง ก็ดูจะไม่ยังประโยชน์เท่าใดนัก จึงมีการเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชม และมีการบรรยายให้ความรู้ทางสถาปัตย์กรรมจากเจ้าหน้าที่ของกรมศิลปากร โดยได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก จนต้องขยายเวลาจากวันที่ ๑๗ เมษายน เป็นวันที่ ๒๕ เมษายน ซึ่งในวันนี้จะเป็นวันสุดท้ายที่เปิดให้ประชาชนเข้าชมอย่างเป็นทางการ ก่อนที่จะมีการรื้อพระเมรุเพื่อนำเอาส่วนต่าง ๆ ไปใช้ประโยชน์อื่นต่อไป
"พลับพลายกสนามหลวง" (ขวาบน) ตั้งอยู่ด้านหน้าทางเข้าปริมณฑลท้องสนามหลวงเป็นอาคารโถง สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ ประทับขณะประกอบพิธีอัญเชิญพระโกศลงจากราชรถเข้าสู่มณฑลพิธี ผังอาคารเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า พื้นที่ส่วนกลางยกฐานสูง หลังคาจั่วตรีมุข มีมุขลดชั้น ปีกซ้ายขวาเป็นหลังคาเต็นท์ผ้าใบกันน้ำสำเร็จรูปทรงจั่ว แบบเดียวกับทิมและทับเกษตร
ภูมิทัศน์โดยรอบองค์พระเมรุ ที่ประดับตกแต่งไปด้วยไม้ประดับอย่างสวยงาม
โดยพระเมรุในปัจจุบันได้มีการปรับเปลียนรูปแบบมาตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปิยะมหาราช ที่ให้ปรับจากพระเมรุใหญ่ที่มีขนาดสูงใหญ่กว่า ๑๐๐ เมตร ให้เข้ากับยุค สมัยและเป็นการประหยัด แต่ยังให้ทรงพระเกียรติยศ ครบถ้วน โดยให้รื้อพระเมรุชั้นนอกออก ให้เหลือเพียงพระเมรุชั้นในซึ่งมีขนาดเล็กกว่ามากคงไว้ และได้ถือปฏิบัติมาจนถึงปัจจุบัน
ไม้ประดับกระจกรั่วระเบียงพระที่นั่งทรงธรรม
จากหนังสือ "พระเมรุมาศ พระเมรุ และเมรุสมัยรัตนโกสินทร์" ของ ศ.น.อ.สมภพ ภิรมย์ อธิบายไว้ว่า ในความเชื่อแบบพราหมณ์ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นสมมติเทพ ซึ่งสถิตบนเขาพระสุเมรุ อันล้อมรอบด้วยเขาสัตบริภัณฑ์ และเมื่อจุติลงมายังมนุษยโลกเป็นสมมติเทพ
เมื่อสวรรคตจึงตั้งพระบรมศพบนพระเมรุมาศ หรือพระเมรุ เพื่อเป็นการส่งพระศพ พระวิญญาณกลับสู่เขาสุเมรุดังเดิม นาวาอากาศเอกอาวุธ เงินชูกลิ่น อดีต อธิบดีกรมศิลปากร ศิลปินแห่งชาติ และเป็นผู้ออกแบบพระเมรุ ของสมเด็จภคินีเธอฯ ถวาย
ได้อธิบายความเชื่อเรื่องเขาพระสุเมรุในวารสารอาสาไว้ว่า "เขาพระสุเมรุซึ่งเป็นที่สถิตย์ของเทพยดาทั้งหลาย เมื่อเรามีคติความเชื่อว่า คนที่ตายแล้วจะกลับไปสู่สวรรค์ ... ความเชื่อเรื่องเขาพระสุเมรุมีพูดถึงในไตรภูมิ เป็นเรื่องของภูมิจักรวาลซึ่งเป็นความเชื่อในพุทธศาสนามีลักษณะเป็นที่อยู่ของเทวดา ตีนเขาเป็นป่าหิมพานต์"
ทั้งนี้จากความคิดเรื่องนี้จึงได้จำลองพระเมรุมาศ พระเมรุ เป็นเสมือนเขาพระสุเมรุและสัตบริภัณฑ์เพื่อส่งเสด็จสู่ทิพยพิมาน โดยสถานที่ประกอบพิธีเดิมนั้นมักเรียกกันว่า ทุ่งพระเมรุ ซึ่งปัจจุบันคือ ท้องสนามหลวง
"พระที่นั่งทรงธรรม" ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกของพระเมรุ สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับขณะบำเพ็ญพระราชกุศล มีบริเวณสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชบริพาร ทูตานุทูต นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี เฝ้าฯ รับเสด็จ
พระที่นั่งองค์นี้มีลักษณะเป็นอาคารโถง หลังคาจัตุรมุข ยกพื้นสูง หลังคาจั่วมีกันสาดปีกนก มุขหน้าและหลังมีมุขประเจิด พื้นที่ด้านหน้าอาคารต่อเป็นหลังคาปะรำ เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการใช้สอย การที่สถาปนิกออกแบบให้พระนั่งทรงธรรมตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก หันหน้าไปทางทิศตะวันออกสู่พระเมรุ
เนื่องจากพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพจะเริ่มตั้งแต่ช่วงบ่ายไปจนถึงค่ำ ร่มเงาของพระที่นั่งทรงธรรมจะทอดสู่ลานและบันไดทางเสด็จพระราชดำเนินขึ้นพระเมรุ อีกทั้งผู้ที่อยู่บนพระที่นั่งทรงธรรมจะแลเห็นแสงเงาและสีสันอันงดงามของพระเมรุที่สะท้อนแสงอาทิตย์ในช่วงบ่ายถึงเย็น
ภายในพระที่นั่งทรงธรรม
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ในยุคแรก บ้านเมืองยังคงอยู่ในภาวะศึกสงคราม จึงมิได้สร้างพระเมรุมาศสูงใหญ่เทียบเท่าพระเมรุมาศสมัยกรุงศรีอยุธยา ระหว่างรัชกาลที่ 1 - 4 พระเมรุมาศเริ่มเป็นทรงปราสาท พระเมรุมาศองค์แรกที่สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ คือ พระเมรุมาศถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
โดยทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเพื่อถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิถวายพระราชบิดาหลังจากบ้านเมืองสงบศึก โดยทรงอนุสรณ์คำนึงว่า พระราชบิดาสิ้นพระชนม์ในระหว่างภาวะสงครามโดยมิได้ประทับร่วมกัน และเพื่อสนองพระคุณ จึงมีพระราชดำริจะบำเพ็ญพระราชกุศลถวาย และยังมีการจัดงานพระศพเจ้านายสำคัญหลายพระองค์คือ งานพระศพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท
ส่วนการพระราชพิธีในงาน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกยึดหลักอย่างประเพณีอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยา เพื่อฟื้นฟูประเพณีให้กลับรุ่งเรืองสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ประชาชนและเป็นเกียรติยศแก่บ้านเมือง และยังมีการประดิษฐ์สิ่งใหม่ขึ้นคือ การประดิษฐ์เกรินบันไดนาค สำหรับเชิญพระโกศ คิดค้นโดยเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี
ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น จะยึดหลักการสร้างแบบพระเมรุมาศตามตำราโบราณราชประเพณีครั้งกรุงเก่าทุกประการ คือ ทำเป็นพระเมรุอย่างใหญ่ มีตัวพระเมรุ 2 ชั้นต่างไปอยู่ภายในพระเมรุชั้นนอกที่ทำเป็นพระเมรุยอดปรางค์หรือยอดรูปดอกข้าวโพด ส่วนใหญ่เป็นไปตามแบบแผนมีต่างกันไปในรายละเอียดเรื่องการออกแบบตามฝีมือช่าง สำหรับพระเมรุมาศพระบรมศพรัชกาลที่ 4 ถือได้ว่า เป็นพระเมรุมาศสุดท้ายที่ทำตามแบบโบราณราชประเพณี
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา ลักษณะของพระเมรุมาศเป็นเพียงพระเมรุชั้นเดียว ไม่มีพระเมรุใหญ่ครอบเหมือนแต่เดิม เป็นพระเมรุมาศทรงบุษบก และในสมัยนั้นประเทศไทยได้ติดต่อกับต่างประเทศ รับวัฒนธรรมจากภายนอก ทั้งชาวไทยปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมบางอย่างให้สอดคล้องตามสมัย การสร้างพระเมรุมาศทรงปราสาท ซึ่งเป็นงานใหญ่โต ทรงเห็นว่าการสร้างแบบเดิมเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินและเป็นที่เดือดร้อนแก่ประชาชนทั่วไป จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงให้มีขนาดเล็กลงและประหยัดขึ้น โดยทรงมีพระราชดำรัสสั่งห้ามความว่า
"แต่ก่อนมา ถ้าพระเจ้าแผ่นดินสวรรคตลง ก็ต้องปลูกเมรุใหญ่ซึ่งคนไม่เคยเห็น แล้วจะนึกเดาไม่ถูกว่าใหญ่โตเพียงใด เปลืองทั้งแรงคน เปลืองทั้งพระราชทรัพย์ ถ้าจะทำในเวลานี้ก็ดูไม่สมควรกับการที่เปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง ไม่เป็นเกียรติยืนยาวไปได้เท่าใด ไม่เป็นประโยชน์แก่คนทั้งปวง กลับเป็นความเดือดร้อน ถ้าเป็นการศพของผู้มีพระคุณ หรือผู้มีบรรดาศักดิ์อันควรจะได้เป็นเกียรติยศ ฉันก็ไม่อาจจะลดทอนด้วยเกรงว่าคนจะไม่เข้าใจว่า เพราะฉะนั้นประพฤติไม่ดีอย่างหนึ่งอย่างใด จึงไม่ทำการศพให้สมเกียรติยศซึ่งสมควรจะได้ เมื่อถึงตัวฉันเองแล้ว เห็นว่าไม่มีข้อขัดข้องอันใด เป็นข้อคำที่จะพูดได้ถนัด จึงขอให้ยกเลิกงานพระเมรุใหญ่นั้นเสีย ปลูกแต่ที่เผาพอควร ในท้องสนามหลวง แล้วแต่จะเห็นสมควรกันต่อไป..."
นิทรรศการพระราชประวัติส่วนพระองค์ และการก่อสร้างพระเมรุ
เครื่องประดับพระเมรุประเภทต่าง ๆ
อีกทั้งยกเลิกประเพณี ที่ราษฎรทั่วราชอาณาจักรจะต้องโกนหัวไว้ทุกข์ อันเป็นการไม่เหมาะสมต่อยุคสมัยอีกต่อไป จึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกเสีย เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคต รัชกาลที่ 6 จึงได้สนองพระราชประสงค์ทุกประการและได้ยึดถือกันเป็นประเพณีปฏิบัติสืบต่อมาถึงปัจจุบัน
อันเนื่องจากพระเมรุมาศทรงบุษบกเป็นพระเมรุมาศของพระมหากษัตริย์เท่านั้น สำหรับพระเมรุมาศของพระบรมราชินี และพระบรมวงศ์ชั้นสูงคงสร้างเป็นพระเมรุมาศทรงปราสาทสืบต่อมา แต่ลดรูปแบบ เป็นเครื่องยอดต่างๆ เช่น ยอดปรางค์ ยอดมงกุฏ ยอดมณฑป ยอดฉัตร โดยไม่มีพระเมรุภายใน
ในบางกรณีที่เจ้านาย พระราชวงศ์ชั้นสูงและผู้ใหญ่ สิ้นพระชนม์ในเวลาที่ใกล้เคียงกัน บางพระองค์มีพระอิสริยยศฐานันดรศักดิ์เท่าเทียมกัน อีกทั้งการสร้างพระเมรุมาศ หรือพระเมรุแต่ละครั้งมีขั้นตอน การตระเตรียมยุ่งยากหลายประการ จึงมีการอนุโลมโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบการถวายพระเพลิงบนพระเมรุเดียวกันบ้าง หรือให้สร้างพระเมรุน้อยอยู่ใกล้พระเมรุใหญ่ หรือมีเมรุบริวารอยู่ในปริมณฑล ในงานพระราชพิธีเดียวกัน อาจเรียกงานออกเมรุนี้ว่า เมรุตามเสด็จ
ลิฟท์ไม้ฉลุประดับกระจก
รัชกาลที่ 6 ทรงเปลี่ยนการเวียนรอบพระเมรุ เป็นรถปืนใหญ่แทน ด้วยเป็นไปตามพระราชประสงค์ที่พระองค์โปรดการเป็นทหาร สำหรับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จสวรรคตในต่างประเทศ จึงมิได้มีการจัดพระราชพิธีถวายพระเพลิงตามโบราณราชประเพณี แต่เป็นงานบำเพ็ญพระราชกุศลพระบรมอัฐิ
ประตูลิฟท์ฉลุเป็นหัวโค ซึ่งเป็นปีเกิดของสมเด็จภคินีเธอฯ
"ฉากบังเพลิง" ทั้งสี่ทิศที่ได้อาจารย์ด้านศิลปกรรมจากทั้งสี่ภาคมาเป็นผู้วาด ซึ่งทั้งสี่ท่านนี้ มิได้นัดหมายกัน แต่ต่างมาจากแต่ละภาค ไม่ซ้ำกันด้วยเหตุบังเอิญ จึงถือเป็นตัวแทนของประชาชนทั้งสี่ภาค ที่เข้าร่วมถวายความจงรักภักดี
ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลสวรรคต จึงได้จัดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพตามแบบโบราณราชประเพณี มีการนำราชรถและพระราชยานที่ส่วนใหญ่มีสภาพชำรุดมาปฏิสังขรณ์ หลังจากถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว โปรดให้ใช้พระเมรุนี้ในงานถวายพระเพลิงพระศพพระบรมวงศานุวงศ์อีก 4 พระองค์คือ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต, สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประภาพรรณพิไลย
เมื่อปี พ.ศ. 2527 เมื่อสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 เสด็จสวรรคต จึงได้มีการจัดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพขึ้น โดยพระเมรุมาศออกแบบโดยอาจารย์ประเวศ ลิมปรังษี เป็นทรงปราสาทแบบจัตุรมุข ยอดทรงมณฑปประกอบด้วยพระพรหมพักตร์ ยอดบนสุดประดิษฐานสัปตปฎลเศวตฉัตร มีพระนามาภิไธยย่อ รพ ที่หน้าบันทั้ง 4 ด้าน ตัวอาคารประกอบด้วยชั้นฐานทักษิณ ส่วนหลังคาองค์พระเมรุมาศประกอบมุขทิศ การออกแบบโดยการยึดแบบพระเมรุมาศถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง แล้วมาปรับแบบให้เข้ากับพระราชบุคลิกในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ซึ่งมีลักษณะ สง่า นิ่มนวล จับตาจับใจ
มุมต่าง ๆ ของพระเมรุ
สัตว์หิมพานต์บริเวณเชิงเขาไกรลาศ
ล่วงมาในปี พ.ศ. 2538 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จสวรรคต พระเมรุมาศได้จัดสร้างโดยกรมศิลปากร ณ ท้องสนามหลวง พระเมรุทรงปราสาทจัตุรมุขย่อมุมไม้สิบสองยอดเกี้ยว ยอดสุดปักสัปตปฎลเศวตฉัตร มีพระนามาภิไธยย่อ สว ที่หน้าบันทั้ง 4 ด้าน หลังคามุขซ้อน 3 ชั้น ช่อฟ้าใบระกาเป็นลายซ้อนไม้ ในการก่อสร้างครั้งนั้นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระวินิจฉัยให้ใช้วัสดุเรซินในการตกแต่งพระเมรุบางส่วนเพื่อความรวดเร็วและลดปริมาณไม้ งบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้างพระเมรุ นั้นประมาณ 120 ล้านบาท
"ซ่าง" คือ อาคารที่สร้างบนฐานชาลาพระเมรุทั้ง ๔ มุม (สีชมพู) เป็นที่สำหรับพระพิธีธรรม ๔ ชุดสลับกันสวดพระอภิธรรม ตั้งแต่เชิญพระโกศพระศพประดิษฐานบนพระจิตกาธานจนเสร็จการพระราชทานเพลิง
เมื่อสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์สิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2551 มี น.อ.อาวุธ เงินชูกลิ่น (ยศในขณะนั้น) อดีตอธิบดีกรมศิลปากรเป็นประธานคณะทำงานการออกแบบพระเมรุ การออกแบบได้ยึดเค้าโครงพระเมรุมาศของสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ในรัชกาลที่ 5 มาเป็นต้นแบบ[24] โดยออกแบบรูปแบบยอดทรงปราสาท ยอดชั้นเชิงกลอน 5 ชั้น ต่อยอดด้วยชั้นบัวคลุ่มจนถึงปลายยอดประดับฉัตร 7 ชั้น มีตราพระนามย่อ กว ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ที่หน้าบันทั้ง 4 ด้าน
โดยยึดแนวความคิดจำลองรูปเขาพระสุเมรุและสะท้อนพระอุปนิสัยและพระจริยวัตรที่นุ่มนวลสง่างามของพระองค์ไว้ในองค์ประกอบพระเมรุ ทางด้านวิศวกรรมนำแนวคิดการออกแบบลิฟต์เป็นทางเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปประกอบพระราชพิธีบนพระเมรุ อันเนื่องจากความชันบันไดไปยังพระเมรุ ถือเป็นครั้งแรกที่ติดตั้งระบบลิฟต์ งบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้างประมาณ 150-200 ล้านบาท

เมื่อสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2554 มีการจัดสร้างพระเมรุในการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ โดยมีพลอากาศตรีอาวุธ เงินชูกลิ่น อดีตอธิบดีกรมศิลปากรเป็นประธานคณะทำงานการออกแบบพระเมรุ ในงานก่อสร้างพระเมรุครั้งนี้้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงมีพระราชวินิจฉัยให้ยึดงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์เป็นต้นแบบ
เป็นอาคารทรงปราสาทยอดมณฑป หลังคาจัตุรมุขซ้อน 2 ชั้น สร้างขึ้นบนฐานชาลาใหญ่ จากฐานชาลาจนถึงยอดฉัตรสูง 35.59 เมตร มุขหน้าทิศตะวันตกเป็นทางเสด็จพระราชดำเนิน มุขด้านทิศเหนือมีสะพานเกรินสำหรับอัญเชิญพระโกศขึ้นประดิษฐานเหนือพระจิตกาธานภายในพระเมรุ มุขหลังด้านทิศตะวันออกเป็นพื้นที่วางเตาเผาพระศพ บริเวณฐานชาลาทุกด้านมีบันไดทางขึ้นลง
รายล้อมด้วยรั้วราชวัติ ฉัตร โคม และเทวดาอัญเชิญฉัตรประกอบพระอิสริยยศ เครื่องยอดพระเมรุ เป็นทรงมณฑปมีชั้นเชิงกลอน 5 ชั้นแต่ละชั้นมีซุ้มบันแถลงซ้อน 2 ชั้น มุมหลังคามีนาคปัก ส่วนบนเป็นองค์ระฆังรับบัลลังก์ เหนือบัลลังก์เป็นชุดบัวคลุ่ม 5 ชั้น ปลียอดแบ่งเป็น 2 ส่วน คั่นด้วยลูกแก้ว บนยอดมีเม็ดน้ำค้าง เหนือสุดปักสัปตปฎลเศวตฉัตร หน้าบันทั้ง 4 ด้าน ประดับอักษรพระนาม พร โครงสีของพระเมรุโดยรวมเป็นสีทองและสีชมพู ตามสีวันประสูติ คือวันอังคาร
แผนผังของพระเมรุมาศ มีแนวคิดจากผังของเขาพระสุเมรุ ในสมัยโบราณจะปรับพื้นที่พูนดินสร้างเขาให้มีลักษณะ ประดุจเขาพระสุเมรุก่อน แล้วจึงก่อสร้าง อาคารประกอบพระราชพิธี ส่วนประกอบอื่นอย่าง ศาลาและอาคารที่ใช้สอยต่าง ๆ มีความหมายถึงสร้างวังทั้งวังขึ้นบนเขา มีรั้วราชวัติล้อมรอบ ประดับฉัตร ธงทิว รายล้อมด้วยรูปสัตว์ต่าง ๆ เป็นการล้อเลียนธรรมชาติตามคติในเขาพระสุเมรุ และทิวเขาสัตบริภัณฑ์
อาคารหลักคือ พระเมรุมาศ 1 องค์ และอาคารประกอบอย่าง ประดุจโบสถ์ วิหาร มีระเบียงล้อมรอบ ซึ่งเรียกว่าทับเกษตร อันมีความหมายว่า “เขตอันเป็นที่พัก” ตรงส่วนมุมคดของทับเกษตรทั้ง 4 มุมเรียกว่า “ส้างหรือสำสร้าง” เป็นที่ที่สวดอภิธรรมของพระสงฆ์ นอกจากนี้อาคารบริวาร มีราชวัติ ฉัตร ธง รายล้อม หลังส้างหรือสำส้างมีรูปสัตว์รายรอบ ถัดจากนั้นมี เสาดอกไม้ พุ่ม ดอกไม้ไฟ ส่วนพระที่นั่งชั่วคราวที่เรียกว่า พระที่นั่งทรงธรรม จะอยู่ด้านตรงข้ามพระเมรุมาศ สำหรับทรงบำเพ็ญพระราชกุศลก่อนถวายพระเพลิงพระบรมศพ
ในบริเวณส่วนกลางของพระเมรุมาศหรือพระเมรุ จะประดิษฐานพระจิตกาธานซึ่งประดิษฐานพระโกศ พระศพ จะประดับด้วยพระโกศไม้จันทน์ และดอกไม้สดเป็นลวดลายก้าน ดอก ใบ ที่มีฝีมืออันประณีต สำหรับพระมหากษัตริย์-ราชวงศ์-ข้าราชการ ถวายพระเพลิง
"รั้วราชวัติและเสาโคม" เป็นแนวกำหนดขอบเขตปริมณฑลพระเมรุ สร้างต่อเนื่องไปกับทิมและทับเกษตร รั้วเป็นเหล็ก โปร่งสูง 90 เซนติเมตร ประดับดอกประจำยามหล่อด้วยไฟเบอร์กลาส ตกแต่งเสารั้วด้วยโคมไฟแก้วขนาดเล็ก ส่วนเสาโคมส่องสว่าง ตั้งอยู่ที่ทางเข้าทั้งสี่ด้าน และเรียงรายอยู่ในเขตมณฑลพิธี ยอดเสาเป็นโคมแก้วลักษณะเดียวกับที่รั้วราชวัติ แต่มีขนาดใหญ่กว่า ยอดโคมเป็นยอดมงกุฎสีทอง เพื่อแทนความหมายของการเป็นดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ปีกจั่วหน้าเป็นรูปหัวพระโค ประจำปีเกิดพระองค์ท่านเช่นกัน
การตกแต่ง จะเป็นไปตามแบบแผนของการก่อสร้างตามหลักสถาปัตยกรรม มี 2 ลักษณะคือ ตกแต่งอย่างพระเมรุทอง และตกแต่งอย่างพระเมรุสี ซึ่งพระเมรุของสมเด็จภคินีเธอฯ องค์นี้ เป็นพระเมรุทอง จึงมีการตกแต่งพระเมรุทอง ด้วยการปิดทองล้วนทั้งทองจริงและทองเทียม หรือปิดทองล่องชาด อย่างเช่นทองคำเปลว กระดาษทองย่น ซึ่งต้องนำเข้าจากประเทศจีน และในปัจจุบันนั้น มิได้มีการผลิตแล้ว สมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯ จึงได้มีการขอให้ทางประเทศจีน ผลิตเป็นผ้าทองย่นเพราะมาใช้ในการตกแต่งพระเมรุนี้แทน
พื้นเมรุสีแดงมีลายทอง หรือจะปิดกระดาษทองย่นมีสายสีแดง ส่วนการตกแต่งเมรุสี หรือ เมรุลงยาราชาวดี จะใช้สีจากวัสดุหลากหลายประเภท อย่าง กระจกสีต่าง ๆ สอดสีด้วยกระดาษสี กระดาษกั่วสี โดยการเลือกสีจะสัมพันธ์กับผู้ที่จะรับการถวายพระเพลิง เช่น เป็นสีประจำวันพระราชสมภพ เป็นต้น เช่นเดียวกับพระเมรุองค์นี้ ที่ตกแต่งด้วยสีชมพูซึ่งเป็นสีประจำวันประสูติ และสีโอโรส ซึ่งเป็นสีทรงโปรด
อาคารประดับตกแต่งด้วยหุ่นเทวดา ถือเครื่องสูง เพื่อเป็นการแสดงพระอิสริยยศ บางครั้งประดับด้วยสัตว์หิมพานต์ที่อยู่บนเชิงเขาพระสุเมรุ เช่นเสาหงส์
นอกจากนี้ยังมีสิ่งก่อสร้าง หมู่อาคารที่รายรอบพระเมรุอีกหลากหลาย ซึ่งแตกต่างกันไปตามโบราณราชประเพณี และการใช้งาน อาทิ "ทิม" คือ ที่พักของพระสงฆ์ แพทย์หลวง และเจ้าพนักงาน และเป็นที่ประโคมปี่พาทย์ประกอบพิธี สร้างติดแนวรั้วราชวัติ มีลักษณะเป็นอาคารชั้นเดียว หลังคาใช้เต็นท์ผ้าใบกันน้ำทรงจั่ว ตกแต่งปลายจั่วเป็นหน้าเหรา ยอดจั่วเป็นหน้ากาล
"ศาลาลูกขุน" ใช้เป็นที่สำหรับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เฝ้าฯ รับเสด็จและร่วมพิธี เป็นอาคารโล่งชั้นเดียว ในครั้งนี้มีการปรับประยุกต์ใช้เต็นท์สำเร็จรูปเป็นโครงอาคาร และได้ออกแบบองค์ประกอบและลวดลายทางสถาปัตยกรรมไทย ตกแต่งให้เข้ากับหลังคาเต็นท์โค้ง
เดิมที่ ทิม และศาลาลูขุน นี้จะใช้เป็นสิ่งก่อสร้างโครงเหล็ก ภายหลังเมื่อมีการรื้อออกจะเหลือเพียงแต่เศษเหล็ก ซึ่งนำไปใช้งาน หรือ ส่งมอบให้ราชการ หรือหน่วยงานต่าง ๆ ที่ขอมา ใช้ประโยชน์ได้มีสมประโยชน์เท่าที่ควร สมเด็จพระเทพฯ จึงดำริให้ใช้เป็นเต็นท์ผ้าใบสีน้ำตาล และตกแต่งประดับด้วยงานไฟเบอร์ ภายหลังเมื่อรื้อออกก็สามารถประกอบใช้งานได้เช่นเดิม ซึ่งมีราคาถูกและสมประโยชน์มากกว่าการก่อสร้างด้วยโครงเหล็กแบบเดิม
"หอเปลื้อง" เป็นอาคารขนาดเล็กชั้นเดียวหลังคาจั่ว ยกคอสอง มีหลังคาปีกนกโดยรอบ มีผนังโดยรอบ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของพระเมรุ เป็นที่เก็บพระโกศและเครื่องประกอบ หลังจากที่เปลื้องออกจากพระลองแล้ว และสำหรับเก็บเครื่องใช้เบ็ดเตล็ดในช่วงการพระราชทานเพลิงพระศพ
"ทับเกษตร" หมายถึง อาคารที่สร้างขึ้นเพื่อแสดงขอบเขตมณฑลพิธี มักสร้างเป็นระเบียงล้อมรอบพระเมรุ ใช้เป็นที่นั่งของเจ้าหน้าที่ผู้มาร่วมงาน ส่วนกลางทับเกษตรเป็นอาคารยอดมณฑป ชั้นเชิงกลอนประดับด้วยซุ้มบันแถลงและนาคปักที่มุมทั้งสี่ บนหลังคาอาคารส่วนที่เป็นปีกทั้งสองด้านประดับฉัตรผ้าทองแผ่ลวด
นอก
จากนี้ยังมีอาคารภายนอกมณฑลพิธีท้องสนามหลวง ตามเส้นทางขบวนพระอิสริยยศเชิญพระโกศจากพระบรมมหาราชวัง เข้าสู่ท้องสนามหลวง ได้แก่
"เกยลา" ตั้งอยู่ด้านนอกประตูกำแพงด้านทิศตะวันตกของพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง มี ลักษณะเป็นแท่นฐานยกพื้นสี่เหลี่ยมย่อมุม ใช้สำหรับเชิญพระโกศขึ้นประดิษฐานบนพระยานมาศสามลำคาน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของริ้วขบวนพระอิสริยยศเชิญพระโกศสู่มณฑลพิธีท้องสนามหลวง
"พลับพลายกหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม" ตั้งอยู่มุมกำแพงวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เยื้องกรมการรักษาดินแดน เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ ขณะเชิญพระโกศจากพระยานมาศขึ้นสู่ราชรถ เป็นอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้า พื้นที่ส่วนกลางยกฐานสูง หลังคาจัตุรมุข มีมุขลดชั้นปีกซ้ายขวาเป็นหลังคาเต็นท์ผ้าใบกันน้ำสำเร็จรูปทรงจั่ว
"พลับพลายกหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท" พลับพลายกหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท เป็นที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน ขณะทอดพระเนตรริ้วขบวน มีลักษณะเป็นอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาทรงปะรำ (หลังคาเรียบ) ประดับด้วยกระจัง เชิงชายแบบลูกฟักตกแต่งด้วยลายเฟื่อง ลูกฟักผนังอาคารเป็นลายโค้ง มีความนุ่มนวลเหมาะกับการเป็นอาคารที่ประทับของเจ้านายผู้หญิง
อย่างไรก็ดี การเปิดให้เข้าชมพร้อมฟังบรรยายเกี่ยวกับพระเมรุของสมเด็จภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตน์ราชสุดา สิริโสภาพรรณวดี หากใครยังไม่ได้เข้าชม ก็สามารถเข้าชมได้ในวันนี้ ซึ่งเป็นวันสุดท้าย ซึ่งพระเมรุนั้น นอกจากจะสวยงาม สมพระเกียรติและ ให้ความรู้เกี่ยวกับโบราณราชประเพณี และงานด้านสถาปัตยกรรมแล้ว
ยังเป็นเครื่องยืนยันถึงความเข้มแข็งของสถาบันพระมหากษัตริย์อีกทั้ง เชิดชูในด้านศิลปวัฒนธรรมและอารยธรรมของชนชาติไทยได้อย่างภาคภูมิ ดังนั้น จึงพลาดไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง !!!

"ความรัก!เกิดจากความเข้าใจของคนสองคนและมักจบลงด้วยค ...

นิสิตสัมพันธ์

กระทู้
67
พลังน้ำใจ
13781
Zenny
152170
ออนไลน์
711 ชั่วโมง

สมาชิกจีโฟกาย 100%สมาชิกระดับแพลตตินั่มสมาชิกระดับทับทิมสมาชิกระดับไพลิน

โพสต์ 2012-5-24 13:53:21 | ดูโพสต์ทั้งหมด
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เข้าสู่ระบบ | สมัครเข้าเรียน

รายละเอียดเครดิต

A Touch of Friendship: สังคมจะน่าอยู่ เมื่อมีผู้ให้แบ่งปัน ฝากไวเป็นข้อคิดด้วยนะคะชาวจีโฟกายทุกท่าน
!!!!!โปรดหยุด!!!!! : พฤติกรรมการโพสมั่วๆ / โพสแต่อีโมโดยไม่มีข้อความประกอบการโพส / โพสลากอักษรยาว เช่น ครับบบบบบบบบ, ชอบบบบบบบบ, thxxxxxxxx, และอื่นๆที่ดูแล้วน่ารำคาญสายตา เพราะถ้าท่านไม่หยุดทีมงานจะหยุดท่านเอง
ขอความร่วมมือสมาชิกทุกท่านโปรดโพสตอบอย่างอื่นนอกเหนือจากคำว่า ขอบคุณ, thanks, thank you, หรืออื่นๆที่สื่อความหมายว่าขอบคุณเพียงอย่างเดียวด้วยนะคะ เพื่อสื่อถึงความจริงใจในการโพสตอบกระทู้ และไม่ดูเป็นโพสขยะ
กระทู้ไหนที่ไม่ใช่กระทู้ในลักษณะที่ต้องโพสตอบโดยใช้คำว่าขอบคุณ เช่นกระทู้โพล, กระทู้ถามความเห็น, หรืออื่นๆที่ทีมงานอ่านแล้วเข้าข่ายว่า โพสขอบคุณไร้สาระ ทีมงานขอดำเนินการตัดคะแนน และ/หรือให้ใบเตือนสมาชิกที่โพสขอบคุณทันทีที่เจอนะคะ

รูปแบบข้อความล้วน|โทรศัพท์มือถือ|ติดต่อลงโฆษณา|จีโฟกายดอทคอม

ข้อความที่ท่านได้อ่านในเว็บจีโฟกายดอทคอมนี้ เกิดจากการเขียนโดยสาธารณชน และตีพิมพ์แบบอัตโนมัติ หากท่านพบเห็นข้อความใดๆ ที่ขัดต่อกฎหมาย และศิลธรรม ไม่เหมาะสมที่จะเผยแพร่ ท่านสามารถแจ้งลบข้อความได้ที่ Link “แจ้งลบโพสนี้” ที่มีอยู่ใต้ข้อความทุกข้อความ หรือ ลืมพาสเวิดล๊อกอิน/ลืมชื่อที่ใช้สมัคร หรือข้อสงสัยใดๆแจ้งมาที่ G4GuysTeam[at]yahoo.com ขอขอบพระคุณที่ให้ความร่วมมือ

กรณีที่ข้อความ/รูปภาพในกระทู้นี้จัดสร้างโดยผู้ลงข้อมูลเอง ลิขสิทธิ์จะเป็นของผู้ลงข้อมูลโดยตรง หากจะทำการคัดลอก/เผยแพร่ ต้องได้รับอนุญาตจากผู้ลงข้อมูลก่อนนะคะ หรือลงที่มาไว้ด้วยค่ะ

©ขอสงวนสิทธิ์คอนเซ็ปต์,คำอธิบาย,หัวข้อ/หมวดหมู่เว็บ ห้ามลอกเลียนแบบ คิดเอาเองนะคะอย่าเอาแต่ลอก

GMT+7, 2025-1-22 18:43 , Processed in 0.149611 second(s), 26 queries .

Powered by Discuz! X3.5, Rev.8

© 2001-2024 Discuz! Team.

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้