แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย sand เมื่อ 2012-6-3 22:28
๒๖๐๐ ปี วิสาขบูชา วันสำคัญของโลก (S-798)
ในปีพุทธศักราช ๒๕๕๕ นี้ กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในโอกาส ๒๖ สัมพุทธศตวรรษ : สัมพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ธรรมของพระพุทธองค์ ซึ่งทรงบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณอันสูงสุดตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าภายหลังเสด็จออกผนวช และบำเพ็ญเพียรอยู่ ๖ ปี แล้วทรงพากเพียรสั่งสอนเวไนยสัตว์ ตลอดพระชนมชีพอีก ๔๕ ปี จนดับขันธปรินิพพาน เมื่อพระชนมมายุ ๘๐ ปี นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปีพุทธศักราช ๒๕๕๕ ที่พระพุทธศาสนาได้เผยแผ่ผ่านบริษัทสาวกแห่งพุทธะ ข้ามเขตแดน ผู้คน วิถีวัฒนธรรม และกาลเวลาครบ ๒,๖๐๐ ปี และจะขยายอย่างต่อเนื่องไปอีกยาวนาน ประวัติศาสตร์ชาติไทยนั้น มีหลักฐานระบุว่ามีการเริ่มรับพระพุทธศาสนาของบรรพชนในดินแดนแถบนี้มาไม่น้อยกว่า ๒,๐๐๐ ปี ตั้งแต่ยุคสมัยสุวรรณภูมิ สืบผ่านมาทวารวดี ศรีวิชัย และอาณาจักรน้อยใหญ่ ก่อนที่จะมารวมเป็นเผ่าพงศ์ประเทศไทย ที่มีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ รังสรรค์ภูมิธรรม ประเพณีวิถีวัฒนธรรม และโบราณสถาน โบราณวัตถุ ประจักษ์พยานน้อยใหญ่ไว้ทั่วทั้งแผ่นดิน ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาของโลก แนวทางที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงมอบให้กับพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ถือได้ว่าเป็นองค์ความรู้ที่สำคัญเหนือกว่าวิทยาศาสตร์และปรัชญญา กล่าวได้ว่า “สัมพุทธชยันตี” มาจากคำว่า “สัมพุทธ” คือ การตรัสรู้ของพระพุทธองค์เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ส่วนคำว่า “ชยันตี” คือมีชัยชนะ อันหมายถึง ชัยชนะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีต่อหมู่มารและกิเลสทั้งปวงอย่างสิ้นเชิง โดยคำนี้ได้มีการนำมาใช้อย่างกว้างขวางจากการเฉลิมฉลองใหญ่ในงาน ๒๕ พุทธศตวรรษ เมื่อปี ๒๕๐๐ ที่ผ่านมาแล้ว ซึ่งในโอกาสสำคัญดังกล่าว ได้มีการเฉลิมฉลองชัยชนะของพระพุทธองค์ต่อหมู่มาร อันหมายถึงการตรัสรู้ธรรม ซึ่งถือเป็น การมีชัยชนะเหนือพระองค์เอง มีชัยชนะต่อกิเลส โดยอาศัยพุทธกิจที่ช่วยชาวพุทธให้มีชัยชนะตามพระพุทธองค์ หลักคิดของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) ที่ทำให้เกิดความเข้าใจถึงความสำคัญในวาระโอกาสดังกล่าวมากขึ้น มีรายละเอียดดังนี้ ความหมาย การเฉลิมฉลองชัยชนะของพระพุทธองค์ต่อมาร อันหมายถึงการตรัสรู้ธรรม ซึ่งถือเป็นการมีชัยชนะเหนือพระพุทธองค์เอง มีชัยชนะต่อกิเลส มีชัยชนะดับทุกข์ได้ และยังมีชัยชนะในพุทธกิจที่ช่วยชาวพุทธ ให้มีชัยชนะ ถือเป็นการมีชัยชนะในการปฏิบัติพุทธ การชนะอย่างชาวพุทธ มีแนวทางในการน้อมนำหลักอริยวัฑฒิ ๕ ที่มีพระพุทธองค์ทรงแสดงให้เห็นถึงหลักความเจริญของอารยชน ประกอบด้วย ๑. ศรัทธา เชื่อในศักยภาพของมนุษย์ว่าสามารถบรรลุเป็นพุทธได้ด้วยพุทธคุณ ธรรมคุณ และสังฆคุณ ๒. ศีล มีความประพฤติปฎิบัติดี มีวินัย สุจริตซื่อตรง ๓. สุตะ ศึกษาเล่าเรียนข่าวสารข้อมูลรอบด้าน รู้หลักธรรมความจริง ๔. จาคะ มีน้ำใจ ความเสียสละ เผื่อแผ่แบ่งปัน ชอบช่วยเหลือเอื้อเฟื้อ ชอบที่จะให้ไม่ตระหนี่คับแคบ เห็นแก่ตัว ๕. ปัญญา รู้รอบ รู้คิด รู้พิจารณา รู้ผิดชอบชั่วดี รู้โลกและชีวิตตามความเป็นจริง ของสิ่งทั้งหลายตามหลักสามัญลักษณะ ฉะนั้นพุทธศาสนิกชนทั้งหลายจึงควรรับรู้ว่า หลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนาถือเป็นสากล เนื่องจากเป็นหลักธรรมที่ประกาศสัจธรรมความจริงที่พิสูจน์ได้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้เราทั้งหลายมีความ เชื่อในตนเอง ไม้ได้ให้เชื่อผู้อื่นแม้แต่พระองค์เอง ซึ่งทรงสอนเราเหล่าชาวพุทธทั้งหลายใช้ปัญญาพิจารณาให้เกิดความรู้อย่างถ่องแท้ จึงเชื่อได้ว่า คำสอนของพระพุทธองค์จะทำให้พระพุทธศาสนาดำรงอยู่และเป็นหนึ่งเดียว ในประเทศไทยและแผ่ขยายไปทั่วโลก เหล่าชาวพุทธจึงร่วมจัดงานเฉลิมฉลอง รำลึก ฝึกปฏิบัติในมหามงคลที่ยิ่งใหญ่นี้ เพื่อประกาศให้ชาวโลกได้รับรู้ รับทราบ ถึงความยิ่งใหญ่และร่วมสืบสานพระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่เป็นสัจธรรมของพุทธศาสนิกชนสืบไป
|