"ธิดานุช" เล่าประสบการณ์ขนหัวลุกจากนนทบุรีในอดีต
ดิฉันเป็นคนจังหวัดนนทบุรีนี่เอง ถึงเทศกาลสงกรานต์มักไม่ได้ไปเที่ยวที่ไหนหรอกค่ะ นอกจากไปวัดทำบุญ รดน้ำผู้ใหญ่ เลี้ยงดูกันในหมู่ญาติมิตร เท่านี้ก็มีความสุขพอสมควรแล้ว
บางปีมีเพื่อนหนุ่มสาวจากกรุงเทพฯ มาเที่ยว เห็นเรารดน้ำท่านผู้ใหญ่ก็อยากรดบ้าง แต่อดขำไม่ได้เมื่อเห็นเขารดน้ำไป พลางก็พูดอวยพรให้ท่านอายุยืน อย่าเจ็บอย่าไข้ จะได้เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้ลูกหลานไปนานๆ
แทนที่จะรับพรกลับให้พรผู้ใหญ่เฉยเลย!
ดิฉันจะบอกตอนเขารดน้ำเสร็จก็กลัวเพื่อนจะอาย ปีต่อมาเลยบอกให้รู้ก่อนว่าไม่ต้องให้พรท่านหรอก ท่านเป็นฝ่ายให้พรเราเอง ว่าขอให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้นไป อย่าเจ็บอย่าไข้ ขอให้ก้าวหน้าในการงานอะไรประมาณนั้น...คนที่เคยให้พรท่านเมื่อปีกลายได้แต่เอียงอายไปตามๆ กัน
พูดถึงเมืองนนท์ ส่วนมากคนจะรู้จักแต่ว่าเคยโด่งดังเรื่องทุเรียน รวมทั้งผลไม้ต่างๆ ไม่ว่ามะม่วง, ส้ม, มะพร้าว ฯลฯ ความจริงจังหวัดนี้น่ะมีทั้งพื้นที่ทำนาและทำสวนพอๆ กัน คือราวหมื่นสี่พัน-หมื่นห้าพันไร่
อ้อ! ที่ว่าน่ะสิบกว่าปีมาแล้วนะคะ ปัจจุบันถูกบ้านจัดสรร, ตึกแถว, คอนโดฯ และห้างสรรพสินค้ารุกรานจนเรือกสวนไร่นาเหลือน้อยลงทุกที...เมื่อสิ่งที่เรียกว่าความเจริญบุกรุกเข้ามา
ยายดิฉันเคยเล่าให้ฟังว่าสมัยก่อนเราทำนาได้ข้าวแล้วก็จะใช้ควายลากเลื่อนไปเข้ายุ้งฉาง เมื่อเหลือจากการเก็บไว้กินและทำพันธุ์แล้วถึงจะขาย โดยขนข้าวใส่เรือพายไปส่งโรงสี มีปัญหาตรงน้ำขึ้น-น้ำลง (แต่ก่อนเรียกน้ำเกิด-น้ำตาย) ที่เอาแน่นอนไม่ได้เลย
น้ำลงมากก็ต้องเข็นเรือ หรือไปไม่ไหวจริงๆ ก็ต้องขอแรงเพื่อนบ้านช่วย "ลงแขก" หาบข้าวไปส่งโรงสีกันละค่ะ
ต่อมาเคยได้ยินแต่เขาว่าลงแขกดำนา, เกี่ยวข้าว เท่านั้น...สงสัยจะมีที่จังหวัดนนท์บ้านดิฉันนี่แหละค่ะ ที่มีตั้งแต่การดำนา, ดายหญ้า, เกี่ยวข้าว, นวดข้าว...ไปถึงการลงแขกหาบข้าวขึ้นจากเรือเดินไปส่งถึงโรงสีด้วย!
นอกจากจะทำอาหารเลี้ยงดูผู้ที่มาช่วยงานแล้ว ยังมีพิธี "ขวัญข้าว-ขวัญลาน" โดยมีหมอขวัญมาเรียกขวัญ หรือระลึกถึงบุญคุณของแม่โพสพไงคะ
อ้อ! มีการ "ทำขวัญควาย" ไปพร้อมกันด้วย โดยอาบน้ำทำความสะอาดให้เจ้าทุย เอาหญ้าอ่อนให้กิน ใช้สายสิญจน์ผูกเขาทั้งสองข้าง มีหมอมาทำขวัญเพื่อระลึกถึงบุญคุณของควายที่ช่วยเหลือทำนามาตลอดปี
เทศกาลไหนก็ไม่สนุกเท่าวันสงกรานต์ไปได้หรอกค่ะ
เริ่มตั้งแต่วันที่ 13 เมษายนเป็นต้นไป จะมีการทำบุญและสรงน้ำพระ แล้วแต่ทางวัดจะกำหนดวันไหน อาจจะนานตั้ง 3-4 วันก็ได้ โดยวันสรงน้ำพระจะสนุกที่สุด จำได้ว่ามีการละเล่นหลายอย่าง ล้วนแต่น่าสนุกทั้งนั้น เช่น ซ้อมตำข้าว, แม่ศรี, ช่วงชัย, ช่วงโยน, มอญซ่อนผ้า, ชักเย่อ, ผีสาก, ผีครก...สารพัดละค่ะ
โดยเฉพาะผีนางรำนี่ทั้งสนุกและน่ากลัวอย่างบอกไม่ถูก!
พวกเราจะไปจัดพิธีผีนางรำกันกลางทุ่งนาใกล้ๆ วัด มีการปักธงแดงหรือธงชาติบนลานที่จัดไว้ โดยตอนเช้าจะไปทำบุญ เสร็จแล้วชาวบ้านก็จะมาชุมนุมกันที่ลานเพื่อเล่นผีนางรำ
เท่าที่เคยเห็นตอนเด็กๆ ผู้หญิงหรือคนทรงที่จะมาเป็นนางรำแทบจะไม่ซ้ำหน้ากันเลย
มีลูกเต้าวุ่นวายบ้าง ย้ายถิ่นฐานไปบ้าง ตายเพราะถูกงูกัดบ้าง คนทรงที่จะมาเล่นผีนางรำจึงเปลี่ยนหน้ากันมาตลอด
พอได้เวลาก็มีคนทรงชื่อน้าบัวลอยแต่งชุดนางรำ นุ่งโจงกระเบน ห่มผ้าสไบเฉียงสีเขียวสวยงาม ชาวบ้านที่อยู่รอบๆ วงก็จะช่วยกันร้องเพลงเพื่อเชิญผีให้มาเข้าทรง ท่ามกลางสายตาของเด็กๆ ที่จ้องมองตาโพลง
สายลมพัดซ่า นางรำที่ยืนนิ่งเริ่มขยับตัว...ผีมาเข้าทรงแล้ว!
ทันใดนั้นน้าบัวลอยหรือนางรำก็จะทอดแขนร่ายรำช้าๆ ก้าวขาเยื้องกรายได้จังหวะอย่างงดงาม...บรรยากาศดูเยือกเย็น พร่ามึนเหมือนเราพลัดหลงเข้าไปในโลกแห่งความฝัน หรือจินตนาการเร้นลับอย่างบอกไม่ถูก
ใบหน้าขาวโพลนของนางรำที่เชื่อว่าถูกผีสิงก็ยิ้มแย้มปากแดง พยักพเยิดกับคนนั้นคนนี้ จนกระทั่งมีเสียงเอะอะครวญคราง ใครไม่รู้ 3-4 คนร้องขึ้นว่า...นังศรี...นังศรีนี่นา!
เขาหมายถึงน้าศรีที่ถูกงูกัดตายเมื่อปีกลาย ดิฉันเองก็จำได้ว่าเมื่อครู่นี้เห็นเป็นหน้าน้าศรีชัดๆ แต่ไม่ช้าก็เป็นหน้าน้าบัวลอยตามเดิม...เดี๋ยวนี้สงกรานต์เหลือแต่ทำบุญกับสรงน้ำพระเท่านั้น แต่ดิฉันยังจำผีนางรำสมัยเด็กๆ ไม่มีวันลืมค่ะ!
ขอบคุณ แหล่งที่มาหนังสือพิมพ์ ข่าวสด