นามแห่ง พระครูสีทา ชยเสโน ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในหนังสือชีวประวัติ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต สำนวนเขียน พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสโส)
ในการอุปสมบท พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ณ วัดศรีทอง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี เมื่อเดือนมิถุนายน 2436
ในฐานะที่เป็นพระกรรมวาจาจารย์
ขณะเดียวกัน เมื่ออ่านหนังสือ "กันตศีลมหาเถรานุสรณ์" ถึงตอนที่ พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล มีศรัทธาเลื่อมใสต่อวงศ์ธรรมยุต จึงได้ญัตติเป็นพระธรรมยุต ณ วัดศรีทอง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
พระครูสีทา ชยเสโน ก็อยู่ในฐานะเป็นพระกรรมวาจาจารย์อยู่ด้วย
สถานะของ พระครูสีทา ชยเสโน จึงสัมพันธ์ทั้งต่อ พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล และทั้งต่อ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
เป็นความสัมพันธ์ในสถานะ พระกรรมวาจาจารย์
กรรมวาจารย์ อัน พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) ให้นิยามว่า พระอาจารย์ผู้สวดกรรมวาจาประกาศในท่ามกลางสงฆ์ในการอุปสมบท
นับว่าสำคัญ
ห้วงแห่งการเดินทางกลับอุบลราชธานีนั้นเอง พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต จึงรำลึกถึง พระครูสีทา ชยเสโน เป็นอย่างสูง
สำนวนเขียน พระอาจารย์วิริยังค์ บรรยายสถานการณ์ตอนนี้ว่า
ในวันหนึ่งท่านจึงได้เข้าไปนมันการ พระครูสีทา ชยเสโน ที่วัดและพูดขอโอกาสที่จะเล่าความจริงแห่งการปฏิบัติธรรมถวาย
เมื่อ พระครูสีทา ชยเสโน ให้โอกาสท่านเล่าถวายแล้ว พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต จึงได้เริ่มเล่าความจริงที่ท่านได้ประสบมาในขณะที่ท่านบำเพ็ญกัมมัฏฐานอยู่ที่ถ้ำไผ่ขวาง น้ำตกสาริกานั้นว่า
การปฏิบัตินี้เป็นทางที่พาให้พ้นทุกข์ คือ มรรค 8
มรรค 8 ข้อต้นนั้นได้แก่สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ เห็นชอบเห็นอะไร เห็นอริยสัจ 4 อริยสัจ 4 คืออะไร คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มรรคคือมรรค 8 ฉะนั้น เมื่อปฏิบัติสัมมาทิฏฐิข้อเดียวจึงเท่ากับปฏิบัติทั้งหมด
ทุกข์คืออะไร คือ ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย
ใครคือผู้เกิด ผู้ตาย ร่างกายของเรานี้ ฉะนั้น ร่างกายของเรานี้จึงเป็นตัวทุกข์ เพราะจิตเข้าไปยึดมั่น
การบำเพ็ญจิตให้สงบลงจนเกิดกำลังแล้วก็ไม่ควรที่จะทำความสงบอย่างเดียว เพราะถ้าทำแต่ความสงบไม่พิจารณาทุกขสัจจ์ก็จะเป็นเฉพาะฌาน ก็จะเป็นมิจฉาสมาธิ เป็นสมาธิผิดไม่พ้นทุกข์ต้องพิจารณาทุกข์จึงจะพ้นทุกข์
คือต้องใช้กระแสจิตที่เป็นกำลังอันเกิดจากความสงบนั้นมาพิจารณา เพราะกระแสจิตนี้ได้รับการอบรมจากสมาธิแล้วเป็นกำลังมหาศาลซึ่งไม่ควรนำไปใช้ทางอื่นเสียควรใช้พิจารณาตัวทุกข์ คือร่างกายนี้ให้เห็นชัดเจน
จนกระทั่งเกิดนิพพิทาญาณ ความเบื่อหน่าย เจริญให้มาก กระทำให้มาก ญาณนี้เกิดขึ้นจนกว่าจะแก่รอบ
เมื่อท่าน พระครูสีทา ชยเสโน ได้ฟังแล้วท่านก็เกิดความเลื่อมใสว่า
ธรรมเช่นนี้แม้เราที่ได้เรียนมาแล้วแต่ไม่เข้าใจ เพราะปริยัตินั้นเพียงแต่เรียนพอเข้าใจแต่ไม่รู้วิธีการที่ใช้ คราวนี้รู้วิธีที่จะทำอะไรกับสิ่งนั้นแล้ว เอาละเราขอขอบใจเธอมาก
การขอบใจจาก พระครูสีทา ชยเสโน มิได้เป็นการขอบใจอย่างธรรมดา หากแต่เป็นการขอบใจอย่างลึกซึ้ง
เป็นการขอบใจพร้อมกับการนำไปปฏิบัติ ปรารภความเพียร
สำนวนเขียน พระอาจารย์วิริยังค์ บันทึกไว้ว่า เมื่อท่าน พระครูสีทา ชยเสโน ได้บำเพ็ญกรรมฐานตามแนวของ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต มาเป็นเวลานานครั้ง แล้ววันหนึ่งก็เกิดความอัศจรรย์ขึ้น
ซึ่งสามารถพิจารณาเห็นกายและเกิดนิพพิทาญาณ ความเบื่อหน่าย และสามารถทวนกระแสจิตเห็นตัวผู้รู้ ผู้เห็นตามความเป็นจริง
แล้วสิ้นกังขาความสงสัยในใจซึ่งสัตถุศาสนา
ถามว่าทั้งหมดนี้ พระอาจารย์วิริยังค์ รู้ได้อย่างไร คำตอบไม่ได้มีอะไรซับซ้อนไปกว่าความเข้าใจโดยพื้นฐาน
ทั้งหมดนี้ล้วนแต่ดำเนินไปในกระบวนการ "ท่านเล่าว่า"
ขอบคุณ แหล่งที่มาหนังสือพิมพ์