ต้องยอมรับว่ามีสถานที่อย่างน้อยก็ 5 สถานที่อันส่งผลสะเทือนต่อการปฏิบัติ ปรารภความเพียรของ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เป็นอย่างสูง
1 สำนักวัดเลียบ อุบลราชธานี อันมี พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล เป็นกำลังสำคัญ
1 สำนักวัดปทุมวนาราม กรุงเทพมหานคร อันเป็นที่พำนักอย่างยาวนานเมื่อเดินทางไปยังมหานครกรุงเทพฯ
1 สำนักวัดบรมนิวาส ซึ่งมี พระเทพโมลี (สิริจันโท จันทร์) เป็นสดมภ์หลัก
1 การเดินทางไปปฏิบัติ ปรารภความเพียร ณ ถ้ำสาริกา นครนายก และ 1 การเดินทางไปปฏิบัติ ปรารภความเพียร ณ ถ้ำสิงโต วัดเขาพระงาม ลพบุรี
กระทั่งย้อนกลับมาจำพรรษา ณ วัดปทุมวนาราม กรุงเทพมหานคร อีกครั้งหนึ่ง
"เราควรจะได้แนะนำสั่งสอนธรรมปฏิบัติที่เราได้รู้ได้เห็นมา เราอุตส่าห์พยายามมานับสิบๆ ปีควรจะได้แนะนำบรรดาผู้ที่ควรแก่การปฏิบัติให้ได้รู้และจะได้แนะนำกันต่อๆ ไป" นี่เป็นความรู้สึก
ความรู้สึกซึ่งพิจารณาอยู่ในความนึกคิดและได้เล่าให้ พระอาจารย์วิริยังค์ ฟัง
ครั้นออกพรรษาในปี พ.ศ.2458 พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ก็ได้กราบลา พระเทพโมลี (สิริจันโท จันทร์) เดินทางกลับอุบลราชธานีอีกครั้งหนึ่ง
สำนวนเขียน พระอาจารย์วิริยังค์ บรรยายเหตุการณ์ต่อจากนี้อย่างน่าติดตาม
ในขณะนั้นท่าน พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม เป็นครูสอนนักเรียน เป็นครูสอนวิชาสามัญเป็นเวลาหลายปีมาแล้ว
ท่านได้ยินกิตติศัพท์ว่า ท่านอาจารย์มั่นเป็นพระนักปฏิบัติที่เคร่งครัดมาก ก็ใคร่ที่จะได้ศึกษาปฏิบัติธรรม
ในวันหนึ่งหลังจากเลิกสอนนักเรียนแล้วท่านก็ได้ไปนมัสการท่านอาจารย์มั่นที่วัดบูรพาราม
ขณะนั้นเป็นเวลา 1 ทุ่มแล้วเมื่อเข้าไปเห็นท่านอาจารย์มั่นกำลังเดินจงกรมอยู่ ท่านก็รออยู่ครู่ใหญ่จนท่านอาจารย์เลิกจากการเดินจงกรมเหลือบเห็นท่านอาจารย์สิงห์ซึ่งนั่งอยู่ที่โคนต้นมะม่วง
ท่านจึงได้เรียกและพาขึ้นไปบนกุฏิ หลังจากท่านอาจารย์สิงห์กราบแล้ว ท่านอาจารย์มั่นก็พูดขึ้น
"เราได้รอเธอมานานแล้วที่อยากจะพบและต้องการชักชวนให้ปฏิบัติธรรมด้วยกัน"
เมื่อได้ยินเช่นนั้นท่านอาจารย์สิงห์ถึงกับตกตะลึง เพราะท่านได้ทราบจิตใจของท่าน อาจารย์สิงห์มาก่อน
เนื่องจากอาจารย์สิงห์เองก็ได้ตั้งใจมาหลายเพลาแล้วที่จะขอมาพบกับท่านอาจารย์มั่น เพื่อฝากตัวเป็นศิษย์ปฏิบัติธรรมด้วย
ท่านอาจารย์สิงห์ได้ฟังเช่นนั้นก็รีบตอบว่า "กระผมอยากจะปฏิบัติธรรมกับท่านมานานแล้ว"
กล่าวจบท่านอาจารย์มั่นจึงอธิบายให้ฟังว่า การบวชเป็นพระภิกษุนั้นจักต้องปฏิบัติกัมมัฏฐาน
คือพิจารณาตจปัญจกกัมมัฏฐานเป็นเบื้องแรกเพราะเป็นหนทางพ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริง พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงตรัสรู้ธรรมด้วยการปฏิบัติอริยสัจธรรม 4
คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
เมื่ออธิบายไปพอสมควรท่านก็แนะนำวิธีนั่งสมาธิ ท่านอาจารย์มั่นเป็นผู้นำนั่งสมาธิในตอนนั้นเป็นเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ท่านอาจารย์สิงห์ก็เกิดความสงบแล้วจิตสว่างไสวขึ้นทันทีเป็นการอัศจรรย์ยิ่ง
ภายหลังจากนั่งสมาธิเสร็จแล้วท่านอาจารย์มั่นก็ได้อธิบายถึงวิธีพิจารณากาย โดยใช้กระแสจิตพิจารณาจนเป็นที่พอใจแล้วท่านอาจารย์สิงห์ก็ได้ลากลับไป
จากนั้นมาท่านอาจารย์สิงห์ก็พยายามนั่งสมาธิทุกวันจนเกิดความเย็นใจเกิดขึ้นเป็นลำดับ
อยู่มาวันหนึ่งท่านก็ไปสอนนักเรียนตามปกติ ซึ่งเด็กนักเรียนในสมัยนั้นเรียนรวมกันทั้งชายและหญิงและอายุการเรียนก็มากต้องเรียนถึงอายุ 18 ปี เป็นการบังคับให้เรียน
ขณะที่กำลังสอนนักเรียนมองดูเด็กนักเรียนเห็นแต่โครงกระดูกนั่งอยู่เต็มห้องไปหมด
ไม่มีหนังหุ้มอยู่เลยสักคนเดียว แม้จะพยายามขยี้ตาดูก็เห็นเป็นเช่นนั้น
ที่สุดก็เกิดความสังเวชใจขึ้นแก่ท่านเป็นอย่างมาก แล้วก็เกิดความเบื่อหน่ายต่อสังขารเป็นอย่างยิ่ง อาการที่เห็นเป็นอยู่เช่นนั้นเป็นเวลานาน
เป็นสถานการณ์เมื่อปี พ.ศ.2458 เป็นสถานการณ์อันบังเกิดขึ้นกับ พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม
นับได้ว่า พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม เป็นศิษย์คนแรกของ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เป็นศิษย์อันได้พบและให้คำชี้แนะ ณ วัดบูรพาราม อุบลราชธานี
น่าสนใจว่าเหตุการณ์ต่อจากนั้นของ พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม เป็นอย่างไร
ขอบคุณ แหล่งที่มาหนังสือพิมพ์