ขณะที่ สำนวนเขียน พระอาจารย์วิริยังค์ กับ สำนวนเขียน พระอาจารย์ทองคำ จารุวัณโณ ให้ความหมายกับการปฏิบัติ ปรารภความเพียร ณ ถ้ำ สาริกา นครนายก ค่อนข้างสูง
ถึงขั้นที่ พระอาจารย์วิริยังค์ บรรยายความรู้สึก "ท่านเล่าว่า" ว่า
ปรากฏว่าโลกนี้เตียนราบประดุจหน้ากลองชัย เรียบเอาจริงๆ แต่การราบเรียบเหมือนหน้ากลองชัย คือ การอยู่ในสภาพอันเดียวกัน ได้แก่ ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย และความไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน
แต่การปรากฏขึ้นในจิตนั้นเป็นเช่นนั้น เพราะว่าไม่มีอะไรมาข้องอยู่กับใจในจิตนั้นเป็นเช่นนั้น
"เพราะท่านพูดกับข้าพเจ้าต่อไปว่า" พระอาจารย์วิริยังค์ เล่า
"นี้เป็นการที่ได้หนทางเป็นครั้งแรก ในใจของเราให้หายสงสัยว่าจะเป็นอะไรต่อไป แน่ชัดในใจโดยปราศจากข้อกังขา ในที่นี้จึงรวมไว้ซึ่งอินทรีย์ 5 พละ 5 โพชฌงค์ 7 เป็นที่รวมกันทั้งหมด เท่ากับเป็นการรวมกองทัพใหญ่พร้อมที่จะขยี้ข้าศึกคือกิเลสให้ย่อยยับลงไป เพราะความที่ได้ขยี้ข้าศึกคือกิเลสนี้เองจึงเกิดเป็น วิสุทธิ 7 ประการ เพราะเหตุได้ตัดเสียแล้วซึ่งอุปาทาน"
ในวันนั้น พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต "ได้พิจารณารู้แจ้งเห็นจริง" แล้วก็ลุกขึ้นเดินจงกรมในเวลาก่อนแจ้ง
รู้สึกเบาตัวไปหมด
สำนวนเขียน พระอาจารย์ทองคำ จารุวัณโณ สรุปการปฏิบัติ ปรารภความเพียร ณ ถ้ำสาริกา นครนายก เอาไว้ด้วยข้อความเหมือนเป็น "ซับเฮด" ว่า
"ในพรรษาที่รู้แจ้ง"
รายละเอียดดำเนินไปอย่างน่าสนใจ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เดินจงกรม พิจารณากำหนดจิตอยู่ในร่างกายนี้พอสมควรแล้วก็นั่งสมาธิ
ความวิตกกังวลทับถมเข้ามา ร่างกายเจ็บปวดเวทนา ทั้งแสบทั้งร้อนสารพัดเกี้ยวขา สารพัดเกี้ยวแข้ง พอคิดขึ้นได้ว่า จะเป็นตายร้ายดีก็ให้ตัดสินใจกันวันนี้ เมื่อลงใจได้เช่นนี้พิจารณากำหนดอยู่ในร่างกายไม่ถอยจิตก็รวมใหญ่
ปรากฏว่าร่างนี้พังไปเลย เกิดไฟเผาไหม้เป็นเถ้าถ่าน จมหายไปในแผ่นดิน
เวทนาและความวิตกกังวลทั้งหลายหายหมดสิ้น เหลือแต่ ปีติ สุข และเอก กัคคตา เกิดความรู้แปลกประหลาดขึ้นมาเป็นบาทคาถาบาลีแปลความได้ว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุโยคาวจรเจ้า ผู้ได้ศึกษามาก็ดี ภิกษุโยคาวจรเจ้าที่ไม่ได้ศึกษาเพราะความที่ตนเป็นปุถุชนคนหนาก็ดี ให้เอาพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นมูลเหตุ เอาพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นเนติแบบฉบับ เอาพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นที่พึ่งที่อาศัย เสมอด้วยชีวิต เพราะเรื่องทั้งหลายเหล่านี้แม้แต่พระตถาคตเจ้าก็ได้กระทบกระทั่งมาแล้วอย่างแสนสาหัส
พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต นั่งทำสมาธิอยู่ในถ้ำนั้น จิตใจเบิกบาน แจ่มใส ด้วยปีติปราโมทย์ในธรรม
ดำเนินไปเช่นเดียวกับ สำนวนเขียน พระมหาบัว ญาณสัมปันโน
ท่าน (คือ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต) บำเพ็ญเพียรด้วยความสะดวกและมีความสงบสุขทางใจอย่างบอกไม่ถูก
ร่างกายก็เป็นปกติสุข ไม่มีอาการใดก่อกวน
บางคืนยามดึกสงัดก็ต้อนรับพวกรุกขเทพที่มาจากที่ต่างๆ จำนวนมากมาย โดย มีเทพลึกลับที่เคยทำสงครามวาทะเป็นผู้ประกาศโฆษณาให้ทราบและเป็นหัวหน้า พามา
คืนที่ไม่มีเรื่องมาเกี่ยวข้องก็สนุกบำเพ็ญสมาธิภาวนา
บ่ายวันหนึ่งออกจากที่สมาธิแล้วก็ออกไปนั่งตากอากาศห่างจากหน้าถ้ำพอประมาณ รำพึงธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงพระเมตตาประทานไว้แก่หมู่ชน รู้สึกว่าเป็นธรรมที่สุขุมลุ่มลึกมากยากที่จะมีผู้สามารถปฏิบัติและไตร่ตรองให้เห็นจริงตามได้
บทสรุปจากสำนวนเขียน พระมหาบัว ญาณสัมปันโน คือ
"ท่านเกิดความภูมิใจและอัศจรรย์ในตัวท่านเองขึ้นมาที่มีวาสนาได้ปฏิบัติและรู้เห็นความอัศจรรย์หลายอย่างจากธรรม แม้จะยังไม่สมบูรณ์เต็มภูมิที่ใฝ่ฝันแต่ก็ยังจัดอยู่ในขั้นพอกินพอใช้ไม่ขัดสนจนมุมในความสุขที่เป็นอยู่และจะเป็นไป"
จากนี้จึงเห็นได้ในบทสรุปอันตรงกันจากกระบวนการถ่ายทอดของ 3 พระอาจารย์คนสำคัญ
ไม่ว่าจะเป็น พระอาจารย์วิริยังค์ ไม่ว่าจะเป็น พระอาจารย์ทองคำ จารุวัณโณ ไม่ว่าจะเป็น พระมหาบัว ญาณสัมปันโน ล้วนสรุปตรงกันถึงความสำคัญอันได้จากถ้ำสาริกา นครนายก
กระนั้น บาทก้าวขึ้นต่อไป 3 พระอาจารย์ก็ใช่ว่าจะมีบทสรุปตรงกัน
ขอบคุณ แหล่งที่มาหนังสือพิมพ์