ลืมรหัสผ่าน
 สมัครเข้าเรียน
ค้นหา
ดู: 2571|ตอบกลับ: 4

ประวัติและปฏิปทา หลวงพ่อคำพอง ติสฺโส

[คัดลอกลิงก์]

นิสิตสัมพันธ์

กระทู้
473
พลังน้ำใจ
40883
Zenny
206866
ออนไลน์
36627 ชั่วโมง

สมาชิกจีโฟกาย 100%สมาชิกระดับแพลตตินั่มสมาชิกระดับทับทิมสมาชิกระดับไพลินสมาชิกระดับมรกตสมาชิกระดับเพชรสมาชิกระดับเพชรบริหารสมาชิกระดับเพชรคู่สมาชิกระดับตรีเพชรสมาชิกระดับมงกุฎ



ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อคำพอง ติสฺโส


วัดถ้ำกกดู่
ต.โนนหวาย อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี



(๑) ชีวิตเยาว์วัย (พ.ศ. ๒๔๖๕-๒๔๘๕)

หลวงพ่อคำพอง ติสฺโส เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๕ ตรงกับวันขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๗ ปีจอ ที่บ้านกุดตะกร้า ต.สงเปลือย อ.คำเขื่อนแก้ว จ.อุบลราชธานี (ปัจจุบันขึ้นกับ จ.ยโสธร) โยมพ่อชื่อ บุญนาค โยมแม่ชื่อ หลุน นามสกุล สงเคราะห์ อาชีพทำนา มีบุตรและธิดารวม ๘ คน หลวงพ่อเป็นบุตรคนที่สอง ดังนี้

๑. นางทองคำ สงเคราะห์
๒. หลวงพ่อคำพอง ติสฺโส
๓. นางแก้ว โสดาหนู
๔. นายทุมมี สงเคราะห์
๕. นายสีปู สงเคราะห์
๖. นายสุบิน สงเคราะห์
๗. นางแหวน สีโท
๘. นายปิ่น สงเคราะห์

พ.ศ. ๒๔๗๓ หลวงพ่ออายุได้ ๙ ขวบ โยมพ่อได้อพยพครอบครัวไปอยู่ที่บ้านกุดฉิม ต.นามะเฟือง อ.หนองบัวลำภู จ.อุดรธานี ซึ่งน้ำไม่ท่วมและไม่แห้งแล้งเหมือนที่บ้านกุดตะกร้า อพยพโดยเกวียนเล่มเดียวจากบ้านกุดตะกร้าถึงบ้านกุดฉิม รวม ๑๘ คืน ทำมาหากินอยู่ที่นี่ได้ ๕ ปี (อ.หนองบัวลำภู ปัจจุบันเป็น จ.หนองบัวลำภู)

พ.ศ. ๒๔๗๘ โยมพ่อได้ย้ายมาที่บ้านกุดเต่า ต.บ้านขาม อ.หนองบัวลำภู จ.อุดรธานี ซื้อที่ทำกินไว้ประกอบอาชีพทำนาเช่นเดิม

พ.ศ. ๒๔๘๓ หลวงพ่ออายุได้ ๑๘ ปี โยมแม่ก็ตายเนื่องจากป่วยเป็นไข้มาลาเรีย โยมพ่อรับภาระเลี้ยงดูบุตรและธิดาที่เหลือทั้งหมด

หลวงพ่อได้ช่วยโยมพ่อโยมแม่ทำมาหากินมาตลอด ไม่มีโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียน จึงอ่านหนังสือไม่ออก

หลวงพ่อต้องรับภาระแทนโยมแม่ในการดูแลเลี้ยงน้อง และช่วยโยมพ่อทำมาหากินอย่างขยันขันแข็ง ท่านมีนิสัยโอบอ้อมอารีชอบช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ เห็นเพื่อนมนุษย์เป็นมิตร ไม่มีศัตรู เป็นที่ชอบพอของชาวบ้านในหมู่บ้าน จนวันหนึ่งมีผู้หญิงมาชอบพอท่าน ไปพักที่บ้านถึง ๑๕ วัน พอหลวงพ่อทราบเรื่อง จึงหนีออกจากบ้านไปฝึกมวยที่ อ.หนองบัวลำภู จ.อุดรธานี (อ.หนองบัวลำภู ปัจจุบันเป็น จ.หนองบัวลำภู)

ช่วงอายุ ๑๘ ปีนี้ หลวงพ่อได้หันเหชีวิตไปฝึกซ้อมมวยไทยกับครูสมพงศ์ เวชประสิทธิ์ ที่ อ.หนองบัวลำภู จ.อุดรธานี ติดตามครูสมพงศ์ขึ้นชกตามเวทีต่างๆ รวมทั้งเวทีราชดำเนิน สมัยยังล้อมรั้วด้วยสังกะสีเก่าๆ จนกระทั่งครั้งสุดท้ายขึ้นเวทีชกกับศิษย์ครูเดียวกัน (ครูพยัคฆ์ เทียมคำแหง ซึ่งหลวงพ่อเคยฝึกอยู่ด้วย) ที่เวที อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น ไม่มีใครแพ้ชนะ กรรมการยกมือให้เสมอกัน

ผลการชกที่เสมอกันนี้สร้างความผิดหวังให้กับหลวงพ่อเป็นอย่างมาก ตั้งแต่ชกมวยมาไม่เคยเสมอเลย ถ้าแพ้ก็ให้แพ้ ชนะก็ให้ชนะกันไป ปีนั้นเลยตั้งใจว่าจะฝึกให้เก่งขึ้นอีก ทราบข่าวครูมวยที่ไหนดีก็จะเข้าไปฝึกฝนอยู่ด้วย


(๒) มูลเหตุของการบวช (พ.ศ. ๒๔๘๕)

ปีนั้นจวนเข้าพรรษา โยมพ่อรับสร้างกุฎีพระมา ๑ หลัง ได้เรียกหลวงพ่อมาช่วยสร้างกุฎี หลังจากนั้นโยมพ่อและโยมลุงปรึกษากัน ขอให้หลวงพ่อบวชที่วัดหลวงปู่ขัน ซึ่งมีศักดิ์เป็นน้าของหลวงพ่อ แต่หลวงพ่อยังไม่ได้รับปากในเรื่องนี้แต่อย่างใด

วันหนึ่งในระหว่างนั่งเหลาไม้ทำงานบ้านอยู่ ก็มาคิดนิยายเก่าๆ ที่เคยได้ยินเขาเล่นและอ่านสืบๆ ต่อมา เช่น รามเกียรติ์ สิงหลชัย ลักษณวงศ์ และประวัติพระพุทธเจ้า เป็นต้น มาพิจารณาดู

ทศกัณฑ์ในรามเกียรติ์นี่ ถึงจะเก่งวิเศษวิโสเท่าไหร่ก็ตาม พระราม พระลักษณ์ มีความซื่อสัตย์สุจริต มีศีลธรรมเป็นที่ตั้ง ในที่สุดทศกัณฑ์ก็ต้องตาย

พระลักษณวงศ์ถือแต่ศีลอย่างเดียว สู้กับยักษ์มืดฟ้ามัวดิน เป็นหมื่นเป็นแสนได้ยังสู้ไหว คนเดียวเท่านั้น

เอ...เรานี่ กำปั้นหุ้มนวมจะไปสู้กับคนทั้งโลกไหวหรือ มันต้องอาศัยศีลธรรมเข้าช่วยถึงจะได้


(๓) ออกบวช (พรรษาที่ ๑ พ.ศ. ๒๔๘๖)

พอตัดสินใจแล้วก็ไปบอกโยมพ่อโยมลุงว่า “ผมจะบวช”

พ.ศ. ๒๔๘๖ เดือน ๕ ก็ไปอยู่วัด หลวงปู่ขันให้ช่วยสร้างกุฎี เลื่อยไม้ ประกอบการงานในวัด กินข้าวเพียงมื้อเดียว ซึ่งมีความเหน็ดเหนื่อยเป็นธรรมดาของเด็กที่ยังไม่ได้รับการฝึกฝน

วันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ ตรงกับวันเสาร์ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะแม อายุ ๒๑ ปี หลวงพ่อก็อุปสมบทที่วัดมหาชัย ต.หนองบัว อ.หนองบัวลำภู จ.อุดรธานี (ต.ลำภู อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู ในปัจจุบัน) โดยมี พระครูพิศาลคณานุกิจ เป็นพระอุปัชฌาย์ (วัดนี้หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต พระอาจารย์ใหญ่กรรมฐานภาคอีสาน เคยมาพักเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๖) และ พระอธิการจันทร์ จันทธัมโม เป็นพระกรรมวาจาจารย์

พรรษาแรก ตั้งใจทำความเพียรอยู่กับหลวงปู่ขัน นั่งภาวนาแข่งกับพระที่วัด ใครนั่งได้ตลอดแจ้ง (ตลอดคืน) อดข้าวแข่งกัน ใครจะอดได้นาน อดข้าวอยู่ได้ ๗ วัน ภาวนาตลอดคืนได้ ๒-๓ คืน ก็เพลียสู้ไม่ไหว แต่ก็อยู่ได้ตลอดพรรษา


พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต


พระอาจารย์วัน อุตฺตโม


พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ


(๔) พบพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต (พรรษาที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๘๗)

หลังจากออกพรรษาแล้ว หลวงพ่อจิตใจวุ่นวายไม่อยากอยู่วัดเนื่องจากหลวงปู่ขัน เจ้าอาวาส ชวนสึกออกไปทำมาหากินด้วยกัน จึงลาจากวัดออกเดินทางด้วยเท้าไปพร้อมกับลูกศิษย์มุ่งหน้าไปนมัสการพระธาตุพนม จ.นครพนม จนครบ ๑๕ วัน แล้วย้อนกลับมา จ.สกลนคร ถึงบ้านโนนงาน บ้านหนองบ่อ อ.นาแก จ.นครพนม แดดร้อนจัดและฉันน้ำกับลูกศิษย์อยู่ ระหว่างนั้นมีพระบ้านฉันน้ำด้วย เล่าให้หลวงพ่อฟังว่า

“หลวงปู่มั่น อยู่บ้านนามน เป็นพระอรหันต์ แต่ด่าคนเก่ง”

หลวงพ่อฟังแล้วมานั่งคิดๆ ดูคำว่า “หลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่น” นี่ไม่ใช่พระเล็กพระน้อย เป็นพระผู้ใหญ่ คงมีอายุพรรษาใหญ่โตแล้ว ยังไม่เคยเห็นท่าน เขาว่า “ด่าคน” นี่มันจะเป็นไปได้หรือ ด่าล่ะ คงด่า แต่คงมีเหตุผลน่า จะไปด่าปู้ยี่ปู้ยำนี่คงเป็นไปไม่ได้ ท่านจะไปด่าโดยเสียจรรยามารยาทนี่ คงเป็นไปไม่ได้

เอ้า...ไปหาหลวงปู่มั่น ออกเดินทางไปบ้านกกดู่ ระหว่างทางพบ พระอาจารย์วัน อุตฺตโม ได้เดินทางไปด้วยจนถึงเสนาสนะป่าบ้านนามน ต.ตองโขบ อ.เมือง จ.สกลนคร เวลาประมาณ ๕ โมงเย็น เข้าไปกราบนมัสการหลวงปู่มั่น เรียนให้ทราบถึงเจตนาของการเดินทางมาหาท่าน ท่านว่ากุฎิยังไม่มี ไปอยู่กับท่านกงมา (พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ) บ้านโคก ค่ำลงก็มาฟังธรรมหลวงปู่มั่น เทียวไปเทียวมาไม่ไกลหรอก

ขณะนั้นหลวงปู่มั่นอายุได้ ๗๕ ปี ท่านได้เทศน์โปรดกัณฑ์แรกสั้นๆ ว่า “นะน้ำ โมดิน นะแม่ โมพ่อ กัมมัฏฐานห้า แขนสอง ขาสอง หัวหนึ่ง รวมเป็นปัญจกัมมัฏฐาน นี่เป็นมูลมรดกกัมมัฏฐาน” หลวงพ่อเดินทางไปฟังเทศน์หลวงปู่มั่นกับพระอาจารย์กงมาทุกคืนโดยไม่ขาดเลย

วันหนึ่งหลวงปู่มั่นได้กล่าวทักขึ้น “อ้าว ท่านคำพอง มานั่งฟังเทศน์อยู่ทำไม จวนจะคัดเลือกทหารแล้วไม่ใช่หรือ ประเดี๋ยวจะผิดกฎหมายนะ ไปเสียก่อน หากคัดเลือกทหารแล้วไม่ถูกค่อยกลับมา” (หลวงพ่อบวชก่อนคัดเลือกทหารและมิได้กราบเรียนให้หลวงปู่มั่นทราบแต่อย่างใด)

หลวงพ่ออยู่ฟังเทศน์หลวงปู่มั่นทุกคืนได้ ๓ เดือน ก็กราบลาหลวงปู่มั่นไปคัดเลือกทหาร เดินทางด้วยเท้าจากบ้านนามนไปยัง จ.สกลนคร และต่อไปถึง อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร มีรถยนต์รับหลวงพ่อไปส่งที่ จ.อุดรธานี สมัยนั้นอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ขาดแคลนน้ำมัน รถยนต์ใช้ถ่านเป็นเชื้อเพลิง

หลังจากคัดเลือกทหารแล้วไม่ถูก ก็ตั้งใจจะกลับไปหาหลวงปู่มั่นอีก และเก็บของเครื่องใช้ หลวงปู่อ่อนศรี สุเมโธ (ศิษย์หลวงปู่มั่นอีกองค์หนึ่ง) ได้ชวนหลวงพ่อไปอยู่ด้วย ที่วัดบ้านกลางใหญ่ ต.กลางใหญ่ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ท่านจึงจำพรรษาอยู่ที่นี่ ๑ พรรษา


หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี


(๕) พบพระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี (พรรษาที่ ๓ พ.ศ. ๒๔๘๘)

ออกพรรษาแล้ว หลวงพ่อก็ออกธุดงค์ไปตามป่าเขา ถ้ำ ป่าช้า อยู่ที่ถ้ำเมฆจนถึงเดือน ๓ ก็ออกเดินทางไปพระบาทบัวบก เลยไปถึงถ้ำพระ จ.อุดรธานี และเดินต่อไปถึงถ้ำทาสี และถ้ำผาปู่ จ.เลย

ย้อนกลับมา จ.หนองคาย พบ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี (ศิษย์ชั้นผู้ใหญ่ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต) จำพรรษาเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าอรัญวาสี ต.ท่าบ่อ อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย อยู่ฟังเทศน์กับหลวงปู่เทสก์จนครบ ๓ เดือน


(๖) ความเจ็บความตายที่ถ้ำพระ (พรรษาที่ ๓ พ.ศ. ๒๔๘๘)

พ.ศ. ๒๔๘๘ ได้เวลาจวนเข้าพรรษา กราบลาหลวงปู่เทสก์เพื่อไปปฏิบัติธรรมที่ถ้ำพระ ซึ่งห่างจากวัดบ้านกลางใหญ่ จ.อุดรธานี ของ หลวงปู่อ่อนศรี สุเมโธ ไปประมาณ ๕-๖ กิโลเมตร

เกิดเป็นไข้มาลาเรียอยู่ในถ้ำองค์เดียว นอนหนาวๆ ร้อนๆ เพราะพิษไข้มาลาเรียอยู่ตลอดเวลา ไม่รู้จะมองหาใคร ก็เลยบอกกับตนเองว่า “เรากับถ้ำต้องเป็นผีคู่กัน” ปิดประตูถ้ำแล้วก็นอน ทั้งนอนทั้งลุกเป็นอย่างนี้ตลอด ทำไปทำมาพอเจ็บเข้ามากๆ ก็ไม่รู้ว่าไปถึงไหน ความรู้สึกดับวูบไป ไม่รู้สึกตัวอยู่อย่างนี้ตลอด ๕-๖ วัน

พอไข้ทุเลาลง จำไม่ได้ว่าไปอยู่ที่ไหน ทำอะไร มองขึ้นไปข้างบนเห็นเพดานถ้ำ ก็เลยถามตนเองว่า

“เรามาแต่ไหน มาทำไม มาทำอะไร”

คิดทวนหน้าทวนหลัง คิดได้ว่า

“เรามาภาวนาที่นี่ อยู่ที่นี่ เอ๊ะ...นี่เราเป็นไข้มานี่ เป็นมาหลายวัน จนรู้สึกตัวนี่”

พอจวนสว่างก็รู้สึกไข้หายหมด

พอไข้หายก็ลองเดินจงกรมดูที่หน้าถ้ำ เห็นว่าพอเดินได้ พอบิณฑบาตได้ ก็อุ้มบาตรลงไปบิณฑบาตเลย แล้วกลับขึ้นมาฉันเป็นมื้อแรก หลังจากป่วยด้วยพิษไข้มาลาเรียมา ๕-๖ วัน

หลังจากนั้นไม่นานก็เป็นวันอุโบสถ (วันพระ) จึงลงไปจากถ้ำไปเข้าอุโบสถกับหลวงปู่อ่อนศรี


(๗) อยากสวดปาฏิโมกข์ได้ (พรรษาที่ ๓ พ.ศ. ๒๔๘๘)

วันนั้นหลวงปู่อ่อนศรีเป็นหัวหน้านำลงอุโบสถ ท่านบ่นถึงเรื่องที่ท่านไม่สบายอยู่ และพระลูกวัดสวดปาฏิโมกข์ไม่ได้ (สวดวินัยสงฆ์ ๒๒๗ ข้อเป็นภาษาบาลี สวดองค์เดียวให้พระที่ลงอุโบสถฟัง ใช้เวลาประมาณ ๑ ชั่วโมง จึงจะครบทุกข้อที่พระพุทธองค์บัญญัติ) ท่านบอกว่า

“เรานี่เลี้ยงลูกศิษย์ลูกหามาทำไม เลี้ยงมาแล้วทำไมไม่ช่วยเราสวดบ้าง จะให้ไอ้เฒ่านี้สวดไปถึงไหน เราจะตายอยู่แล้ว คนอื่นทำไมไม่เรียนกันบ้าง ศึกษากันบ้าง”

คำพูดนี้มันเสียบเข้าไปในหัวใจหลวงพ่อ

“เมื่อไหร่หนอเราจะอ่านหนังสือออกบ้าง ถ้าเราอ่านหนังสือออก เราจะสวดปาฏิโมกข์ถวายท่าน แต่เราก็ยังอ่านไม่ออก”

พอลงอุโบสถเสร็จหลวงพ่อท่านขอหนังสือปาฏิโมกข์จากท่านเล่มหนึ่ง บอกท่านว่า

“จะเอาไปบูชา”

ท่านไม่อยากให้ ท่านว่า “จะเอาไปกินสิงกินแสงอะไร เขียนชื่อเจ้าของก็ไม่ได้ จะเอาไปทำอะไร”

หลวงพ่อยืนยันว่า “จะเอาไปบูชา”

ท่านก็เฉย ขออยู่ ๒-๓ ครั้ง ท่านโมโห หรือว่าอย่างไรก็ไม่รู้ ท่านให้เหมือนประชด ทิ้งหนังสือเพล๊ะ

“เอ้า ไปกินขี้ไต้ไปเสีย” ว่างั้น

ได้หนังสือแล้วกราบลาท่าน ๓ ครั้ง สะพายย่ามกับบาตรขึ้นเขาไป


(๘) เหตุอัศจรรย์ที่ถ้ำพระ (พรรษาที่ ๓ พ.ศ. ๒๔๘๘)

พอขึ้นมาถึงถ้ำพระ ไม่รู้จะทำอย่างไรเอาหนังสือปฏิโมกข์วางไว้บนหัวนอน แล้วตั้งจิตอธิษฐานว่า

“ถ้าหาก...ข้าพเจ้า จะได้สืบพระพุทธศาสนา ยังจะเป็นครูบาอาจารย์ ยังจะเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของหมู่คณะ และจะยังรักษาพระธรรมวินัย ขอให้ข้าพเจ้าอ่านหนังสือออกด้วยเถิด ข้าพเจ้าอยากได้ หากเป็นไปไม่ได้ ข้าพเจ้าไม่สามารถจะคุ้มครองพระธรรมวินัย ไม่สามารถรักษาหมู่คณะได้ ก็ขออย่าให้ข้าพเจ้าได้ หากจะเป็นไปก็ขอให้ข้าพเจ้าได้”

จบคำอธิษฐาน ทำสมาธิทำใจให้เป็นกลางอย่างเด็ดขาด ไม่อยากรู้อยากเห็นต่อสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น

พลัน...ก็ปรากฏภาพนิมิตในสมาธิ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประทับอยู่ด้านหน้าท่ามกลางแสงฉัพพรรณรังสีสาดสว่างทั่วถ้ำ ประทับอยู่ด้านหน้าตู้พระไตรปิฎก พระองค์ยื่นหนังสือสามเล่มมอบให้กับหลวงพ่อ คือ พระสูตร ๑ พระวินัย ๑ พระปรมัตถ์ ๑ แล้วพระองค์เสด็จกลับขึ้นไปบนฟ้า แสงฉัพพรรณรังสีกระจายเต็มท้องฟ้าลับหายจากสายตาไป

หลังจากนั้นอีก ๒-๓ วัน ขณะที่หลวงพ่อทำสมาธิภาวนาจนจิตสงบเป็นสมาธิแน่วแน่ จะเป็นเพราะแรงอธิษฐานหรืออะไรไม่ทราบ มาดลบันดาลให้หลวงพ่อเห็นเป็นตัวหนังสือคล้ายๆ กับที่เขียนไว้บนฝาผนังเป็นแถวๆ แถวนี้อ่านอย่างนี้ ตัวนี้อ่านอย่างนี้ อ่านไปอ่านไปก็หมดให้เห็น แต่จำได้ว่าตัวนี้อ่านอย่างนี้ ตัวนั้นอ่านอย่างนั้น ก็จำไว้

ทีหลังอยากจะได้ต่อไปอีก ก็ขออีก ได้ยินในหู เสียงให้อ่านอย่างนั้น อ่านตามเสร็จก็หมดไป หมดปัญญาที่จะอ่านอีก ก็อาศัยคำอธิษฐานว่า “ขอให้ข้าพเจ้ารู้” ก็ได้ยินเสียงอ่านอีก ว่ากันไปเรื่อยๆ นานเข้า ๓-๔ วัน ตัวเก่าที่เคยอ่านไว้ ก็จำไว้ได้ว่า ออกเสียงอย่างนี้เป็นตัวนี้ อันนี้เป็นตัว ก.ไก่ เหมือนกัน เพราะอ่านออกเสียง ก. เหมือนกัน ตัวที่อ่านไม่ได้ ก็มีเสียงมาบอก ตกลงอ่านไป สวดไป ราวสักเดือนหนึ่ง ก็จบปาฏิโมกข์


(๙) สอบทานการสวดปาฏิโมกข์ (พรรษาที่ ๓ พ.ศ. ๒๔๘๘)

เมื่อสวดปาฏิโมกข์ด้วยเหตุอัศจรรย์ที่ถ้ำพระ หลวงพ่อก็ถือหนังสือ สะพายบาตรลงมาหาหลวงปู่อ่อนศรี เพื่อให้ท่านช่วยสอบทานให้ว่าถูกต้องเป็นความจริงไหม พอจะสวดให้ท่านฟัง ท่านก็ว่าเอา

“พระผีบ้า มาสวดอุตริเอาอะไร หนังสือก็อ่านไม่ออกสักตัว จะมาอ่านปาฏิโมกข์ได้อย่างไร”

หลวงพ่อก็เฉย แต่ตั้งใจว่า ถ้าท่านไม่อ่านทานให้ก็จะไม่ขึ้นเขาขึ้นถ้ำ จะนอนเฝ้าอยู่ที่วัดล่างนี้จนกว่าท่านจะสอบทานให้

ค่ำลงก็ไปนวดท่าน เล่าให้ท่านฟังและขอให้หลวงปู่สอบทานให้พรุ่งนี้ ท่านก็นอนเสีย ท่านไม่พูด หันไปพูดเรื่องอื่น นวดไปนวดมาจนถึงเที่ยงคืน ท่านก็บอกให้เลิก เลิกมาแล้วหลวงพ่อก็ยังมานั่งคิดว่า ท่านจะสอบทานให้หรือเปล่าหนอ คิดทวนหน้าทวนหลังอยู่อย่างนั้น

พอรุ่งเช้าฉันข้าวแล้วไปกราบท่านอีก ให้ท่านสอบทานให้ ทนฟังหลวงพ่ออ้อนวอนไม่ได้ ท่านก็ว่า “เอามาได้จริงๆ หรือ”

หลวงพ่อถือหนังสือไปกราบลงถวายท่าน หลวงพ่อสวด ท่านก็อ่านสอบทานให้ ตัวไหนผิดท่านก็บอกให้ ตัวไหนลงไม่ถึงฐานอย่างตัว ถ. ถุง ตัว ฐ. ฐาน ตัว ณ เณร เป็นต้น เสียงออกจมูกไม่ค่อยถึงฐาน ท่านก็บอกว่าฐานไม่ถึง

หลังจากนั้น พอมีผู้รับรองว่าอ่านถูกต้อง ก็บอกกับตนเองว่า “ทีนี้ล่ะ เราจะอ่านเจ็ดตำนาน อ่านสัมพุทโธ โยจักขุมา ไปสวดกับเขาบ้าง เราอ่านหนังสือออกแล้วทีนี้”

ตกลงตั้งแต่นั้นมาอ่านหนังสือออกได้เรื่อยมา


ครูบาอาจารย์พระป่ากรรมฐาน สานุศิษย์พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ
(จากซ้ายไปขวา) หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ, หลวงปู่สิงห์ทอง ธมฺมวโร,
พระอาจารย์กว่า สุมโน, หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี, หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ, พระอาจารย์ชม (ไม่ทราบฉายา)
หลวงปู่กงมา จิรปุญฺโญ, หลวงปู่อ่อนศรี สุเมโธ, หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ



หลวงพ่อพุธ ฐานิโย-หลวงพ่อคำพอง ติสฺโส


(๑๐) เทศนาธรรม (พรรษาที่ ๓-๔ พ.ศ. ๒๔๘๘-๒๔๘๙)

นับตั้งแต่พรรษา ๓-๔ ขึ้นมา การบรรยายธรรมนี่แม้ในงานใหญ่ๆ ต่อหน้าครูบาอาจารย์ ก็มักจะถูกให้ทำงานในเรื่องนี้มาตลอด ได้รับนิมนต์ไปบรรยายธรรมต่อหน้าครูบาอาจารย์ให้กับประชาชนและญาติโยม จะดีหรือไม่ก็ไม่รู้สมัยนั้นเพราะไม่ได้คำนึงถึงเรื่องความเป็นอยู่


(๑๑) กลับไปหาพระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี (พรรษาที่ ๓-๔ พ.ศ. ๒๔๘๘–๒๔๘๙)

ออกพรรษาแล้ว กราบลาหลวงปู่อ่อนศรี ออกธุดงค์จากวัดบ้านกลาง จ.อุดรธานี มุ่งหน้าไปสู่วัดป่าอรัญวาสี อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย ไปกราบหลวงปู่เทสก์ และท่านได้ชวนให้หลวงพ่อจำพรรษาอยู่ด้วย ฟังเทศน์และปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่เทสก์ ในระหว่างนั้นหลวงปู่นิมิตเห็นภูเขาเล็กลูกหนึ่งที่ อ.ท่าแฉลบ จ.จันทบุรี

พอออกพรรษาหลวงปู่ก็ปรารภกับหลวงพ่อว่า “วัดนี้ (วัดอรัญวาสี) มีเสนาสนะมาแต่เดิม ล้วนเป็นของครูบาอาจารย์ที่ท่านทำไว้ให้เราอยู่ทั้งนั้น (หลวงปู่มั่นเคยมาจำพรรษาที่นี่) ตัวเรานี้น่าละอายใจแท้ มานอนกินของเก่าเฝ้าสมบัติเดิมของครูบาอาจารย์แท้ๆ”

ท่านบอกว่ากับหลวงพ่อว่า “หลวงปู่มั่นท่านอยู่ที่เสนาสนะป่าบ้านหนองผือ จ.สกลนคร ให้ไปอยู่ปฏิบัติธรรมกับท่านที่นั่น ตัวผมจะขอออกไปเที่ยววิเวกสักพัก”


(๑๒) กลับไปหาพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต (พรรษาที่ ๔-๗ พ.ศ. ๒๔๘๙-๒๔๙๒)

พ.ศ. ๒๔๘๙ หลวงพ่อได้กลับไปหาหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ที่เสนาสนะป่าบ้านหนองผือ ต.นาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ที่ปฏิบัติธรรมและปฏิบัติรับใช้หลวงปู่อยู่ ๔ พรรษา

ในระยะที่อยู่กับหลวงปู่มั่น หลวงพ่อได้มีโอกาสได้พบเห็นสิ่งต่างๆ ล้วนเป็นอุบายธรรมทั้งสิ้น

ได้เห็นหลวงพ่อครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ท่านมารวมๆ กันอายุพรรษามาก ๓๐ ปีก็มี ๔๐ ปีก็มี เห็นท่านประพฤติปฏิบัติหลวงปู่มั่น เช่น พอถึงเวลาเข้าวัด ก็ช่วยกับอาบน้ำถูเนื้อถูตัวหลวงปู่มั่น เสร็จแล้วจัดที่นั่งที่นอน เตรียมไว้ให้หลวงปู่

หลวงพ่อมาคิดดูว่า “เอ...พระอายุพรรษาตั้งสามสิบพรรษา สี่สิบพรรษา น่าจะไปอบรมสั่งสอนญาติโยม หรือน่าจะไปเผยแผ่ศาสนาให้กับประชาชน คนที่เขายังตกต่ำในความรู้ความฉลาด เขาจะได้รันแสงสว่างบ้าง”

เวลาดูเข้าไปนานๆ แล้ว โอโฮ้...มันไม่ใช่เรื่องอย่างนั้น มันเป็นเรื่องของส่วนภายใน ภายในด้านการปฏิบัติที่ยังเหลืออยู่ เกี่ยวกับสมาธิ เกี่ยวกับคลื่นภายในหัวใจ คือมันเกิดขึ้นแล้วคนไม่ช่ำชองแก้ไม่ได้ เป็นมลทินอยู่นั่นเอง

ถ้าผู้ปฏิบัติเกิดความรู้ความเห็น เกิดความสงสัยขึ้นมา ในเรื่องของความเห็น ความรู้ในด้านการปฏิบัตินั้น ไม่เหมือนกับเรารู้เราเห็นกันอยู่ในโลกนี้ อันนี้เป็นปัจจัตตังโดยเฉพาะผู้นั้นคือรู้เองเห็นเอง

รู้แล้วไปให้คนอื่นแก้ ถ้าไม่รู้ด้วยกันจะแก้ไม่ได้ คนอื่นเขาพูดไม่ถูกจุด

ทีนี้อย่างครูบาอาจารย์ท่านชำนาญ ท่านผ่านเรื่องนี้มามาก คือ เรื่องที่เรารู้เราเห็น ท่านผ่านมาก่อนแล้ว อย่างเราไม่เคยเจอก็เข้าใจว่าถึงแล้ว สิ้นสุดแล้ว ก็เลยเอาเพียงแค่นั้นไปปักใจลง เชื่อมั่นในอุบายเพียงแค่นั้น เข้าใจว่าหมดหนทางที่จะไปอีกไม่มีแล้ว

มันเกิดความสงสัย เมื่อไปถามครูบาอาจารย์ว่า ภาวนาไปมันปรากฏเรื่องอะไรขึ้นมาในจิตใจ เห็นอย่างนั้นอย่างนี้ขึ้นมา หลวงปู่ท่านก็ชี้แนะว่า “อย่างนั้นไม่ใช่ความพ้นทุกข์ ไม่ใช่ดับทุกข์ โดยสนิท ต้องเข้าไปอีก ต้องปฏิบัติอย่างนั้นต้องรู้อย่างนั้น แล้วต้องไปละสิ่งนั้นแล้วค่อยก้าวหน้าไปเรื่อยๆ”

ไปดูแล้ว...โอ ข้อวัตรปฏิบัติจำพวกภายนอก เช่นเคารพนบน้อมในข้อวัตรปฏิบัติ ไม่เผลอไม่พลาดมีสัจธรรมถึงเวลาแล้วต้องปฏิบัติ

ไม่ใช่เพียงแค่นี้ ยังลึกลงไปกว่านี้อีกไปดูเข้าแล้ว อ๋อ...อย่างนี้เอง ครูบาอาจารย์ที่มีอายุพรรษามากไปอยู่กับหลวงปู่มั่นกันเยอะ ท่านไม่ยอมถอนตัวไปง่ายๆ ก็เพราะยังมีเรื่องให้ศึกษาอีกมากทั้งภายในและภายนอก จึงค่อยเชื่อมั่นว่า อ้อ...อย่างนี้เอง ที่ครูบาอาจารย์ท่านยังไม่กล้าออกไปสร้างวัดสร้างวา ไปสั่งสอนญาติโยม ไปสั่งสอนหมู่พวกโดยเอกเทศ เพราะตนนั้นยังไม่พอ ที่จะให้ถึงที่สุดของการปฏิบัติ ท่านจึงมาศึกษาอบรมกันอยู่ทุกเวลา

หลวงพ่ออยู่ปฏิบัติรับใช้หลวงปู่มั่น มีโอกาสถวายการบีบนวดประจำ ได้สดับตรับฟังธรรม เห็นจริยาวัตรปฏิปทาครูบาอาจารย์เป็นแบบอย่างของการปฏิบัติฝึกฝนอบรมตน ข้อสงสัยในการปฏิบัติก็ได้รับการชี้แนะแก้ไขจนหายข้องใจ นับว่าเป็นวาสนาบารมีเป็นอย่างยิ่ง


หลวงปู่ฝั้น อาจาโร


(๑๓) เป็นเจ้าอาวาสวันไตรรัตน์ (พรรษาที่ ๖ พ.ศ. ๒๔๙๑)

หลวงพ่อได้รับนิมนต์ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดไตรรัตน์ บ้านท่าควายใต้ ต.ป่าสามารถ อ.เมือง จ.นครพนม แทน หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ที่ติดภารกิจอื่นไม่อาจรับนิมนต์ไปอยู่ได้ และหลวงพ่อก็ได้ทำหน้าที่เผยแผ่ “ธรรมปฏิบัติ” จนเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของประชาชนแถบนั้น

ในการนี้หลวงพ่อได้ไปรับสามเณรสุบิน (น้องชายหลวงพ่อ) ซึ่งหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ได้บวชให้ แล้วส่งไปศึกษาที่วัดอัมพวัน จ.หนองคาย ให้มาอยู่ด้วยที่วัดไตรรัตน์ พอออกพรรษา หลวงพ่อก็ได้ไปปฏิบัติหลวงปู่มั่นที่เสนาสนะป่าบ้านหนองผือตามปกติ


(๑๔) สูญเสียร่มโพธิ์ร่มไทร (พรรษาที่ ๗ พ.ศ. ๒๔๙๒)

อยู่มาวันหนึ่งหลวงพ่อคำพองคิดถึงโยมพ่อ จึงออกเดินทางไปเทศน์ให้โยมพ่อฟัง พอจวนจะเข้าพรรษาในปี พ.ศ. ๒๔๙๒ หลวงพ่อก็กลับมาจำพรรษากับหลวงปู่มั่นตามเดิม

ในระยะนี้เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น ทางหลวงปู่มั่นอาพาธหนัก ทางฝ่ายโยมพ่อก็ป่วยหนักเช่นกัน เป็นปัญหาสำหรับหลวงพ่อ ทำอะไรไม่ถูก แต่อาศัยได้ฟังธรรมเทศนาของหลวงปู่มั่นทำให้จิตใจท่านมั่นคงไม่หวั่นไหว ท่านจังตัดสินใจไปเยี่ยมโยมพ่อก่อน

พอไปถึงโยมพ่อก็เสียชีวิตแล้ว ท่านได้จัดการงานศพของโยมพ่อของท่านอย่างรวดเร็ว แล้วรีบเดินทางมาที่บ้านหนองผือ เพื่อปฏิบัติหลวงปู่มั่น ในขณะที่ท่านอาพาธ

ระหว่างทางก็ทราบข่าว หลวงปู่มั่นที่ท่านเคารพบูชาได้มรณภาพแล้ว เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๒ หลวงพ่อจึงได้เดินทางไปช่วยงานศพหลวงปู่มั่น ณ วัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร จนถึงวันประชุมเพลิง วันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๓


หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ


(๑๕) เผยแผ่ธรรมภาคใต้ ๒๕ ปี (พรรษาที่ ๘-๓๒ พ.ศ. ๒๔๙๓-๒๕๑๗)

พ.ศ. ๒๔๙๓ หลังจากเสร็จงานฌาปนกิจศพหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต แล้ว หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ได้รับหลวงพ่อไปเผยแผ่ธรรมปฏิบัติที่ภาคใต้ ในเขต จ.ภูเก็ต และ จ.พังงา โดยมี หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ และพระเณรอีก ๘ รูป ติดตามไปด้วย ระยะแรกไปพักรวมกันที่สโมสรฝรั่ง จ.ภูเก็ต ๕-๖ วัน และต่อมาหลวงปู่ให้แต่ละองค์แยกย้ายไปจำพรรษาตามสถานที่ต่างๆ

หลวงปู่เทสก์ ไปจำพรรษาที่สำนักสงฆ์หลังศาล จ.ภูเก็ต ต่อมาได้สร้างเป็นวัดชื่อว่า “วัดเจริญสมณกิจ” หลวงปู่จำพรรษาที่นี่ ๑๕ ปี จนกระทั่งเป็นเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัดที่พระนิโรธรังสีคัมภีร์ปัญญาจารย์ ปกครองพระกัมมัฏฐานพระธรรมยุต ๓ จังหวัดภาคใต้ คือ ภูเก็ต พังงา และกระบี่

หลวงปู่เหรียญแยกไปจำพรรษาที่สำนักสงฆ์ อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา ได้สร้างวัดชื่อว่า “วัดประชาสันติ” และจำพรรษาที่นี่ ๘ ปี ส่วนหลวงพ่อ ได้มาจำพรรษาอยู่ที่สำนักสงฆ์ ต.โคกกลอย อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา ต่อมาได้สร้างเป็นวัดชื่อว่า “วัดราษฎร์โยธี” หลวงพ่อจำพรรษาที่นี่ ๒๓ ปี และที่ภูเก็ต ๒ ปี

เนื่องจากก่อนหน้าที่คณะกัมมัฎฐานหลวงปู่เทสก์จะได้มาจำพรรษาที่ภาคใต้นี้ ได้มีผู้มาเผยแผ่ธรรมไว้ก่อนและประโคมข่าวกันตื่นเต้นเอิกเกริกจนแตกแยกเป็นพรรคเป็นพรรคที่โคกกลอย จ.พังงา และไม่มีใครสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ เพราะไม่มีหมู่พวกจึงไปนิมนต์หลวงพ่อมาช่วยแก้ไขสถานการณ์

การไปเผยแผ่ธรรมปฏิบัติครั้งนี้ จึงได้มีพระคณะหนึ่งของท้องถิ่นและผู้คนในท้องถิ่นรวมหัวกัน กีดกันไม่ให้พระคณะของหลวงพ่อเข้าไปอยู่ด้วยประการต่างๆ เช่น ห้ามคนในท้องถิ่นใส่บาตร พระกัมมัฏฐาน วางยาเยื่อบ้าง จุดไฟเผากุฎีบ้าง ทำหนังสือแจ้งกรมการศาสนาว่าพระกัมมัฏฐานคณะนี้เป็นพระจรจัดไม่ปฏิบัติตามพระวินัย

หลวงพ่ออยู่จำพรรษาที่โคกลอย จ.พังงา ๒๓ ปีนี้ อยู่ด้วยการเผยแผ่ “ธรรมปฏิบัติ” เนื่องจากครูบาอาจารย์ได้มาเผยแผ่ไว้แล้ว ครั้นจะถอยหนีเสีย ประชาชนก็ยังแตกแยกเป็นพรรคเป็นพวกอยู่ ความสามัคคียังไม่เกิดขึ้น ถ้าหนีไปเสีย บาปจะตกอยู่กับประชาชน คือเข้าใจผิด ทะเลาะเบาะแว้ง จะฆ่าจะแกงกันยังมีอยู่

หลวงพ่ออยู่แก้ความเห็นผิดจนกระทั่งพระท้องถิ่น มหานิกาย กับพระกัมมัฏฐาน (ธรรมยุต) ร่วมฉันภัตตาหารกันได้ จึงกลับอุดรธานี

สมัยก่อนนั้น ที่โคกลอยนี่ ถ้าคนที่เคยเข้าวัดบ้าน เคยสร้างกุฎี สร้างศาลา สร้างวัดกันมานมนานเพียงไรก็ตาม พอมาใส่บาตรพระกัมมัฏฐานเท่านั้นหละ ถ้าเขาตายลง ไปนิมนต์พระวัดบ้านมาสวด เขาจะไม่มาสวดเลย หลวงพ่ออยู่จนเรื่องเหล่านี้หมดไป สวดร่วมกันได้ จึงกลับอุดรธานี

โคกลอยที่หลวงพ่ออยู่นี่ แต่ก่อนเป็นไร่เป็นสวน เราเช่าเขาอยู่ เขาวางแผนให้เจ้าของที่ลงมา เพื่อซื้อที่เอาไว้ พอมีสิทธิในที่ดินแล้วเขาก็จะไล่พระที่อยู่นี่ออกหนีในกลางพรรษานั้นเลย

แต่เหมือนเทวดาบันดาล หรืออะไรก็ไม่รู้ พวกที่ไปดักซื้อที่จากเจ้าของที่ดินที่บ้าน คลาดกันไม่พบกัน เจ้าของที่ดินขึ้นรถเลยมาลงที่วัด ขณะที่หลวงพ่อฉันภัตตาหารเช้าเพิ่งเสร็จ ก็เปรยถามแกว่ามายังไง แกตอบว่าได้รับโทรเลขด่วนว่าแม่ป่วยหนักก็เลยลงมา หลวงพ่อบอกว่าแม่ไม่ป่วยหรอก เพิ่งมาทำบุญกลับไปยังมองเห็นหลังอยู่เลย ก็เลยขอให้แกนั่งพักเสียก่อน

ในระยะนั้นยางมีราคา ชาวบ้านที่มาทำบุญยังอยู่ราว ๓-๔ คน มีเงินติดกระเป๋าคนละพันสองพันบาท ก็เลยถามว่าจะขายที่ดินที่เช่าอยู่นี้ไหม แกบอกว่าขายจะขายหนึ่งหมื่นบาท พวกญาติโยมที่อยู่เลยช่วยกันควักกระเป๋าวางมัดจำไว้ก่อนส่วนที่เหลือทำสัญญาไว้ชำระภายหลัง

พอรับมัดจำแล้ว แกก็ไปบ้าน ไปหาแม่ พวกนั้นทราบข่าวก็นำหมู่ไปวางมัดจำขอซื้อที่ดินที่บ้านแก หวุดหวิดนิดเดียว เราวางมัดจำก่อนเค้าเพียงหนึ่งชั่วโมง ถ้าเขาวางมัดจำก่อนเรา เขาคงไล่เราออกกลางพรรษา ทำให้วัดราษฎร์โยธีที่หลวงพ่อและชาวบ้านสร้างไว้ยังอยู่จนบัดนี้ ที่ตำบลโคกกลอย จ.พังงา


หลวงปู่ทองพูล สิริกาโม-หลวงปู่อ่อนสา สุขกาโร-หลวงพ่อคำพอง ติสฺโส


(๑๖) ความสงบที่โคกลอย จ.พังงา

หลวงพ่อได้อยู่อบรมสั่งสอนญาติโยมที่โคกกลอย ให้รู้จักพระพุทธศาสนาที่แท้จริง ทั้งได้ฝึกฝนสมาธิภาวนาทุกคืน จนมีผลประจักษ์แก่ญาติโยมตามกำลังศรัทธาและกำลังปฏิบัติของแต่ละคน ความขัดแย้งก็ยังมีอยู่ตลอดมา แต่ก็ได้มีเหตุการณ์ช่วยผ่อนคลายให้เกิดความสงบขึ้นมาโดยตลอดดังนี้

พระครูอ่อง เจ้าคณะตำบลโคกกลอย เป็นหัวเรือใหญ่ในการต่อต้านมิให้พระกัมมัฏฐานมาอยู่โดยตลอด ได้มีเหตุให้อาเจียนเป็นโลหิตถึงแก่มรณภาพ โดยหาสาเหตุไม่พบ

พระครูสิ้ว ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสและเจ้าคณะตำบลองค์ต่อมา ก็สอบทอดเจตนารมณ์ของพระครูอ่อง ห้ามญาติโยมชาวบ้านมิให้ใส่บาตรพระกัมมัฏฐาน ก็มีอันเป็นไป อาเจียนออกมาเป็นโลหิตถึงแก่มรณภาพเช่นเดียวกัน

พระมหาชั้น คนบ้านเชียงใหม่ ต.โคกกลอย จ.พังงา ไปเรียนอยู่ที่วัดน้อยนพคุณ ธนบุรี ถูกนิมนต์มาแทนพระครูสิ้วเพื่อให้ดำเนินการสืบทอดเจตนารมณ์ของพระครูอ่องและพระครูสิ้วต่อไป ครั้งนี้ทำให้เกิดเรื่องราวใหญ่โต ถึงขนาดพระเล็กพระน้อยที่เดินบิณฑบาตตามหลังหลวงพ่อ ถูกลูกศิษย์พระมหาชั้นเตะตกถนนหลายครั้ง แต่หลวงพ่อให้เอาน้ำลูบหัวใจ เราอย่าไปก่อเรื่องกับเขา เตะเราก็ไม่ถึงตาย อดทนเอาเถิด พอเข้าปีที่ ๓ ท่านก็ประสบอุบัติเหตุตกลงจากรถคันที่นั่ง และรถคันที่นั่งก็ทับเอาถึงแก่มรณภาพไปอีกหนึ่งองค์

พระปลัดกูด จาก ต.กระไหล มาดำรงตำแหน่งแทนพระมหาชั้น และดำเนินการเช่นเดียวกับพระมหาชั้น ต่อมาก็อาเจียนเป็นโลหิตถึงแก่มรณภาพ โดยส่งโรงพยาบาลไม่ทัน

พระครูองค์ต่อมา จึงถือขันดอกไม้ไปขอขมาลาโทษต่อหลวงพ่อ เรื่องก็ระงับหยุดลง

เรื่องเหล่านี้คล้ายกับมีอะไรช่วยเหลือให้ภัยทั้งหลายหย่อนลง มิให้ลุกลามอีกต่อไป ชาวบ้านและหมู่พวกที่ต่อต้านพระกัมมัฏฐานก็รู้สึกสยดสยองต่อการมรณภาพของพระผู้นำในการต่อต้านทั้งสอง

สามองค์อาเจียนเป็นโลหิต ถึงแก่มรณภาพโดยส่งโรงพยาบาลไม่ทัน อีกองค์หนึ่งประสบอุบัติเหตุถูกรถทับถึงแก่มรณภาพ ห่างจากวัดท่านประมาณ ๖ กิโลเมตร แรงต่อต้านก็อ่อนลงและหมดไปในที่สุด

หลวงพ่ออยู่จำพรรษาเป็นเจ้าอาวาสวัดราษฎร์โยธี ต.โคกกลอย ต.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา ในตำแหน่งเจ้าคณะตำบล ฉายา พระครูสุวัณโณปมคุณ อยู่ถึง ๒๓ ปี รวมทั้งอยู่ที่ภูเก็ตอีก ๒ ปี รวมเป็น ๒๕ ปี

หลังจากอบรมสั่งสอนพระภิกษุสามเณรและชาวบ้านได้รู้เห็นและเข้าใจคุณค่าของพระพุทธศาสนา สร้างความเข้าใจและความสามัคคีให้เกิดขึ้น จนกระทั่งพระบ้านและพระกัมมัฏฐานฉันภัตตาหารและสวดร่วมกันได้ หลวงพ่อจึงกลับอีสาน จ.อุดรธานี

การอำลาจากภาคใต้นี้เป็นการอำลาด้วยมิตรไมตรีมีความเข้าใจดีต่อกัน เหลือไว้เพียงคุณงามความดีที่จะให้ถามถึงกันต่อไป หลวงพ่อสอนไว้ว่า

“คนเราไม่ว่า จะไปอยู่ที่ไหนก็ตามหากดำรงคุณธรรมความดีให้มั่นคงไว้ เป็นผู้มีศีลธรรมอันดีงาม ย่อมเป็นที่รักนับถือของทุกคน”

“กฎมันไม่สามารถที่จัดหัวใจคนได้ นอกจากธรรมะหรือสติสัมปชัญญะ ความรอบรู้ ที่จะทำให้เกิดความเรียบร้อยได้”

“กฎหรือระเบียบต่างๆ หากยุติธรรมไม่มีติดที่ใจแล้วตราบใดจะมีรัฐธรรมนูญกฎหมายสักกี่ข้อ ก็ไม่สามารถจะสร้างความเรียบร้อย และสร้างความเป็นธรรมให้แกโลกนี้”

“ไม่ว่าทางวัดหรือทางบ้านก็ตาม ถ้าขาดคุณธรรมความพร้อมในการประพฤติปฏิบัติการงาน ก็บกพร่องได้”

“คนในโลกของเรา ไม่ว่าพระไม่ว่าฆราวาส ถ้าศีลของเราเศร้าหมองหรือจิตใจของเราเจือปนไปด้วยกิเลสอาสวะมากๆ แล้วเทพเจ้าเขาจะไม่คุ้มครองเรา เขาจะไม่อนุโมทนาในด้านการปฏิบัติและความเห็นความรู้ต่างๆ เขาจะไม่สนใจเพราะว่าพวกนี้ละเอียด”


(๑๗) เหตุที่กลับอีสาน

ถาม หลวงพ่อถึงกลับอีสานไม่อยู่พังงาตลอดไปละครับ

หลวงพ่อ มีเหตุหลายเรื่องหลายประการ

ประการแรก ลูกหลานเหลนทางพังงานนี่เป็นคนมีเพื่อนมาก ประกอบการค้าเป็นส่วนใหญ่ จะให้เข้าบวชเป็นสมภารเจ้าอาวาสไม่ค่อยจะมี บวชได้เพียงแค่ ๓ เดือน ก็จะแย่อยู่แล้ว ผู้ที่สืบวงศ์สกุลไม่มี อยู่ไปก็อาศัยแต่ตัวเอง นำพระอีสานไปอยู่เพียงปีสองปีเขาก็กลับ

ประการสอง หลวงปู่เทสก์ท่านก็กลับ (หลวงปู่จำพรรษาที่วัดเจริญสมณกิจ จ.ภูเก็ต ๑๕ ปี ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ ฝ่ายธรรมยุต ในเขต จ.ภูเก็ต จ.พังงา จ.กระบี่ มีสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ฝ่ายวิปัสสนา ในราชทินนามที่ พระนิโรธรังสีคีมภีรปัญญาจารย์ ซึ่งพระกัมมัฏฐานพระธรรมยุตใน ๓ จังหวัดนี้มีกติกาข้อวัตรปฏิบัติเป็นแบบเดียวกันทั้งหมด) เมื่อหลวงปู่กลับ ผู้ที่ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัดแทนหลวงปู่เป็นพระทางใต้ ซึ่งข้อวัตรปฏิบัติมักไม่ลงกัน เนื่องจากทางใต้ ผู้ถือธุดงค์และปฏิบัติเคร่งครัดมีน้อย เราจะไปโต้แย้งเขา เขาเป็นผู้ใหญ่กว่า ก็จะเสียจรรยา เสียความเป็นอยู่ ขืนอยู่ไปนานๆ เข้าก็จะแยกเป็นสองพรรคสองพวก ทางใต้กับทางอีสาน เพราะการปฏิบัติไม่เข้ากัน

ประการที่สาม เรื่องของพัดยศสัญญาบัตร เดิมทีหลวงพ่อได้รับสัญญาบัตรเป็นพระครูชั้นตรีครั้งแรก หลวงพ่อไม่รู้เรื่องนี้ สมเด็จพระวันรัต วัดโสมนัสวรวิหาร ไปรับและส่งมาให้ อยู่ต่อมาตำแหน่งเจ้าอาวาส เจ้าคณะตำบล ก็เหมือนกันท่านส่งมาให้โดยไม่ได้เขียนทำประวัติขอไปแต่อย่างใด มาคิดๆ ดูว่าถ้าอยู่ไปๆ หากว่าเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัดองค์อื่นๆ ไม่มี ถ้ามาถูกเราเข้าเรื่องมันจะมากขึ้น ผูกพันเข้า การประพฤติปฏิบัติก็ยังขัดข้องหมองอารมณ์ไม่เป็นไปตามความประสงค์ เป็นเจ้าคณะไปหละหลวมต่อหน้าที่ก็เสียมารยาทเสียจรรยา เสียจริยาของพระอธิการเข้า เสียหายถ้าเราไปมีตำแหน่ง บอกลบคูณหารว่าพอควร ๒๕ ปีแล้ว จึงกลับอุดรธานี


(๑๘) กลับอีสาน (พรรษาที่ ๓๓ พ.ศ. ๒๕๑๘)

หลวงพ่อได้สละตำแหน่งเจ้าคณะตำบล และเจ้าอาวาสวัดราษฎร์โยธี ต.โคกกลอย อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา เดินทางกลับ จ.อุดรธานี โดยคิดว่าจะไปให้ถึง จ.เลย ไปพักอยู่ที่วัดบ้านวังหมื่น อ.หนองบัวลำภู จ.อุดรธานี

พอญาติโยมบ้านโนนหวาย รู้ข่าวก็พากันไปหาและอาราธนาหลวงพ่อมาอยู่ที่วัดป่าพัฒนาธรรม ต.โนนหวาย อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี เนื่องจากได้ซื้อที่สร้างวัดสร้างกุฎีไว้แล้วแต่ไม่มีพระองค์ไหนอยู่ได้

หลวงพ่อได้ตามไปดูวัด พบว่ามีความขัดแย้งไม่ลงรอยกัน เห็นว่า พระนั่นเขาไม่ดีก็คงอยู่ไม่ได้จริงๆ ไม่เคยอดทนไม่เคยต่อสู้ไม่รู้เหตุรู้ผล อยู่ไปอยู่ไปเดี๋ยวจะไปทะเลาะกับเขาก็เหมือนเอาน้ำมันก๊าดไปเทใส่ไฟ ยิ่งจะลุกไหม้กันไปใหญ่โต

อย่างหลวงพ่อนี่โดนมา รู้มา พอแรงแล้ว ใครจะด่าจะว่าเรื่องอะไร ก็รู้เรื่องกันหมด ก็นึกสงสารว่า ถ้าไม่มีพระอยู่ เขาลงทุนซื้อที่ดินไปแล้ว สร้างกุฎีมาแล้ว มันจะพังไปเสียเฉยๆ ถ้าไม่มีใครอยู่ มันจะเสียน้ำใจเขา เสียความตั้งใจก็เลยอยู่จนบัดนี้ สิบกว่าปีเข้านี่แล้ว


(๑๙) จำพรรษาที่วัดป่าพัฒนาธรรม (พรรษาที่ ๓๓ พ.ศ. ๒๕๑๘)

หลวงพ่อดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบล และเจ้าอาวาสวัดป่าพัฒนาธรรม ต.โนนหวาย อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี ในฉายา พระครูสุวัณโรปมคุณ ซึ่งหลวงพ่อก็ปฏิบัติหน้าที่ไปด้วยความเมตตาธรรมเป็นที่ตั้ง

ตั้งแต่หลวงพ่อมาจำพรรษาที่วัดป่าพัฒนาธรรม ได้พัฒนาทั้งทางด้านจิตใจและด้านวัตถุควบคู่กันไปโดยตลอด การพัฒนาด้านจิตใจได้อบรมสั่งสอนพระเณร และญาติโยมให้เป็นผู้มีคุณธรรมรู้จักคุณค่าพุทธศาสนา ปฏิบัติภาวนาให้เกิดความสงบ ลดอาสวะกิเลสที่หมักหมมให้เบาบางลง

นอกจากนี้ยังได้บวชลูกหลานญาติโยมให้เป็นพระภิกษุสามเณร สร้างทายาทสืบต่อพระพุทธศาสนาทุกปีมิได้ขาด

ในด้านการศึกษา ได้สละเวลาไปอบรมศีลธรรมคุณธรรมให้กับครูและนักเรียนโรงเรียนต่างๆ ในเขต อ.หนองวัวซอ พร้อมทั้งสนับสนุนให้ทุนทรัพย์ ทุนอุปกรณ์และเครื่องแบบนักเรียนที่ยากจน

การเทศนาอบรมสั่งสอนประชาชน หลวงพ่อได้กระทำต่อเนื่องมิได้ขาด เพื่อประโยชน์ในการเผยแผ่สืบทอดพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนา หลวงพ่อได้ไปทุกแห่งหนไม่ว่าจะเป็นท้องถิ่นใด

การพัฒนาทางด้านวัตถุของหลวงพ่อได้สร้างศาลา กุฎี ห้องน้ำ ห้องส้วม ถังเก็บน้ำไว้ดื่มไว้ใช้ตลอดปี และพัฒนาวัดป่าพัฒนาธรรมให้เกิดความสงบร่มรื่น ต้อนรับผู้ไปกราบนมัสการหลวงพ่อทั้งใกล้และไกลทั่วประเทศ ให้ได้รับความสงบความสุขทั้งกายและใจ

มีผู้ปรารถนาจะให้หลวงพ่อสร้างโบสถ์ที่วัดป่าพัฒนาธรรมนี้ หลวงพ่อบอกว่า สร้างเศรษฐกิจให้ชาวบ้าน ชาวหนองวัวซอให้อยู่ดีกินดีเสียก่อน เมื่อชาวบ้านอิ่มปากอิ่มท้องแล้ว จะสร้างอะไรก็ได้ภายหลัง สร้างโบสถ์ยังไม่จำเป็น ขณะนี้ศาลาที่ใช้อยู่ก็เป็นศาลาอเนกประสงค์ ใช้ได้ทั้งการลงอุโบสถ ทำบุญทำกุศล สำหรับชาวบ้าน ประชุมทำกิจกรรมในการพัฒนาตำบล และเป็นที่พักของคณะที่ไปกราบฟังธรรมจากหลวงพ่อได้เป็นอย่างดี


(๒๐) สร้างอ่างเก็บน้ำแห่งแรก (พรรษาที่ ๓๘-๔๐ พ.ศ. ๒๕๒๓-๒๕๒๕)

นอกจากนี้หลวงพ่อได้ริเริ่มสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่อยู่ระหว่างเขาสองลูก คือเขาผาแดงกับภูเขาภังคี ห่างจากวัดป่าพัฒนาธรรม ๔ กิโลเมตร ในเขต อ.หนองวัวซอ เก็บน้ำได้เป็นล้านลูกบาศก์เมตร สำหรับการบริโภคและการเกษตรในเขต อ.หนองวัวซอ โดยความสนับสนุนจากสภาตำบล และติดต่อของบประมาณจากกรมชลประทานมาสนับสนุนเป็นเงิน ๑.๖ ล้านบาท สร้างเขื่อนคันดินช่วงระหว่างที่ลุ่มภูพังคีกักเป็นน้ำดังกล่าว จนแล้วเสร็จ

สำหรับโครงการส่งน้ำจากเขื่อนกักเก็บน้ำมาใช้ประโยชน์ก็จะต้องวางท่อส่งน้ำลงมาสู่พื้นล่างจะสำเร็จลุล่วงเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับกำลังสนับสนุนหรืองบประมาณที่จะได้รับต่อไป


(๒๑) สร้างวัดถ้ำกกดู่ (พรรษาที่ ๔๐-๔๘ พ.ศ. ๒๕๒๕-๒๕๓๓)

หลวงพ่อได้สร้างวัดไว้บนภูพังคี ใกล้อ่างเก็บน้ำเพื่อสงวนที่ดินไว้สำหรับอนุรักษ์ป่าและต้นน้ำ ก่อนที่จะถูกรุกล้ำทำลายป่า จับจองทำไร่จนโล่งเตียนในที่สุด

ในการนี้หลวงพ่อได้สร้างวัดและกุฏีและศาลาชั่วคราว พร้อมทั้งส่งพระขึ้นไปจำพรรษาประมาณ ๔-๕ รูป และได้ดำเนินการสร้างศาลาถาวร เพื่อประกอบกิจของพระพุทธศาสนาต่อไป


ใบสุทธิพระครูสุวัณโณปมคุณ (หลวงพ่อคำพอง ติสฺโส)


พระอาจารย์สมาน กุสุโม เจ้าอาวาสวัดถ้ำกกดู่ รูปปัจจุบัน


(๒๒) สร้างทางติดต่อระหว่างอำเภอ

ในด้านการพัฒนาท้องถิ่น-ถนนหนทาง หลวงพ่อได้นำพระเณรและชาวบ้านไปสร้างทางขึ้นภูผาแดงและภูพังคี สร้างทางข้ามเขาติดต่อระหว่าง อ.หนองวัวซอ กับ อ.โนนสัง จ.อุดรธานี ทำให้ประชาชนทั้งสองอำเภอติดต่อกันได้สะดวก ในช่วงนั้นเจ้าหน้าที่ของรัฐยังไม่สามารถเข้าไปก่อสร้างได้ เนื่องจากเป็นเขตพื้นที่ของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ หลวงพ่อได้นำพาพระเณรและชาวบ้าน โดยมีเครื่องมือพื้นบ้านติดตัวไปช่วยกันทำ ทั้งจอบ เสียม ชะแลง และเหล็กสกัด เป็นต้น เจาะหินให้เป็นรูแล้วใส่ดินระเบิดเพื่อเปิดภูเขาให้เป็นทางก่อน หลังจากนั้นจึงช่วยกันถากถางด้วยแรงคน จนสามารถเปิดทางได้ ต่อมาเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลเข้าไปทำถนนต่อจนแล้วเสร็จ ซึ่งเดิม พระครูสังวรศีลวัตร (หลวงปู่อุ่น ชาคโร) ได้ทำไปแล้วบางส่วน


(๒๓) จำพรรษาที่วัดถ้ำกกดู่ (พรรษาที่ ๔๘ พ.ศ. ๒๕๓๓)

เนื่องจากใจปัจจุบันความเจริญได้เข้ามาใกล้วัดป่าพัฒนาธรรม วัดจึงเริ่มไม่เป็นวัดป่า ดังนั้นในระหว่าง พ.ศ. ๒๕๓๓ หลวงพ่อได้ขึ้นไปจำพรรษาที่วัดบนภูพังคี ใกล้อ่างเก็บน้ำที่หลวงพ่อได้ไปริเริ่มสร้างไว้ อันเป็นสถานที่สัปปายะ เหมาะต่อการปฏิบัติธรรมของพระภิกษุสามเณร

ที่สำคัญมีอีกอย่างคือหลวงพ่อปรารภอยากจะรักษาสภาพป่าของเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญของชาติ มิให้ถูกทำลายไป นอกจากนี้ได้มีการปลูกต้นไม้เพิ่มเติม และหาพันธุ์สัตว์น้ำมาปล่อยให้อ่างเก็บน้ำเป็นจำนวนมาก

นับตั้งแต่นั้นมาหลวงพ่อขึ้นไปจำพรรษาที่วัดบนภูพังคี มีพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา และญาติโยม ผู้แสวงธรรมทั่วประเทศขึ้นไปกราบนมัสการเพื่อฟังธรรมและปฏิบัติธรรมจากหลวงพ่ออยู่ตลอดเวลา ทำให้กุฎีสงฆ์และศาลาที่มีอยู่ไม่เพียงพอ จึงได้ขยายศาลาและสร้างกุฎีสงฆ์ให้พอกับจำนวนพระภิกษุ สามเณร และญาติโยม

หลวงพ่อใช้เวลาประมาณ ๓ ปี คือระหว่าง พ.ศ. ๒๕๓๓-๒๕๓๖ ได้พัฒนาสิ่งปลูกสร้าง เช่น ศาลา กุฎีสงฆ์ ของพระภิกษุ สามเณร ตลอดถึงที่พักอาศัยของแม่ชี และได้รับอนุญาตจากรมการศาสนาให้ตั้งเป็นวัดเรียบร้อยแล้วชื่อว่า “วัดถ้ำกกดู่” ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ ๑๕ ไร่ ปัจจุบันหลวงพ่อได้มอบหมายให้ พระอาจารย์สมาน กุสุโม เป็นเจ้าอาวาส และหลวงพ่ออยู่เป็นประธานสงฆ์อบรมธรรมปฏิบัติให้พระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา และญาติโยมที่ขึ้นไปกราบนมัสการที่วัดอย่างต่อเนื่องตลอดมา


หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี


หลวงปู่ฝั้น อาจาโร


หลวงปู่ขาว อนาลโย


หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ


(๒๔) จัดตั้งป่าพุทธอุทยาน (พรรษาที่ ๔๙ พ.ศ. ๒๕๓๔)

นอกจากที่หลวงพ่อได้ขออนุญาตกรมป่าไม้ ขอพื้นที่ประมาณ ๑,๕๐๐ ไร่ เพื่อจัดตั้งป่ารอบบริเวณวัดให้เป็น “พุทธอุทยาน” ปัจจุบันทางกรมป่าได้อนุญาตพื้นที่ให้แล้วประมา ๙๓๕ ไร่ ส่วนที่เหลืออีก ๖๐๐ ไร่ กำลังอยู่ในระหว่างพิจารณาจุดประสงค์ก็เพื่อรักษาสภาพป่าและได้ใช้เป็นสถานที่บำเพ็ญเพียรภาวนาของพระภิกษุ สามเณร อันเป็นการดำเนินรอยตามพระพุทธองค์ พระอรหันตสาวก และครูบาอาจารย์

ที่ผ่านมา หลวงพ่อได้ปฏิบัติหน้าที่สาวกของพระบรมศาสดาและตามแบบอย่างบูรพาจารย์ใหญ่ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต และบูรพาจารย์ที่เป็นศิษย์สำคัญของพระอาจารย์มั่นซึ่งล่วงลับไปแล้ว อาทิเช่น หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี หลวงปู่ฝั้น อาจาโร หลวงปู่ขาว อนาลโย และหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ เป็นต้น ได้ออกเผยแผ่ธรรมปฏิบัติทั้งใกล้และไกลโดยมิได้ย่อท้อ ตลอดจนเสริมสร้างคุณประโยชน์ต่างๆ ให้เกิดขึ้นในสังคมทั้งด้านจิตใจและวัตถุ


(๒๕) รับสัญญาบัตรเป็นพระครูชั้นเอก (พรรษาที่ ๕๐ พ.ศ. ๒๕๓๕)

สำหรับการอบรมพระภิกษุ สามเณร อุบาสก และอุบาสิกาในวัด นอกจากหลวงพ่อทำหน้าที่อบรมในวัดถ้ำกกดู่ และวัดป่าพัฒนาธรรม ที่หลวงพ่อเป็นเจ้าอาวาสปกครองอยู่แล้วนั้น ท่านยังดูแลอนุเคราะห์วัดอื่นๆ ที่อยู่ในความปกครองในฐานะเจ้าคณะตำบลโนนหวายและหนองอ้นอีกด้วย

ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ได้รับพระราชทานแต่งตั้งเป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี ขณะเป็นเจ้าอาวาสวัดราษฎร์โยธี และเจ้าคณะตำบลโคกกลอย อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา

ปี พ.ศ. ๒๕๒๐ ได้รับพระราชทานแต่งตั้งเป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท ขณะเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าพัฒนาธรรม และเจ้าคณะตำบลโนนหวาย ในราชทินนามที่ พระครูสุวัณโณปมคุณ

ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้รับพระราชทานแต่งตั้งเป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก ขณะเป็นเจ้าอาวาสวัดถ้ำกกดู่ ในราชทินนามเดิม


หลวงปู่สิม พุทธาจาโร


(๒๖) อาพาธด้วยโรคหัวใจ (พรรษาที่ ๕๐ พ.ศ. ๒๕๓๕)

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นต้นมา หลวงพ่อมีอาการเหนื่อยหอบ หายใจไม่เต็มปอดเมื่อต้องเดินบิณฑบาตไกลๆ หรือต้องเดินขึ้นเขาที่สูงชัน จนกระทั่งอาการเป็นมากเมื่อตอนเดินทางไปงานบำเพ็ญกุศลศพ หลวงปู่สิม พุทธาจาโร วัดถ้ำผาปล่อง ต.บ้านถ้ำ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๖

หลวงพ่อได้กลับไปพักที่โรงพยาบาลหนองวัวซอ จ.อุดรธานี แล้วเดินทางไปตรวจหัวใจที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และโรงพยาบาลสมิติเวช กรุงเทพฯ ผลปรากฏว่าเป็นอาการเกี่ยวกับกล้ามเนื้อหัวใจ และได้ผ่าตัดที่โรงพยาบาลสมิติเวช ฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจไว้ที่หน้าอก เพื่อช่วยในการทำงานของหัวใจให้เป็นปกติ โดยมีศิษยานุศิษย์ร่วมถวายเป็นเจ้าภาพในการรักษาหลวงพ่อ ภายใต้การดูแลรักษาเป็นอย่างดีของคณะแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล จนกระทั่งหลวงพ่อหายเป็นปกติ หลังจากนั้นหลวงพ่อยังคงเข้าตรวจหัวใจ ที่โรงพยาบาลสมิติเวช ๓-๔ เดือนต่อครั้ง มาโดยตลอด

แม้ว่าการทำงานของหัวใจจะถูกช่วยด้วยเครื่องกระตุ้นหัวใจก็ตาม หลวงพ่อก็ยังคงออกเผยแผ่ธรรมปฏิบัติ และบำเพ็ญประโยชน์ต่อประชาชนทั้งไกลใกล้ตามปกติ โดยมิได้ห่วงกำลังต่อสังขารแต่อย่างใด


(๒๗) การบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม (พรรษาที่ ๕๑-๕๕ พ.ศ. ๒๕๓๖-๒๕๔๐)

๒๗.๑ สนับสนุนด้านการศึกษาและอาชีพ

ทางด้านการศึกษาและอาชีพของประชาชนในเขต อ.หนองวัวซอ หลวงพ่อได้สนับสนุนให้มีการจัดตั้งศูนย์ทรัพยากรมนุษย์ ขึ้นที่โรงเรียนโนนหวายวิทยาคม และโรงเรียนราษฎร์ศรัทธา ให้การศึกษาและฝึกอาชีพกับประชาชนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ทางสายสามัญให้มีวุฒิถึง ม.๓ ทางสายอาชีพ ฝึกฝนให้สามารถออกไปประกอบอาชีพได้ ไม่จำเป็นต้องออกไปขายแรงงานยังต่างประเทศหรือเดินทางเข้ากรุงเทพฯ สามารถเข้าทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมใน จ.อุดรธานี และจังหวัดใกล้เคียง ทำให้ลดปัญหาทางสังคมลงเพราะครอบครัวให้อยู่ใกล้ชิดกัน โครงการนี้กำลังจะได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานการศึกษาและองค์กรเอกชน

๒๗.๒ สนับสนุนด้านการรักษาพยาบาล และสถานีตำรวจ

นอกจากนี้หลวงพ่อจะสนับสนุนและริเริ่มสร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งด้านแหล่งน้ำใช้อุปโภคบริโภค การศึกษาอาชีพแล้ว ทางโรงพยาบาลหนองวัวซอ หลวงพ่อก็ให้ความอุปถัมภ์ตามกำลังเท่าที่จะทำได้ หลวงพ่อปรารถนาจะจัดตั้งทุนนิธิสงเคราะห์ประชาชนผู้ยากไร้ ที่เข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลหนองวัวซอ ตามโอกาสอันควร นอกจากนี้ก็ยังสนับสนุนซ่อมแซมอาคาร และมอบรถยนต์ให้กับสถานีตำรวจหนองวัวซอไว้ใช้งาน

๒๗.๓ โครงการประปาหมู่บ้าน

ในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ หลวงพ่อได้ดำเนินโครงการประปาหมู่บ้านตามที่ตั้งเจตนาไว้เดิม โดยสร้างถังสูงที่ริมเขื่อนอ่างเก็บน้ำวัดถ้ำกกดู่แล้ววางท่อประปาเป็นท่อพีวีซี เส้นผ่าศูนย์กลางขนาด ๔-๕ นิ้ว ยาวประมาณ ๕ กิโลเมตร จากถังเก็บน้ำส่งไปยังหมู่บ้านข้างล่าง ได้แก่ หมู่บ้านศรีสว่าง พังคี โนนนาคำ โนนหวาย และหนองอ้อ หลังจากนั้นได้มอบให้คณะกรรมการหมู่บ้านสภาตำบลเป็นผู้ดูแลรักษา และติดตั้งมิเตอร์ประจำบ้านเก็บค่าใช้น้ำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการให้บริการลุล่วงตามเจตนารมณ์ของหลวงพ่อ โดยมีคณะศิษยานุศิษย์ร่วมบริจาคทำบุญ บริจาค ถังส่งน้ำ ท่อประปา เครื่องสูบน้ำ เป็นเงินบริจาครวมประมาณ ๑.๗ ล้านบาท

๒๗.๔ ซ่อมอ่างเก็บน้ำ

ช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ๒๕๓๙ หลวงพ่อได้ดำเนินการซ่อมอ่างเก็บน้ำวัดถ้ำกกดู่ที่มีน้ำรั่วซึมใต้ฐานเขื่อน และได้ติดต่อประสานงานกับกรมชลประทาน จัดงบประมาณมาช่วยดำเนินการซ่อมแซม เป็นเงินประมาณ ๒ ล้านบาท จนแล้วเสร็จสามารถเก็บกักน้ำ ส่งให้หมู่บ้านข้างล่างใช้อุปโภคบริโภคได้ตามปกติก่อนถึงวันเข้าพรรษาประจำปี ๒๕๓๙

๒๗.๕ เพิ่มกำลังไฟฟ้า

เนื่องจากมีแม่ชี อุบาสก อุบาสิกา จากจังหวัดต่างๆ มาปฏิบัติธรรมที่วัดมากขึ้น กระแสไฟฟ้าขัดข้องอยู่เสมอ ไม่เพียงพอต่อการใช้งาน หลวงพ่อจึงได้ทำการติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้าให้มีขนาดใหญ่ขึ้น สามารถรองรับการใช้งานที่เพิ่มขึ้นให้เพียงพอ นับแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ เป็นต้นมา



หลวงปู่หลอด ปโมทิโต (พระครูปราโมทย์ธรรมธาดา)


(๒๘) อาพาธด้วยเส้นเลือดในสมองอุดตัน (พรรษาที่ ๕๖ พ.ศ. ๒๕๔๑)

แม้ว่าหลวงพ่อจะฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจไว้ที่หน้าอก เพื่อช่วยกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ หลวงพ่อก็ยังคงปฏิบัติภารกิจ อบรมธรรมปฏิบัติ เผยแผ่ธรรมพัฒนาจิตใจ และวัตถุให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่องตลอดมาและเข้ารับการตรวจการทำงานของเครื่องกระตุ้นหัวใจ ตามที่แพทย์นัดทุก ๓ เดือน ที่โรงพยาบาลสมิติเวช กรุงเทพฯ

ในช่วงต้นเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๔๑ หลวงพ่อเดินทางไปแสดงธรรมที่ จ.เชียงใหม่ และกลับมาแสดงธรรมต่อที่วัดสังฆทาน จ.นนทบุรี แล้วเข้าพักที่วัดสิริกมลาวาส (วัดใหม่เสนานิคม) ซอยเสนานิคม กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นวัดที่ หลวงปู่หลอด ปโมทิโต (พระครูปราโมทย์ธรรมธาดา) ศิษย์พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต องค์หนึ่งเป็นเจ้าอาวาสปกครองอยู่ ซึ่งท่านได้เมตตาและคุ้นเคยกับหลวงพ่อเป็นอย่างดี

เช้ามืดวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๔๑ เวลา ๐.๓๐๐ น. หลวงพ่อได้ตื่นขึ้นมาสวดมนต์ทำวัตรและนั่งสมาธิภาวนา พิจารณาตามปกติ จนถึงเวลา ๖.๐๐ น. หลวงพ่อลุกขึ้นออกบิณฑบาตตามวัตรปฏิบัติ ปรากฏว่าหลวงพ่อไม่สามารถขยับตัวลุกขึ้นยืนได้ พระอาจารย์หนู จารุโภ พระอุปัฏฐาก และลูกศิษย์บางคนได้รีบนำหลวงพ่อไปส่งโรงพยาบาลสมิติเวช แพทย์ผู้ถวายการรักษาหลวงพ่อประจำ ได้รับเดินทางมาตรวจรักษาหลวงพ่อเป็นการด่วน

ผลการตรวจปรากฏว่า เส้นโลหิตในสมองด้ายซ้ายอุดตัน ทำให้แขนและขาด้านขวาของหลวงพ่อไม่มีแรง ขยับไม่ได้ ต้องนอนพักรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลสมิติเวช เป็นเวลา ประมาณ ๒๐ วัน จนอาการเริ่มดีขึ้น พอที่จะประคองให้นั่งได้แต่ยังเดินไม่ได้ หมออนุญาตให้กลับได้ แล้วมาพักที่วัดใหม่เสนานิคม และเข้ารับการตรวจรักษาทำกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาลสมิติเวช ทุกๆ ๗ วัน ในช่วงที่หลวงพ่อพักฟื้นที่วัดใหม่เสนานิคมประมาณ ๒ เดือนเศษ ศิษยานุศิษย์ได้กราบเรียนขออนุญาตหลวงปู่หลอด ปโมทิโต ปรับปรุงห้องพักชั้นบนของโรงเรียนพระปริยัติธรรมเครือคล้าย ให้เป็นห้องพักฟื้น เพื่อความสะดวกต่อการถวายอุปัฏฐากของพระติดตามมาผลัดเปลี่ยนดูแลหลวงพ่อ ซึ่งหลวงปู่ก็เมตตาอนุญาตด้วยความยินดี

จนใกล้เข้าพรรษา หลวงพ่อจึงเดินทางกลับไปจำพรรษาที่วัดถ้ำกกดู่ ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๑ โดยไปทำกายภาพบำบัดต่อที่วัด และเข้ารับการตรวจอาการอาพาธของโรคหัวใจ และอาการอัมพาตของแขนและขาด้านขวา ที่โรงพยาบาลสมิติเวช ทุก ๓ เดือนเช่นเดิม จนกระทั่งสามารถประคองตัวลุกขึ้นนั่ง และเอนตัวนอนได้ด้วยตัวเอง ส่วนมือซ้ายยังพอใช้จับของเบาๆ และตักอาหารฉันได้ แต่ยังคงเดินไม่ได้ ต้องใช้รถเก้าอี้รถเข็นในการเดินทางแทน


(๒๙) สร้างถังกรองน้ำประปาหมู่บ้าน (พรรษาที่ ๕๗ พ.ศ. ๒๕๔๒)

ตามที่หลวงพ่อได้สร้างประปาหมู่บ้าน ส่งน้ำมาอ่างเก็บน้ำไปยัง ๕ หมู่บ้านข้างล่าง ใช้งานตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๗ เป็นต้นมาในปี พ.ศ. ๒๕๔๒ หลวงพ่อได้ปรับปรุงคุณภาพน้ำที่สูบขึ้นมาจากอ่างเก็บน้ำ โดยสร้างถังกรองน้ำให้สะอาด ก่อนส่งลงไปให้ประชาชนประมาณ ๒,๐๐๐ ครัวเรือน ใช้อุปโภคต่อไป


(๓๐) รับถวายที่ดินที่ลาดกระบัง (พรรษาที่ ๕๗ พ.ศ. ๒๕๔๒)

เนื่องด้วยหลวงพ่อต้องเดินมารับการตรวจที่โรงพยาบาลสมิติเวช กรุงเทพฯ ทุกๆ ๓ เดือน โดยต้องเดินทางไปกลับกรุงเทพฯ-อุดรธานี เป็นประจำ ในการนี้ได้มีลูกศิษย์ของหลวงพ่อซึ่งอยู่ที่เขตลาดกระบัง และขึ้นไปปฏิบัติธรรมที่วัดถ้ำกกดู่ มีศรัทธาถวายที่ดินจำนวน ๒ ไร่ ๑ งาน พร้อมบ้านเรือนไทยโบราณหลังใหญ่ ตั้งอยู่ที่ แขวงคลองสามประเวศ เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ ซึ่งใช้เป็นที่พักสงฆ์อันจะเป็นประโยชน์ต่อการเผยแผ่พระศาสนา และปฏิบัติธรรมของชาวบ้านย่านลาดกระบังและบริเวณใกล้เคียงต่อไป


(๓๑) การเผยแผ่ธรรมหลังอาพาธ (พรรษาที่ ๕๖-๕๗ พ.ศ. ๒๕๔๑-๒๕๔๒)

แม้หลวงพ่อจะอาพาธด้วยโรคหัวใจ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ และอาพาธด้วยโรคเส้นเลือดในสมองด้านซ้ายอุดตัน ทำให้แขนขาด้านขวา เป็นอัมพาตเดินไม่ได้มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๑ ต้องเดินทางด้วยเก้าอี้เข็นแทน หลวงพ่อก็ยังคงทำหน้าที่อบรมธรรมปฏิบัติพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา และประชาชนคณะต่างๆ ที่เดินทางไปกราบนมัสการบนวัดถ้ำกกดู่ เหมือนเช่นปกติ เสมือนหนึ่งมิได้อาพาธแต่ประการใด

นอกจากนี้ยังเดินทางไปเผยแผ่แสดงพระธรรมเทศนาตามกิจนิมนต์ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดเหมือนเดิม คำปรารภของหลวงพ่อที่กล่าวเตือนสติ พระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา และญาติโยมที่วัดเสมอคือ

“สังขารทั้งหลายย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ไม่สามารถคงทนอยู่ได้ ถ้าหลวงพ่อไม่อยู่ก็ขอให้ยึดเอาพระธรรมคำสั่งสอนเป็นแนวทางในการปฏิบัติ อย่าทำตนให้เหมือนสุนัขที่อยู่กับหลวงพ่อ เราอย่าทำตนตามมัน ให้ยึดเอาพระธรรมคำสั่งสอนเป็นแนวปฏิบัติ”


(๓๒) ผ่าตัดเปลี่ยนเส้นเลือดอุดตัน (พรรษาที่ ๕๘ พ.ศ. ๒๕๔๓)

ต้นปี พ.ศ. ๒๕๔๓ หลวงพ่อมีอาการปวด ชาที่ขาและปลายเท้า หัวใจเต้นผิดปกติ หายใจไม่เต็มปอด มีเสมหะในลำคอมาก คณะศิษยานุศิษย์ของหลวงพ่อได้นิมนต์หลวงพ่อเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ถนนเศรษฐศิริ กรุงเทพฯ คณะแพทย์ได้ทำการรักษาโดยผ่าตัดเส้นเลือด ส่วนที่อุดตันด้านขวาออก ๒-๓ จุด แล้วเปลี่ยนใส่เส้นเลือดเทียมแทน ทำให้โลหิตไหลเวียนได้สะดวก อาการปวด ชาที่ขาและปลายเท้าขวาก็หายไป สำหรับหัวใจ ปอด และหลอดลมที่ผิดปกติ แพทย์นัดตรวจรักษาเดือนละครั้ง ซึ่งโดยปกติหลวงพ่อจะเดินทางไปแสดงธรรมตามกิจนิมนต์ ทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดเดือนละ ๑-๒ ครั้งอยู่แล้ว


(๓๓) ผ่าตัดเปลี่ยนเครื่องกระตุ้นหัวใจ (พรรษาที่ ๕๘ พ.ศ. ๒๕๔๓)

กลางปี พ.ศ. ๒๕๔๓ หลวงพ่อได้เข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนเครื่องกระตุ้นหัวใจ เพราะอันเดิมที่ใช้มานานประมาณ ๘ ปีแล้ว จึงเสื่อมสภาพตามอายุการใช้งาน การผ่าตัดเปลี่ยนเครื่องกระตุ้นหัวใจใหม่ของคณะแพทย์โรงพยาบาลวิชัยยุทธเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สามารถปรับระดับการเต้นของหัวใจให้เป็นปกติได้ดีดังเดิม แพทย์นัดตรวจปอดที่เป็นถุงลมโป่งพอง และหลอดลมอักเสบมีเสมหะในลำคอมากเดือนละครั้งเช่นเดิม


(๓๔) พิจารณาสังขาร (พรรษาที่ ๕๘ พ.ศ. ๒๕๔๓)

หลังจากหลวงพ่อได้เข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนเครื่องกระตุ้นหัวใจใหม่ที่หน้าอกได้ประมาณ ๑ เดือน หลวงพ่อก็มีกิจนิมนต์มาที่กรุงเทพฯ ท่านจึงเดินทางมาพักที่วัดใหม่เสนานิคม คณะศิษยานุศิษย์ได้เข้ากราบนมัสการเมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๓

ศิษย์ - หลวงพ่อครับ หลังผ่าตัดเป็นอย่างไรบ้างครับ

หลวงพ่อ - ได้พิจารณาหัวใจและโรคที่เป็นอยู่ หัวใจอยู่ได้ด้วยเครื่องกระตุ้นแม้จะเปลี่ยนใหม่แล้วก็ดี แต่หัวใจและปอดก็ใช้มานาน ของใช้มานานมันก็เสื่อมไปตามธรรมชาติของมัน สังขารก็เช่นกันเมื่อถึงเวลามันก็เสื่อมลงเป็นธรรมดา

ศิษย์ - นิมนต์หลวงพ่ออยู่เกินร้อยปีนะครับ

หลวงพ่อ - พระพุทธเจ้ายังอยู่ได้เพียง ๘๐ ปี ทำไมถึงไม่มีเทวดา พรหม มานิมนต์ไว้หละ

ศิษย์ - พระอานนท์มิได้นิมนต์พระพุทธเจ้าไว้ แม้พระองค์จะปรารภปลงสังขารถึง ๓ ครั้ง พระองค์จึงเข้าปรินิพาน

หลวงพ่อ - ถึงเวลาจะเป็น ก็ยังมีเหตุบันดาลให้เป็นไปนั่นแหละ เราจะเกินกว่าพระพุทธเจ้าไปได้อย่างไร


หลวงพ่อคำพอง ติสฺโส ขณะออกรับบิณฑบาตจากศรัทธาญาติโยม

หลวงปู่อ่อนสา สุขกาโร


หลวงปู่จันทร์แรม เขมสิริ


หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท


(๓๕) พรรษาสุดท้าย (พรรษาที่ ๕๙ พ.ศ. ๒๕๔๔)

ในปี พ.ศ. ๒๕๔๔ นี้ หลวงพ่อได้บำเพ็ญประโยชน์ต่างๆ ให้เกิดกับพระศาสนาและประชาชนทั่วไป ทั้งด้านการบำเพ็ญกุศลต่างๆ การสร้างอ่างเก็บน้ำแห่งที่สอง การปรับปรุงและราดยางถนนขึ้นวัด ตลอดจนการแสดงธรรมเผยแผ่คำสอนของพระพุทธองค์อย่างกว้างขวางและบริบูรณ์ ดังนี้

๓๕.๑ ทอดผ้าป่าถวายเป็นทุนรักษาหลวงปู่อาพาธ

ในช่วง ๒ ปีที่หลวงพ่อได้เข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ กรุงเทพฯ หลวงพ่อพิจารณาเห็นถึงความเอาใจใส่ในการถวายการตรวจรักษาต่อหลวงปู่-หลวงพ่อครูบาอาจารย์ อาทิ หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ, หลวงปู่อ่อนสา สุขกาโร, หลวงปู่หลอด ปโมทิโต, หลวงปู่จันทร์แรม เขมสิริ, หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท, หลวงปู่จันทร์โสม กิตฺติกาโร, หลวงปู่ท่อน ญาณธโร และครูบาอาจารย์อีกหลายองค์ ด้วยความเคารพและความตั้งใจเป็นอย่างดี ของคณะแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล หลวงพ่อจึงได้นำศิษยานุศิษย์ร่วมทอดผ้าป่าถวายเป็นค่ารักษาพยาบาลหลวงปู่-หลวงพ่อครูบาอาจารย์ที่อาพาธ โดยมีหลวงพ่อเป็นประธาน และหลวงปู่ท่อน ญาณธโร เป็นรองประธาน ถวายผ้าป่าสองครั้งในปี พ.ศ. ๒๕๔๓-๒๕๔๔ รวมปัจจัยเป็นมูลค่าประมาณหนึ่งล้านบาทเศษ เพื่อเป็นกุศลต่อศิษยานุศิษย์และผู้ร่วมทำบุญทั้งหลายโดยทั่วกัน

๓๕.๒ ราดยางถนนขึ้นวัด

เนื่องจากถนนขึ้นวัดถ้ำกกดู่จากบ้านโนนหวายยาว ๔ กิโลเมตร เป็นถนนลูกรัง หลวงพ่อสร้างได้ตั้งแต่เริ่มสร้างวัดถ้ำกกดู่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เรียกกันว่า ถนน “หลวงพ่อ” คือ ถนนหลวงพ่อนั่นเอง ซึ่งใช้งานมานเกือบยี่สิบปีแล้ว เป็นเส้นทางสัญจรสำหรับประชาชนและพระภิกษุสามเณรใช้บิณฑบาตขึ้นลงทุกวัน พอช่วงฤดูฝนทางวัด ต้องซ่อมแซมบำรุงให้อยู่ในสภาพใช้งานได้อยู่ตลอดเวลา

ดังนั้นในกลางปี พ.ศ. ๒๕๔๔ หลวงพ่อได้ปรับปรุงและราดยางถนนตลอดสาย เป็นเงินประมาณ ๒ ล้านบาท ทำให้การสัญจรไปมาสะดวกมากขึ้น

๓๕.๓ สร้างอ่างเก็บน้ำแห่งที่สอง

เดิมหลวงพ่อได้สร้างอ่างเก็บน้ำแห่งแรกทางทิศตะวันออก เป็นเขื่อนดินกั้นน้ำระหว่างที่ลุ่มเชิงภูพังคี กักเก็บนำส่งไปให้ประชาชนได้ใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ดังกล่าวแล้ว สำหรับอ่างเก็บน้ำแห่งที่สองนี้ หลวงพ่อได้สร้างไว้ทางด้านทิศใต้ของวัด เพื่อการรองรับน้ำที่ไหลซึมจากใต้ภูพังคีผ่านพลาญหินของวัดด้านท้ายเขื่อนแรก มากักเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำแห่งที่สองซึ่งมีพื้นที่ประมาณ ๖๐ ไร่ เพื่อทำระบบน้ำไปให้ประชาชนด้านล่างได้ใช้งานเกษตรกรรมต่อไป ในการนี้ได้รับความร่วมมือจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดส่งรถขุดดินมาทำเขื่อนคันดิน กั้นรอบอ่างทางด้านทิศใต้จนแล้วเสร็จสามารถกักเก็บน้ำได้ ตั้งแต่กลางปี พ.ศ. ๒๕๔๔ เป็นต้นมา

๓๕.๔ ปล่อยปลาและให้อาหารสัตว์

ก่อนเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ครั้งสุดท้ายในเดือนตุลาคม หลวงพ่อได้ให้เจ้าอาวาสและพระอุปัฎฐากนำหลวงพ่อไปที่อ่างเก็บน้ำแห่งที่สอง แล้วปล่อยพันธุ์ปลาและให้อาหารสัตว์เป็นการบำเพ็ญกุศลสงเคราะห์ชีวิตสัตว์

๓๕.๕ การแสดงธรรมหลังอาพาธ

แม้ว่าหลวงพ่อจะอาพาธด้วยโรคต่างๆ หลายโรค ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ก็มิได้เป็นอุปสรรคต่อการแสดงธรรมของหลวงพ่อแม้แต่น้อย หลวงพ่อได้นำ “ธรรมปฏิบัติ” ที่ได้รับจากการฝึกฝนอบรมจากพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต มาปฏิบัติพากเพียรอย่างต่อเนื่องจนแจ้งประจักษ์ในธรรมของพระพุทธองค์ และนำมาเผยแผ่อบรมให้ได้ใช้เป็นแนวปฏิบัติ เพื่อให้เกิดมรรคผลตามกำลังความเพียรของแต่ละคน

๓๕.๖ แสดงธรรมครั้งสุดท้าย

หลวงพ่อมีกำหนดเข้าตรวจรักษาประจำเดือนที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ในวันที่ ๒ พฤศจิกายน ซึ่งโดยปกติหลวงพ่อจะเดินทางหลวงหน้าก่อน ๑-๒ วัน ก่อนถึงวันที่แพทย์นัด แต่ครั้งนี้หลวงพ่อได้เดินทางล่วงหน้าก่อนกำหนด ๔ วัน คือ เดินทางจากวัดถ้ำกกดู่เมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ มาพักที่วัดใหม่เสนานิคม กรุงเทพฯ

กลางคืนวันอังคารที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ เวลาเที่ยงคืน หลวงพ่อคอแห้งกระหายน้ำ พระอุปัฏฐากได้ถวายน้ำและยาแก้อาการปวดท้อง แล้วจำวัดตามปกติ

เช้าวันพุธที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ ตรงกับวันลอยกระทง หลวงพ่อมีอาการหวัด มีเสมหะมาก หายใจไม่เต็มปอด แต่ยังคงลงไปรับบิณฑบาตที่ศาลาเช่นเดิม มีญาติโยมมาทำบุญกันมาก เวลา ๐๘.๐๐ น. มรรคนายกนิมนต์หลวงพ่อเทศน์โปรดญาติโยม หลวงพ่อได้กล่าวแสดงธรรมสั้นๆ สรุปว่า

“วันนี้เป็นวันพระ ตรงกับวันลอยกระทง การลอยกระทง คือ การลอยกิเลส ลอยตัณหา ลอยราคะ ลอยโกรธ ลอยโลภ ลอยหลง ออกจากตัวเรา ลอยเกิด ลอยแก่ ลอยเจ็บ ลอยตาย ออกจากตัวเราไป จะได้ไม่ต้องมาเวียนเกิด เวียนแก่ เวียนเจ็บ เวียนตายอีก หมดกิเลส หมดทุกข์อย่างแท้จริง นี้แหละลอยกระทง”

๓๕.๗ อาพาธครั้งสุดท้าย (พ.ศ. ๒๕๔๔)

หลังจากหลวงพ่อได้ให้ธรรมโอวาทโปรดญาติโยมที่ศาลาวัดใหม่เสนานิคม เนื่องในวันลอยกระทง เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ และให้พรเรียบร้อยแล้ว ก็ฉันอาหาร แต่หลวงพ่อฉันได้น้อยมาก ดื่มแต่น้ำแทน เสร็จแล้วขึ้นไปพักบนห้องพักที่อาคารโรงเรียนปริยัติธรรมเครือคล้าย ซึ่งเป็นที่พักประจำของหลวงพ่อ

เวลา ๑๐.๓๐ น. หลวงพ่อมีอาการเหนื่อยหอบ หนาวสั่น มีเสมหะในลำคอมาก หายใจไม่ทัน พระอุปัฏฐากประกอบด้วย พระอาจารย์หนู พระอาจารย์เขียว พระอาจารย์อำนวย ช่วยกันใช้เครื่องช่วยหายใจ และยาพ่นขยายหลอดลมตามที่เคยถวายปฏิบัติรักษาตามปกติ แต่ครั้งนี้ไม่เป็นผล อาการหลวงพ่อไม่ดีขึ้น หนาวสั่น และหายใจหอบมากขึ้น จึงได้นำหลวงพ่อขึ้นรถรีบนำส่งโรงพยาบาลวิชัยยุทธเป็นการด่วน

เวลา ๑๑.๐๐ น. คณะแพทย์พยาบาลได้รับตัวหลวงพ่อเข้าห้องฉุกเฉิน (ห้องไอ ซี ยู) เพื่อรักษาอย่างเฉียบพลัน หลวงพ่อหมดสติและหัวใจหยุดเต้น แพทย์ได้กระตุ้นหัวใจพร้อมใช้เครื่องมือช่วยหายใจ แล้วนำเข้าห้องไอ ซี ยู ใช้เครื่องมือต่างๆ ในการรักษาอย่างครบครัน คณะแพทย์พยาบาลได้ถวายการรักษาและรายงานผลให้คณะสงฆ์ซึ่งมีหลวงปู่เหรียญ วรลาโภ เป็นประธาน ได้รับทราบโดยตลอด

ในช่วงที่หลวงพ่อนอนอาพาธอยู่ในห้องไอ ซี ยู นี้ หลวงปู่ครูบาอาจารย์ ศิษยานุศิษย์ ญาติโยม และประชาชนทั่วไป ได้ทยอยมาเยี่ยมและกราบนมัสการหลวงพ่ออย่างไม่ขาดสาย อาทิเช่น หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ, หลวงปู่อ่อนสา สุขกาโร, หลวงปู่หลอด ปโมทิโต, หลวงปู่จันทร์โสม กิตฺติกาโร, หลวงปู่หลวง กตปุญโญ, หลวงปู่ท่อน ญาณธโร, หลวงปู่พวง สุวีโร, หลวงพ่อคำบ่อ ฐิตปัญโญ, หลวงพ่อทูล ขิปปปัญโญ, หลวงพ่อเปลี่ยน ปัญญาปทีโป และครูบาอาจารย์องค์อื่นๆ อีกหลายรูป


หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ


หลวงปู่จันทร์โสม กิตฺติกาโร


หลวงปู่หลวง กตปุญโญ


หลวงปู่ท่อน ญาณธโร


(๓๖) ละสังขาร (พรรษาที่ ๕๙ พ.ศ. ๒๕๔๔)

นับตั้งแต่หลวงพ่อนอนอาพาธสงบนิ่งอยู่ในห้องไอ ซี ยู ตั้งแต่วันพุธที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ ตรงกับวันพระ ขึ้น ๑๕ ค่ำ อันเป็นวันลอยกระทง จนกระทั่งถึงวันอาทิตย์ที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ ซึ่งตรงกับวันงานบูรพาจารย์ที่วัดป่าสาลวัน ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา (วันที่พระอาจารย์กัมมัฏฐานสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เป็นจำนวนมาก จะมาบำเพ็ญกุศลพร้อมกันทุกปี และมีการแสดงพระธรรมเทศนาอบรมธรรมปฏิบัติตลอดคืน) หลวงพ่อก็ละสังขารจากพวกเราไปในเวลา ๒๑.๓๕ น. ท่ามกลางการดูแลของคณะแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ คณะสงฆ์ และศิษยานุศิษย์ทั้งหลายที่มาประชุมพร้อมกัน ณ ที่นั้น รวมเวลาที่อยู่ในห้องไอ ซี ยู ตั้งแต่วันที่อาพาธจนถึงวันละสังขารเป็นเวลา ๓๓ วัน สิริรวมอายุได้ ๗๙ ปี ๕ เดือน ๒๘ วัน พรรษา ๕๙

หลวงพ่อได้มรณภาพไปแล้ว สรีระสังขารย่อมแตกสลายไปในที่สุด หากแต่คุณธรรมและความเมตตาของท่านยังคงดำรงอยู่ในใจศิษยานุศิษย์และสาธุชนทั่วไป หาได้เลือนหายเสื่อมคลายไปตามกาลเวลาแต่อย่างใด

๓๖.๑ สรงน้ำหลวงพ่อ

รุ่งเช้าวันจันทร์ที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ ที่ห้องชั้นล่างของโรงพยาบาลวิชัยยุทธ มีการสรงน้ำศพหลวงพ่อตั้งแต่เวลาเที่ยงวันเป็นต้นไป หลวงปู่ครูบาอาจารย์ ศิษยานุศิษย์ ญาติโยม และประชาชนทั่วไป โดยมีหลวงปู่เหรียญ วรลาโภ เป็นประธานในการสรงน้ำศพหลวงพ่อ ต่อจากนั้นครูบาอาจารย์ พระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา และประชาชนทั่วไป ที่ได้ทราบข่าวก็ทยอยกันเข้าสรงน้ำหลวงพ่ออย่างไม่ขาดระยะตั้งแต่เวลาเที่ยงวันจนถึงค่ำของวันนั้น ด้วยความอาลัยและเคารพในคุณธรรมของหลวงพ่อเป็นอย่างยิ่งเกินกว่าที่จะพรรณนา

๓๖.๒ กลับวัดถ้ำกกดู่

คืนวันจันทร์ที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ เวลาประมาณ ๒๐.๐๐ น. ขบวนรถของโรงพยาบาลวิชัยยุทธได้นำสรีระสังขารของหลวงพ่อ ออกเดินทางจากโรงพยาบาลวิชัยยุทธ ถึงวัดถ้ำกกดู่ ต.โนนหวาย อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี เมื่อเวลา ๐๓.๐๐ น. ของวันอังคารที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๔

คณะสงฆ์วัดถ้ำกกดู่ได้จัดเตรียมสถานที่รับสรีระสังขารหลวงพ่อไว้เรียบร้อย และจัดให้มีพิธีสรงน้ำอีกครั้งหนึ่ง โดยคณะสงฆ์ อุบาสก อุบาสิกา ญาติโยม และประชาชน ทยอยเข้าสรงน้ำหลวงพ่อตั้งแต่เช้าจนถึงเวลาหกโมงเย็น แล้วตั้งศพหลวงพ่อบำเพ็ญกุศลทุกวันจนถึงวันประชุมเพลิงศพ เมื่อวันเสาร์ที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๕

๓๖.๓ คำสั่งหลวงพ่อก่อนละสังขาร

“ถ้าเราตาย ขอให้เผาเราแบบกัมมัฏฐาน ทำแบบง่ายๆ ไม่ต้องขอพระราชทานเพลิงศพ ครูบาอาจารย์ที่มางานจะได้ลุกเดินเหินนั่งได้ตามสะดวก” หลวงพ่อบอกว่า “เราตายเผาไม่ยากหรอก ฟืนที่วัดก็มีพอ พระเณร แม่ชี แม่ขาว อุบาสก อุบาสิกาในวัด ช่วยกันเผาคนละท่อนก็ไหม้หมดแล้ว”

เอวัง อนิจจะตัง ชัมมิ ญัตวา ทุระภิสัม
ภะวังตังปัตตัง วายะเม ธีโร ยัง นิจจัง อะมะตัง ปะตันติ ฯ”

ธีรชนทราบข้อที่สังขารเป็นของไม่เที่ยงเป็นของเสื่อมทราม
ก้าวล่วงได้โดยยากอย่างนี้แล้ว
ก็ควรพากเพียรเพื่อบรรลุอมตบท เป็นหนทางอันยั่งยืนแล ฯ”



หลวงปู่พวง สุวีโร


หลวงพ่อคำบ่อ ฐิตปัญโญ


หลวงพ่อทูล ขิปปปัญโญ


หลวงพ่อเปลี่ยน ปัญญาปทีโป


คะแนน

จำนวนผู้เข้าร่วม 1พลังน้ำใจ +19 Zenny +91 ย่อ เหตุผล
Rolls-Royce + 19 + 91 สาธุ

ดูบันทึกคะแนน

ชีวิตมีขึ้นลง      อีกหน่อยปลงดับสังขาร ความสุขในวันวาน    อีกไม่นานก็จางไป วันก่อนเคยสนุก      วันนี้ทุกข์กลับพลักไส เพื่อนฝูงเคยอำไพ    บัดนี้ไร้แม้คนมอง

นายกสโมสร

กระทู้
6242
พลังน้ำใจ
110091
Zenny
311486
ออนไลน์
12702 ชั่วโมง
โพสต์ 2015-3-13 12:21:12 | ดูโพสต์ทั้งหมด

นิสิตสัมพันธ์

กระทู้
0
พลังน้ำใจ
28141
Zenny
20421
ออนไลน์
9664 ชั่วโมง
โพสต์ 2015-5-29 19:46:44 | ดูโพสต์ทั้งหมด
สาธุ  สาธุ  สาธุ   ขอบคุณครับ

แสดงความคิดเห็น

ขอบคุณที่ติดตามครับ  โพสต์ 2015-5-29 20:26
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เข้าสู่ระบบ | สมัครเข้าเรียน

รายละเอียดเครดิต

A Touch of Friendship: สังคมจะน่าอยู่ เมื่อมีผู้ให้แบ่งปัน ฝากไวเป็นข้อคิดด้วยนะคะชาวจีโฟกายทุกท่าน
!!!!!โปรดหยุด!!!!! : พฤติกรรมการโพสมั่วๆ / โพสแต่อีโมโดยไม่มีข้อความประกอบการโพส / โพสลากอักษรยาว เช่น ครับบบบบบบบบ, ชอบบบบบบบบ, thxxxxxxxx, และอื่นๆที่ดูแล้วน่ารำคาญสายตา เพราะถ้าท่านไม่หยุดทีมงานจะหยุดท่านเอง
ขอความร่วมมือสมาชิกทุกท่านโปรดโพสตอบอย่างอื่นนอกเหนือจากคำว่า ขอบคุณ, thanks, thank you, หรืออื่นๆที่สื่อความหมายว่าขอบคุณเพียงอย่างเดียวด้วยนะคะ เพื่อสื่อถึงความจริงใจในการโพสตอบกระทู้ และไม่ดูเป็นโพสขยะ
กระทู้ไหนที่ไม่ใช่กระทู้ในลักษณะที่ต้องโพสตอบโดยใช้คำว่าขอบคุณ เช่นกระทู้โพล, กระทู้ถามความเห็น, หรืออื่นๆที่ทีมงานอ่านแล้วเข้าข่ายว่า โพสขอบคุณไร้สาระ ทีมงานขอดำเนินการตัดคะแนน และ/หรือให้ใบเตือนสมาชิกที่โพสขอบคุณทันทีที่เจอนะคะ

รูปแบบข้อความล้วน|โทรศัพท์มือถือ|ติดต่อลงโฆษณา|จีโฟกายดอทคอม

ข้อความที่ท่านได้อ่านในเว็บจีโฟกายดอทคอมนี้ เกิดจากการเขียนโดยสาธารณชน และตีพิมพ์แบบอัตโนมัติ หากท่านพบเห็นข้อความใดๆ ที่ขัดต่อกฎหมาย และศิลธรรม ไม่เหมาะสมที่จะเผยแพร่ ท่านสามารถแจ้งลบข้อความได้ที่ Link “แจ้งลบโพสนี้” ที่มีอยู่ใต้ข้อความทุกข้อความ หรือ ลืมพาสเวิดล๊อกอิน/ลืมชื่อที่ใช้สมัคร หรือข้อสงสัยใดๆแจ้งมาที่ G4GuysTeam[at]yahoo.com ขอขอบพระคุณที่ให้ความร่วมมือ

กรณีที่ข้อความ/รูปภาพในกระทู้นี้จัดสร้างโดยผู้ลงข้อมูลเอง ลิขสิทธิ์จะเป็นของผู้ลงข้อมูลโดยตรง หากจะทำการคัดลอก/เผยแพร่ ต้องได้รับอนุญาตจากผู้ลงข้อมูลก่อนนะคะ หรือลงที่มาไว้ด้วยค่ะ

©ขอสงวนสิทธิ์คอนเซ็ปต์,คำอธิบาย,หัวข้อ/หมวดหมู่เว็บ ห้ามลอกเลียนแบบ คิดเอาเองนะคะอย่าเอาแต่ลอก

GMT+7, 2025-1-22 19:55 , Processed in 0.147766 second(s), 32 queries .

Powered by Discuz! X3.5, Rev.8

© 2001-2024 Discuz! Team.

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้