พระมูลคันธกุฏี หรือ “พระมูลคันธกุฏีวิหาร” ภายในอาณาบริเวณสารนาถในปัจจุบัน
พระมูลคันธกุฏี
หรือ
“พระมูลคันธกุฏีวิหาร”
ณ สารนาถ อนุสรณ์สถานแห่งการประกาศพระสัทธรรม
พระมูลคันธกุฏี หรือ “พระมูลคันธกุฏีวิหาร”
เป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงประทับจำพรรษาแรกและพรรษาที่ ๑๒
สร้างขึ้นตรงบริเวณที่เป็นกระท่อมน้อยของเศรษฐีใจบุญ
ที่ได้อุทิศสถานที่แห่งนี้เพื่อสร้างเป็นที่ประทับให้พระพุทธองค์
หลังจากที่ได้ทรงแสดงปฐมเทศนา “ธัมมจักกัปปวัตนสูตร” ที่ธัมมเมกขสถูปแล้ว
ลักษณะของพระมูลคันธกุฏีเป็นอาคารปลูกสร้างแบบอินเดียโบราณ
ปัจจุบันสิ่งก่อสร้างต่างๆ ปรักหักพังหมดแล้ว
เหลือให้เห็นเป็นเค้าโครงของอิฐก่อขนาดใหญ่ที่มีลานหญ้าด้านหน้ากว้างขวาง
ใกล้กับพระมูลคันธกุฏี มี
เสาอโศก หรือ
เสาหินพระเจ้าอโศกมหาราช
(อังกฤษ : Pillars of Ashoka, ฮินดี : अशोक स्तंभ, อโศก สฺตํภ)
สูง ๕๐ ฟุต แม้จะหักออกเป็น ๔ ท่อนก็ยังถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี
ณ ที่นี่เอง ที่ค้นพบ
เสาหัวสิงห์ ๔ ทิศ ซึ่งเป็นหัวสิงห์ ๔ ตัวหันหลังชนกัน
โดยหันหน้าไปทางทิศทั้ง ๔ แบกวงล้อธรรมจักรไว้ อันหมายถึง
การประกาศพระธรรมไปทั่ว ๔ ทิศ ประดุจการบันลือสีหนาทของสีหราช
ซึ่งเดิมประดิษฐานอยู่บนยอดเสาศิลาจารึก เสาหินพระเจ้าอโศกมหาราช
แต่หักลงมา ถือเป็นโบราณวัตถุที่สำคัญที่สุดของอินเดีย
ขณะนี้เก็บรักษาไว้ ณ
พิพิธภัณฑ์สารนาถ เมืองพาราณสี
ปัจจุบันอินเดียใช้หัวสิงห์นี้เป็นตราราชการประจำแผ่นดินอินเดีย
ถือเป็นสัญญลักษณ์ประจำชาติ มีปรากฏอยู่ในธนบัตรและในธงชาติของอินเดีย
ส่วนตัวเสาศิลาจารึกนั้นได้จารึกคำประกาศของพระเจ้าอโศกมหาราช
ประกาศให้พระภิกษุ พระภิกษุณี ขอให้มีความสามัคคีกัน
และใครก็ตามที่ทำให้สงฆ์แตกกันจะให้ผู้นั้นสึกออกมานุ่งผ้าขาวเสีย
ในปัจจุบันได้มีการขุดค้นพบซากพระมูลคันธกุฎีเดิมของพระพุทธเจ้าที่สารนาถ
ต่อมา
ท่านอนาคาริก ธรรมปาละ (Anagarika Dhammapala)
บุรุษชาวลังกาผู้ก่อตั้งสมาคมมหาโพธิ
ได้ใช้ปัจจัยส่วนตัวสร้างวัดมูลคันธกุฎีขึ้นใหม่อีกแห่งหนึ่ง
ห่างจากบริเวณพระมูลคันธกุฎีเดิมของพระพุทธเจ้าไม่มากนัก
ตั้งชื่อว่า
“วัดมูลคันธกุฏีวิหาร”
ซึ่งถือว่าเป็นวัดแห่งแรกของพระพุทธศาสนาในอินเดีย
หลังจากที่พระพุทธศาสนาถูกลืมเลือนไป
จากความทรงจำของชาวอินเดียกว่า ๗๐๐ ปี
และต่อมาได้มีการผูกพัทธสีมาขึ้นในวัดแห่งนี้
พระภิกษุรูปแรกที่อุปสมบทในวัดนี้ คือ ท่านอนาคาริก ธรรมปาละ
ภายในวัดมูลคันธกุฎีวิหารได้ประดิษฐาน
“พระประธานปางปฐมเทศนาเนื้อทองคำ”
ศิลปะคุปตะอันงดงาม ซึ่งจำลองแบบมาจากพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา
ศิลปคุปตะที่ทำจากหินทรายแดง
ซึ่งถือกันว่ามีความเป็นพุทธศิลปะที่งดงามมากที่สุด
ในวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๗๔
วัดมูลคันธกุฎิวิหารก็ได้ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ
และมีการผูกพัทธสีมาเป็นวัดโดยสมบูรณ์ โดยคณะสงฆ์ลังกา
สิ้นเงินการสร้างวัด ตลอดจนเงินค่าจ้างช่างชาวญี่ปุ่น คือ โกเซทซุ โนสุ
มาเขียนภาพฝาผนังพระพุทธประวัติรวมทั้งหมด ๑๓๐,๐๐๐ รูปี
ในวันเปิดวัดมูลคันธกุฎิวิหาร
มีชาวพุทธและข้าราชการรัฐบาลอินเดียหลายท่าน
และชาวพุทธจากต่างประเทศมากมาย ได้มาร่วมงานกว่าพันคน
รัฐบาลอินเดียได้มอบพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า
ให้กับผู้แทนสมาคมมหาโพธิ
ได้มีการนำพระธาตุขึ้นสู่หลังช้างแห่รอบพระวิหารสามรอบแล้ว
จึงนำขึ้นประดิษฐานยังยอดพระเจดีย์ในพระวิหาร
ท่านอนาคาริก ธรรมปาละ ได้กล่าวปราศัยในงานเปิดวันนั้น
ดังมีความตอนสุดท้ายที่่น่าประทับใจว่า
“...หลังจากที่พระพุทธศาสนาได้ถูกเนรเทศออกไปเป็นเวลานานถึง ๘๐๐ ปี
ชาวพุทธทั้งหลายก็ได้กลับคืนมายังพุทธสถานอันเป็นที่รักของตนนี้อีก
...เป็นความปรารถนาของสมาคมมหาโพธิ
ที่จะมอบพระธรรมคำสอนอันเปี่ยมด้วยพระมหากรุณาของพระพุทธองค์
ให้แก่ประชาชนชาวอินเดียทั้งมวล ไม่เลือกชาติชั้นวรรณะ และลัทธินิกาย
...ข้าพเจ้ามั่นใจว่าท่านทั้งหลายจะพร้อมใจกันเผยแผ่อารยธรรม
(ธรรมอันประเสริฐ) ของพระตถาคตเจ้า ไปให้ตลอดทั่วทั้งอินเดีย...”
[size=85%]
พระมูลคันธกุฏี หรือ “พระมูลคันธกุฏีวิหาร”
เป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงประทับจำพรรษาแรกและพรรษาที่ ๑๒