ลืมรหัสผ่าน
 สมัครเข้าเรียน
ค้นหา
ดู: 711|ตอบกลับ: 2

โรคที่มากับฤดูฝน

[คัดลอกลิงก์]

นักศึกษาหน้าใหม่

กระทู้
1
พลังน้ำใจ
86
Zenny
405
ออนไลน์
35 ชั่วโมง
                                                                                                                                                                โรคที่มากับฤดูฝน ตอนที่ 3 : กลุ่มโรคติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ                                                                                               
                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                        Hits: 931                                                                                                                                                                                                               

                       
                                                        User Rating: / 4
PoorBest
                                                       
จากโรคที่มากับฤดูฝน ตอนที่ 1-2 เราได้รู้จักกลุ่มโรคที่เกิดจากพาหะนำโรคยุงและกลุ่มโรคติดเชื้อทางระบบทางเดินอาหาร รวมทั้งหมด 8 โรคกันไปแล้ว ต่อมาในตอนที่ 3 นี้ จะมาทำความรู้จักกลุ่ม โรคติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขประกาศ มีอยู่ทั้งหมด 5 โรค เนื่องจากในฤดูฝนนั้นอากาศเปลี่ยนแปลงค่อนข้างบ่อย มีความชื้นมากทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตและแพร่เชื้อได้ดี หากถูกฝนก็มีโอกาสเจ็บป่วยมีโอกาสเกิดโรคติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจได้ง่าย จากสถิติเมื่อปี พ.ศ. 2554 พบผู้ป่วยโรคปอดอักเสบมากเป็นอันดับที่ 2 และเป็นโรคที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตรวมเป็นอันดับที่ 1 จึงควรเตรียมพร้อมเพื่อรับมือและป้องกันโรคติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจกัน จากนั้นมาทำความรู้จักกันต่อกับโรคติดเชื้อผ่านทางบาดแผลหรือเยื่อบุผิวหนัง คือ โรคไข้ฉี่หนู หรือ โรคเลปโตสไปโรซิส และ กลุ่มโรคเยื่อบุตาอักเสบหรือโรคตาแดง ซึ่งเป็นโรคที่ไม่อันตรายแต่ว่าสามารถติดต่อกันได้ง่ายและก่อความไม่สบายกาย มาทบทวนและทำความรู้จัก เตรียมพร้อมร่างกายรับมือกับโรคที่มากับฤดูฝน อีก 7 โรค ที่เหลือกันครับ
กลุ่มโรคติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ
1. โรคหวัด (Acute Rhinopharyngitis : Common cold)
โรคหวัด หรือ ไข้หวัด (Acute Rhinopharyngitis : Common cold) เป็นโรคติดเชื้อที่พบบ่อยมากที่สุดโรคหนึ่ง เกิดจากการติดเชื้อไวรัสซึ่งมีหลายสายพันธุ์ พบบ่อยในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว หรือโดยเฉพาะช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลง สามารถพบผู้ติดเชื้อได้ทุกช่วงอายุ ในเด็กเล็กสามารถเป็นได้หลายครั้งในแต่ละปี ในผู้ใหญ่จะเป็นน้อยลงตามลำดับเนื่องจากมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น โดยเฉลี่ยเด็กจะเป็นโรคหวัด 6-12 ครั้งต่อปี ผู้ใหญ่จะเป็น 2-4 ครั้งต่อปี ความรุนแรงของโรคไม่มาก และสามารถหายเองได้ภายในไม่กี่วัน เนื่องจากเกิดจากการติดเชื้อไวรัสจึงเน้นรักษาประคับประคองอาการจนอาการหายดีเอง
การติดต่อ
ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งมีอยู่มากกว่า 100 ชนิด โดยส่วนใหญ่มักเป็นเชื้อไวรัสประเภทคอรีซา (Coryza virus) ได้แก่ไรโนไวรัส (Rhinovirus)) และอื่นๆ ติดต่อผ่านทางน้ำมูก น้ำลายและเสมหะ โดยการหายใจเอาเชื้อที่กระจาย จากการไอหรือหายใจรดกัน หรือมือที่เปื้อนเชื้อโรคสัมผัสจมูกหรือตา ระยะเวลาแพร่เชื้อสามารถแพร่ได้ก่อนเกิดอาการและ 1-2 วันหลังเกิดอาการ
อาการที่พบ (Presentation)
เมื่อเชื้อไวรัสเข้าสู่เยื่อบุโพรงจมูก เชื้อจะเกาะและเข้าสู่เซลล์เยื่อบุ แบ่งตัวเพิ่มจำนวนและทำให้เซลล์ถูกทำลาย เกิดการอักเสบของเยื่อบุโพรงจมูก เยื่อบุบวมและแดงพบว่ามีการหลั่งของเมือกออกมา ใช้เวลาฟักตัวประมาณ 1-3 วัน (โดยเฉลี่ย 10-12 ชั่วโมง) จึงจะแสดงอาการ อาการของโรคหวัด ได้แก่ คัดจมูก น้ำมูกไหลลักษณะใส ไอ จาม เจ็บคอ เสียงแหบ อาจมีอาการไข้ต่ำๆ ปวดศีรษะเล็กน้อย ในผู้ใหญ่อาการจะน้อยมากอาจมีแค่คัดจมูกและน้ำมูกไหล (ยกเว้นผู้ที่มีโรคประจำตัวเป็นโรคทางการหายใจ) อาการของโรคมักเป็นไม่เกิน 2-5 วัน แต่อาจมีน้ำมูกไหลนาน 10-14 วัน
การปฏิบัติตัวของผู้ที่เป็นโรค

1. เนื่องจากเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ส่วนใหญ่จึงใช้วิธีการรักษาตามอาการ เช่น ยาลดน้ำมูก ยาลดไข้ จนอาการหายดีเอง การใช้ยาฆ่าเชื้อโดยไม่จำเป็นจะทำให้เชื้อแบคทีเรียเกิดการดื้อยาได้

2. พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากๆ (ควรเป็นน้ำอุ่น) รักษาร่างกายให้อบอุ่น รับประทานอาหารอุ่น

3. หลีกเลี่ยงการจามหรือสั่งน้ำมูกอย่างรุนแรง เพราะจะทำให้น้ำมูกที่มีเชื้อโรคเข้าไปในไซนัสเกิดการอักเสบติดเชื้อได้

4. เวลาไอหรือจามให้ใช้ผ้าเช็ดหน้าปิดปากและจมูก
การป้องกันการติดเชื้อ

1. หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้คนที่เป็นโรคหวัด ลดการสัมผัสกับผู้ป่วย หรือใช้ของร่วมกับผู้ป่วย หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้ล้างมือหลังสัมผัส อย่าเอามือสัมผัสหรือถูจมูก หรือขยี้ตา

2. พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ

3. หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ผู้ป่วยที่กำลังไอหรือจาม หลีกเลี่ยงที่มีคนแออัดในช่วงที่มีการระบาด

4. การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ไม่สามารถป้องกันโรคหวัดได้ เนื่องจากเป็นเชื้อไวรัสคนละชนิด
อาการที่ควรไปพบแพทย์

เมื่อน้ำมูกหรือเสมหะเหลืองเขียว ปวดหู หูอื้อ ปวดศีรษะมาก ไข้สูง มีอาการหอบเหนื่อย ควรพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยภาวะแทรกซ้อน หากมีไข้สูง ปวดเมื่อยตามร่างกายมาก อาจเป็นไข้หวัดใหญ่ไม่ใช่โรคหวัด
ภาวะแทรกซ้อน

1. คนที่เป็นโรคหวัดบางส่วน จะมีการติดเชื้อของแบคทีเรียซ้อนร่วมด้วย ทำให้มีอาการน้ำมูกข้น สีเหลืองหรือเขียว มีเสมหะเขียว

2. ไซนัสอักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียซ้อน

3. เยื่อบุตาอักเสบ

4. หลอดลมอักเสบ หรือ ปอดอักเสบ

5. ผู้ที่มีโรคประจำตัวเป็นโรคหอบหืด หรือ ถุงลมในปอดโป่งพอง เมื่อเป็นโรคหวัด จะทำให้อาการหอบเหนื่อยรุนแรงมากขึ้น
2. ไข้หวัดใหญ่ (Influenza)
ไข้หวัดใหญ่ (Influenza) เป็นโรคติดต่อที่เกิดการระบาดใหญ่เป็นครั้งคราว เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza virus) หรือไวรัสไข้หวัดใหญ่ พบบ่อยในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว เชื้อไวรัสสามารถแพร่ระบาดได้ทั่วโลก โดยแต่ละปีทั่วโลกจะมีผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ประมาณร้อยละ 15ของประชากรทั้งหมด พบได้ในทุกช่วงอายุ ในเด็กเล็กจะติดเชื้อได้ง่าย ส่วนผู้สูงอายุเมื่อติดเชื้อจะมีอาการรุนแรงกว่า ความรุนแรงโรค อาจมีแค่อาการไข้สูง ไอ ปวดตามร่างกาย หรือรุนแรง มีอาการปอดอักเสบ การรักษาใช้การรักษาประคับประคองอาการ หรือยาต้านไวรัสในรายที่รุนแรง ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ซึ่งได้ผลดีมากในการช่วยลดความรุนแรงของโรค
การติดต่อ
ไวรัสไข้หวัดใหญ่ มีหลายสายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์เอ (Influenza A virus) พบได้ประมาณร้อยละ 80 เป็นสาเหตุของการระบาดใหญ่บ่อยครั้ง, ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์บี (influenza B virus) พบบ่อยรองลงมา และไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ซี (Influenza C virus) มีความรุนแรงน้อยไม่ค่อยมีความสำคัญ
เชื้อไวรัสติดต่อผ่านทางน้ำมูก น้ำลายและเสมหะ โดยการหายใจเอาเชื้อที่กระจาย จากการไอหรือหายใจรดกัน หรือมือที่เปื้อนเชื้อโรคสัมผัสจมูก ผู้ที่มีเชื้อไวรัสในร่างกายสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ตั้งแต่ 1 วันก่อนที่จะมีอาการ และต่อไปได้อีก 3-5 วันหลังจากที่มีอาการแล้ว หรือบางรายไม่มีอาการก็สามารถแพร่เชื้อได้เช่นกัน
อาการที่พบ (Presentation)

หลังจากเชื้อไวรัสเข้าสู่ทางเดินหายใจ ใช้เวลาฟักตัวประมาณ 1-7 วัน (โดยเฉลี่ย 2-3 วัน) จะเริ่มแสดงอาการ อาการของโรคไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ ไข้สูงเฉียบพลัน (39-40 องศาเซลเซียส) ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียมาก อาจมีอาการคัดจมูก ไอ จาม เจ็บคอ น้ำมูกไหลลักษณะใส หลอดลมอักเสบ อาจมีอาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น เบื่ออาหาร ถ่ายอุจจาระเหลว คลื่นไส้อาเจียน โดยส่วนใหญ่อาการจะหายเป็นปกติได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อน

ภาวะแทรกซ้อน

ส่วนมากจะหายได้เองโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน ภาวะแทรกซ้อนที่พบ ได้แก่

1. โรคปอดอักเสบติดเชื้อ หลอดลมอักเสบ หากอาการรุนแรงมากจะเกิดภาวะการหายใจล้มเหลวได้

2. ภาวะสมดุลน้ำผิดปกติ เนื่องจากมีไข้สูง ดื่มน้ำได้น้อยลง หรือมีอาเจียน

3. กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (พบน้อย)

4. สมองอักเสบ หรือ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (พบน้อย)

5. ผู้ที่มีโรคประจำตัวเป็นโรคหอบหืด หรือ ถุงลมในปอดโป่งพอง เมื่อเป็นไข้หวัดใหญ่ จะทำให้อาการหอบเหนื่อยรุนแรงมากขึ้น

ผู้ป่วยกลุ่มที่เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนสูง ได้แก่

• ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป หรือเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี

• ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ได้แก่ โรคปอด โรคหัวใจ โรคไต โรคเบาหวาน

• ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยเอชไอวี (เอดส์) มะเร็ง เอสแอลอี (โรคพุ่มพวง) เป็นต้น

• เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่รับประทานยาแอสไพรินเป็นเวลานาน

• หญิงที่ตั้งครรภ์ หรือ ผู้ป่วยโรคอ้วน

การปฏิบัติตัวของผู้ที่เป็นโรค

1. เนื่องจากเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ส่วนใหญ่จึงใช้วิธีการรักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาลดน้ำมูก ยาแก้ไอ จนอาการหายดีเอง การใช้ยาฆ่าเชื้อโดยไม่จำเป็นจะทำให้เชื้อแบคทีเรียเกิดการดื้อยาได้

2. ในรายที่มีอาการรุนแรง หรือมีความเสี่ยงสูง อาจพิจารณาการใช้ยาต้านไวรัส

3. พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากๆ (ควรเป็นน้ำอุ่น) รักษาร่างกายให้อบอุ่น อยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเท

4. เวลาไอหรือจามให้ใช้ผ้าเช็ดหน้าปิดปากและจมูก หรือสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ

5. ในเด็กเล็กควรเช็ดตัวลดไข้บ่อยๆ เพราะไข้สูงอาจกระตุ้นให้ชักได้ วิธีการเช็ดตัวควรใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดาเช็ด ไม่ควรใช้น้ำเย็นจัดหรือน้ำแข็งเช็ดตัว

6. ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่ภูมิต้านทานโรคน้อย เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง หรือผู้ป่วยที่กินยากดภูมิคุ้มกันอยู่

การป้องกันการติดเชื้อ

1. หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้คนที่เป็นโรคหวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ลดการสัมผัสกับผู้ป่วย หรือใช้ของร่วมกับผู้ป่วย หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้ล้างมือหลังสัมผัส อย่าเอามือสัมผัสหรือถูจมูก หรือขยี้ตา

2. พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ

3. หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ผู้ป่วยที่กำลังไอหรือจาม หลีกเลี่ยงที่มีคนแออัดในช่วงที่มีการระบาด

4. การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุ และผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ปัจจุบันแนะนำให้ฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป โดยวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลควรฉีดทุก 1 ปีเนื่องจากมีการเปลี่ยนสายพันธุ์บ่อย

อาการที่ควรไปพบแพทย์

1. ผู้ที่มีอาการรุนแรง หายใจหอบเหนื่อย แน่นหน้าอก อ่อนเพลียมาก รับประทานอาหารหรือดื่มน้ำไม่ได้ หรือมีอาการนานกว่า 7 วัน

2. ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน หากมีอาการข้างต้น สงสัยเป็นไข้หวัดใหญ่ควรไปพบแพทย์

3. หากมีอาการไข้สูงนานประมาณ 3 วัน ควรปรึกษาแพทย์ เพราะอาการที่เป็นอยู่อาจมีสาเหตุมาจากโรคอื่นที่คล้ายกันได้ เช่น ไข้เลือดออก

3. คออักเสบ (Acute Pharyngitis)

โรคคออักเสบ (Acute Pharyngitis) เกิดจากเยื่อบุภายในคออักเสบ เป็นโรคติดเชื้อที่พบบ่อยมากส่วนใหญ่ สามารถพบผู้ติดเชื้อได้ทุกช่วงอายุ ในเด็กจะพบได้บ่อยกว่า ความรุนแรงของโรคไม่มาก มักมีอาการกลืนเจ็บ แสบคอ และสามารถหายได้เองภายในไม่กี่วัน แต่การติดเชื้อแบคทีเรียอาจทำให้มีอาการนาน การรักษาจะเน้นการรักษาประคับประคองอาการจนหายดี
การติดต่อ ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส (40-80%) รองลงมาเป็นการติดเชื้อแบคทีเรีย (20%) เชื้อไวรัสส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม Rhinovirus, Adenovirus และ Coronavirus อาการส่วนใหญ่คล้ายๆกันและเป็นไม่มากนัก เชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรค ที่พบมากที่สุดและมีความสำคัญมากคือ กลุ่มสเตรปโตคอกคัส Streptococcus spp. (โดยเฉพาะ S. pyogenes) เชื้อติดต่อผ่านทางน้ำมูก น้ำลายและเสมหะ โดยการหายใจเอาเชื้อที่กระจาย จากการไอหรือหายใจรดกัน หรือมือที่เปื้อนเชื้อโรคสัมผัสจมูก ช่องปาก ระยะเวลาแพร่เชื้อสามารถแพร่ได้ก่อนเกิดอาการและหลังเกิดอาการ (ระยะเวลานานขึ้นกับชนิดของเชื้อ)
อาการที่พบ (Presentation)

บริเวณที่เป็นคออักเสบจะอยู่พื้นที่ระหว่างหลังโพรงจมูกกับกล่องเสียง เมื่อเชื้อเข้ามาจะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนและทำลายเซลล์ เกิดการอักเสบ เชื้อไวรัสมักใช้เวลาฟักตัวประมาณ 1-3 วัน ส่วนเชื้อแบคทีเรีย (กล่าวถึงกลุ่มสเตรปโตคอกคัส) ใช้เวลาฟักตัวประมาณ 2-5 วัน อาการคออักเสบ ได้แก่ อาการเจ็บคอ กลืนเจ็บ ไอ ปวดศีรษะ ไข้ อาจพบต่อมน้ำเหลืองโต ถ้าเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียจะมีอาการไข้สูง เจ็บคอมาก คอแดงมาก มีจุดหนองที่คอ เพิ่มเติม อาการมักดีขึ้นเองภายใน 7-10 วัน แต่ในกลุ่มติดเชื้อสเตรปโตคอกคัสอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้
การปฏิบัติตัวของผู้ที่เป็นโรค

1. กรณีที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ส่วนใหญ่จึงใช้วิธีการรักษาตามอาการ เช่น ยาแก้เจ็บคอ ยาแก้ไอ ยาลดไข้ จนอาการหายดีเอง กรณีที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย พิจารณาการใช้ยาฆ่าเชื้อและต้องรับประทานจนครบตามแพทย์สั่ง

2. พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากๆ (ควรเป็นน้ำอุ่น แต่ถ้าเจ็บคอมากอาจจิบน้ำเย็นเพื่อลดอาการเจ็บได้) รักษาร่างกายให้อบอุ่น อาจจิบน้ำผึ้งผสมน้ำมะนาว

3. เวลาไอหรือจามให้ใช้ผ้าเช็ดหน้าปิดปากและจมูก
การป้องกันการติดเชื้อ

1. หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้คนที่เป็นโรคหวัดหรือคออักเสบ ลดการสัมผัสกับผู้ป่วย หรือใช้ของร่วมกับผู้ป่วย หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้ล้างมือหลังสัมผัส อย่าเอามือสัมผัสหรือถูจมูก

2. พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ

3. หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ผู้ป่วยที่กำลังไอหรือจาม หลีกเลี่ยงที่มีคนแออัดในช่วงที่มีการระบาด
อาการที่ควรไปพบแพทย์

มีอาการน้ำมูกหรือเสมหะเหลืองเขียว ปวดหู หูอื้อ ไข้สูง หายใจหอบเหนื่อยหรือมีอาการแทรกซ้อนอื่น หรืออาการคออักเสบเป็นอยู่นานเกิน 7 วัน หรือเมื่อรักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1-2 วัน
ภาวะแทรกซ้อน

ในคออักเสบชนิดติดเชื้อไวรัส ภาวะแทรกซ้อนมีโอกาสเกิดได้น้อยมาก มักเกิดจากการที่มีการติดเชื้อของแบคทีเรียซ้อนร่วมด้วย (ยกเว้นเชื้อไวรัสบางชนิดที่พบไม่บ่อย เช่น Ebstein-Barr virus (EBV) จะเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มาก)
ในคออักเสบชนิดติดเชื้อแบคทีเรีย โดยเฉพาะกลุ่มสเตรปโตคอกคัส แบ่งภาวะแทรกซ้อนได้เป็น

• ภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวกับหนอง มักเกิดจากเชื้อโรครุกล้ำบริเวณใกล้เคียง ได้แก่ ฝีรอบต่อมทอนซิล ฝีข้างคอหอย ฝีที่ผนังคอหอย ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ ต่อมน้ำเหลืองที่คออักเสบ

• ภาวะแทรกซ้อนที่ไม่เกี่ยวกับหนอง เกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ไว้ต่อสู้กับเชื้อ มาทำลายอวัยวะของผู้ป่วยเอง ได้แก่ ไข้รูห์มาติก, โรคหัวใจรูห์มาติก, ไตอักเสบ เป็นต้น
4. โรคปอดอักเสบ (Pneumonia)
โรคปอดอักเสบ หรือที่คนทั่วไปเรียกกันว่า “ปอดบวม” เป็นโรคทางระบบทางเดินหายใจที่เกิดการติดเชื้อบริเวณปอด เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรีย และทำให้เกิดการอักเสบ บวม มีน้ำหรือหนองอยู่ภายในถุงลมปอด ทำให้การแลกเปลี่ยนอากาศทำได้ไม่ดี พบบ่อยในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว โรคปอดอักเสบสามารถพบผู้ติดเชื้อได้ทุกช่วงอายุ แต่ในเด็กอายุน้อยกว่า 4 ปีและผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 65 ปี มีโอกาสเกิดความรุนแรงของโรคได้มากกว่า โรคปอดอักเสบทำให้เกิดอาการไอ หายใจลำบาก และหายใจหอบเหนื่อย ในรายที่มีอาการมากอาจเสียชีวิตได้ การรักษาอาจพิจารณาใช้ยาฆ่าเชื้อตามชนิดของเชื้อที่เป็นสาเหตุ ร่วมกับการให้ออกซิเจนเสริม และการรักษาตามอาการจนอาการหายดี
เชื้อที่ก่อโรค
เชื้อโรคที่เป็นสาเหตุได้แก่เชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัสที่พบบ่อยได้แก่ อดิโนไวรัส (Adenovirus), อินฟลูเอนซา (ไข้หวัดใหญ่ : Influenza), พาราอินฟลูเอนซา (Parainfluenza) และ อาร์เอสวี (Respiratory syncytial virus : RSV) เชื้อแบคทีเรียที่พบบ่อยได้แก่ สเตรปโตคอกคัส (Streptococcus pneumoniae), ฮีโมฟิลุส (Haemophilus influenzae), มอแรกเซลลา (Moraxella catarrhalis) และ ไมโคพลาสมา (Mycoplasma pneumoniae)
การติดต่อ
ติดต่อผ่านทางน้ำมูก น้ำลายและเสมหะ โดยการหายใจเอาเชื้อที่อยู่ในละอองฝอยกระจาย จากการไอหรือหายใจรดกัน หรืออาจเกิดจากการสำลักเชื้อลงสู่ปอด เช่น สำลักน้ำลาย อาหาร (โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ) ระยะเวลาแพร่เชื้อขึ้นกับชนิดของเชื้อและสามารถแพร่เชื้อได้จนกว่าเชื้อในเสมหะจะน้อยลงมาก การระบาดสามารถเกิดได้ในบริเวณที่มีคนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะ โรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก ค่ายทหาร เรือนจำ
อาการที่พบ (Presentation)
เมื่อเชื้อลงมาที่ทางเดินหายใจส่วนล่าง คือ ปอดและถุงลมปอด เชื้อจะแบ่งตัวและทำให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อปอด ต่อมาภูมิคุ้มกันของร่างกายจะเข้ามาทำลายเชื้อ เกิดการอักเสบบวมมากขึ้น และมีน้ำหรือหนองอยู่ภายในถุงลมปอดแทนที่อากาศ ส่งผลให้การแลกเปลี่ยนอากาศระหว่างถุงลมและเลือดทำได้ไม่ดี ทำให้ผู้ป่วยมีภาวะขาดออกซิเจนในร่างกาย มีอาการไอ หายใจเร็ว หายใจลำบาก หายใจหอบเหนื่อยมากขึ้น
อาการของโรคปอดอักเสบ โดยทั่วไป ได้แก่ ไข้ ไอมีเสมหะ หายใจเร็ว หายใจลำบาก หอบเหนื่อย หายใจเจ็บหน้าอก ในรายที่มีอาการรุนแรงจะมี หายใจแรงจนจมูกบาน บางรายเกิดหลอดลมภายในปอดตีบจนหายใจดังวี๊ด (คล้ายหอบหืด) ในรายที่มีอาการรุนแรงมาก จะมีภาวะการหายใจล้มเหลว ร่างกายขาดออกซิเจนมากทำให้ระดับความรู้สึกตัวเปลี่ยน หงุดหงิด สับสน ซึมลง หมดสติ และเสียชีวิตได้ ระยะเวลาการเป็นโรคขึ้นกับชนิดของเชื้อโรคและความรุนแรงของโรค
การป้องกันการติดเชื้อ
1. หลีกเลี่ยงการอยู่ในบริเวณที่มีคนแออัด โดยเฉพาะเด็กเล็ก ลดการสัมผัสกับผู้ป่วย หรือใช้ของร่วมกับผู้ป่วย หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้ล้างมือหลังสัมผัส อย่าเอามือสัมผัสหรือถูจมูก หรือขยี้ตา

2. พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ

3. หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ผู้ป่วยที่กำลังไอหรือจาม หลีกเลี่ยงที่มีคนแออัดในช่วงที่มีการระบาด

4. การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุ และผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ปัจจุบันแนะนำให้ฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป โดยวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลควรฉีดทุก 1 ปีเนื่องจากมีการเปลี่ยนสายพันธุ์บ่อย

5. การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอพีดี (Invasive Pneumococcal Disease : IPD) ป้องกันและลดความรุนแรงจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอกคัส (Streptococcus pneumoniae) โดยเฉพาะเด็กและผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ผู้ที่ควรฉีดได้แก่

• ผู้ที่เป็นโรคเรื้อรังเช่น เบาหวาน โรคหอบหืด ถุงลมโป่งพอง พิษสุราเรื้อรัง ตับแข็ง ไตวายเรื้อรัง โรคหัวใจ,โรคไต

• ผู้ที่ถูกตัดม้าม ไม่มีม้ามตั้งแต่กำเนิด หรือ ม้ามทำหน้าที่ไม่ดี

• ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ได้แก่ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี (เอดส์) ผู้ที่เป็นมะเร็งได้ยาเคมีบำบัด หรือผู้ที่ได้ยากดภูมิคุ้มกัน
อาการที่ควรไปพบแพทย์
เมื่อมีอาการไข้ ไอ หายใจหอบเหนื่อย อาการเข้าได้กับโรคปอดอักเสบ ควรไปพบแพทย์ทันที หรือ มีอาการไอปนเลือด หายใจเหนื่อยมากขึ้น หายใจเจ็บหน้าอกมาก แน่นหน้าอก มีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด
ภาวะแทรกซ้อน
โดยปกติโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนเกิดได้ไม่มาก ยกเว้นผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงจะมีโอกาสเกิดได้มากกว่า ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้ได้แก่
• มีน้ำหรือมีหนอง ในช่องเยื่อหุ้มปอด หรืออาจเกิดปอดแตก และเกิดปอดแฟบได้

• มีฝีหรือโพรงหนองที่ปอด หรือ มีหนองที่หลอดลม

• ภาวะหายใจล้มเหลว ต้องอาศัยเครื่องช่วยหายใจ และอาจเสียชีวิตได้

• ภาวะหัวใจล้มเหลว หัวใจอักเสบ (พบได้น้อย)
5. หลอดลมอักเสบ (Acute Bronchitis)


โรคหลอดลมอักเสบ (Bronchitis) สามารถแบ่งได้เป็นชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง ในชนิดที่จะกล่าวถึงนี้คือ โรคหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน (Acute Bronchitis) เป็นโรคทางระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากการติดเชื้อที่หลอดลม หลอดลมในร่างกายมีขนาดใหญ่และจะแตกแขนงเป็นขนาดเล็กย่อยๆจนกว่าจะถึงถุงลมปอด เกิดจากการติดเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เยื่อบุหลอดลมเกิดการอักเสบบวม ทำให้การไหลผ่านอากาศทำได้ไม่ดี พบบ่อยในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว พบผู้ติดเชื้อได้ทุกช่วงอายุ โรคหลอดลมอักเสบทำให้เกิดอาการไอมาก มีเสมหะ หายใจลำบาก การรักษามักใช้การรักษาประคับประคองตามอาการจนอาการหายดี



การติดต่อ
ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส โดยส่วนใหญ่ได้แก่เชื้อ อดิโนไวรัส (Adenovirus), ไรโนไวรัส (Rhinovirus), อินฟลูเอนซา (ไข้หวัดใหญ่ : Influenza), พาราอินฟลูเอนซา (Parainfluenza) และ อาร์เอสวี (Respiratory syncytial virus : RSV) ส่วนน้อยเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย คือ ไมโคพลาสมา (Mycoplasma) และ คลาไมเดีย (Chlamydia)

การติดต่อผ่านทางน้ำมูก น้ำลายและเสมหะ โดยการหายใจเอาเชื้อที่อยู่ในละอองฝอยกระจายอยู่ในอากาศ จากการไอหรือหายใจรดกัน ระยะเวลาแพร่เชื้อสามารถแพร่ได้ก่อนเกิดอาการและหลังเกิดอาการ
อาการที่พบ (Presentation)
เมื่อเชื้อเข้าสู่ทางเดินหายใจบริเวณหลอดลม เชื้อจะแบ่งตัวและทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุหลอดลมและบวมมากขึ้น ส่งผลให้หลอดลมตีบแคบ อากาศไหลผ่านหลอดลมเข้าปอดได้ไม่ดี หายใจลำบาก ในรายที่หลอดลมตีบมากๆจะหายใจดังวี้ดได้ และจากการอักเสบทำให้การขับเสมหะของเยื่อบุหลอดลมไม่ดี ส่งผลให้เกิดอาการไอมากขึ้น อาจไอแห้งๆ หรือไอมีเสมหะ อาจมีอาการอื่นๆคล้ายอาการของโรคหวัด เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล ไข้ต่ำๆ ได้ อาการของโรคหลอดลมอักเสบส่วนใหญ่มักหายได้เองภายใน 7-10 วัน แต่อาการไอแห้งๆอาจเป็นได้นานหลายสัปดาห์หรือเป็นเดือน

อาการไอ จะไอบ่อยครั้ง ไอถี่ๆ หรือเป็นชุด อาจมีอาการเจ็บกล้ามเนื้อหน้าอกหรือชายโครงได้ ในบางรายอาจมีปัสสาวะเล็ดได้
การปฏิบัติตัวของผู้ที่เป็นโรค

1. เนื่องจากส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ส่วนใหญ่จึงใช้วิธีการรักษาตามอาการ เช่น ยาละลายเสมหะ ยาแก้ไอ ยาขยายหลอดลม จนอาการหายดีเอง ส่วนการติดเชื้อแบคทีเรียอาจพิจารณาการใช้ยาฆ่าเชื้อ

2. พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากๆ (ควรเป็นน้ำอุ่น) รักษาร่างกายให้อบอุ่น รับประทานอาหารอุ่น

3. เวลาไอหรือจามให้ใช้ผ้าเช็ดหน้าปิดปากและจมูก หรือสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งเมื่อสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย หรือ เสมหะ

4. งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ ฝุ่น เขม่าควันต่างๆ หรือสารที่ระคายเคืองทางเดินหายใจ
การป้องกันการติดเชื้อ

1. หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้คนที่เป็นโรคหวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ลดการสัมผัสกับผู้ป่วย หรือใช้ของร่วมกับผู้ป่วย หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้ล้างมือหลังสัมผัส อย่าเอามือสัมผัสหรือถูจมูก

2. พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ ควันไฟ ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ หรืออากาศที่หนาวเย็น

3. หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ผู้ป่วยที่กำลังไอหรือจาม หลีกเลี่ยงที่มีคนแออัดในช่วงที่มีการระบาด
อาการที่ควรไปพบแพทย์

มีอาการไอมาก ไอถี่ๆ หรือ มีอาการไอปนเลือด มีเสมหะข้นกลิ่นเหม็น หรือ มีไข้สูง หายใจหอบเหนื่อยมากขึ้น แน่นหน้าอก มีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด หรือมีโรคประจำตัวเดิมเป็นโรคปอดเรื้อรัง ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติม
ภาวะแทรกซ้อน

1. หลอดลมอักเสบจากเชื้อไวรัส อาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้อนร่วมด้วย ทำให้มีอาการไอมาก มีเสมหะข้นสีเหลืองหรือเขียว ทำให้ระยะเวลาดำเนินโรคนานกว่าปกติ

2. โรคปอดอักเสบ พบได้ประมาณ 5 ใน 100 จะมีอาการไข้ ไอมีเสมหะ หายใจหอบเหนื่อย อาการหอบเหนื่อยจะแย่กว่าหลอดลมอักเสบ
โรคติดเชื้อผ่านทางบาดแผลหรือเยื่อบุผิวหนัง
โรคไข้ฉี่หนู (โรคเลปโตสไปโรซิส)
ไข้ฉี่หนู หรือ โรคเลปโตสไปโรซีส เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อสไปโรคีต เลปโตสไปรา Leptospira interrogans ในอดีตเคยเป็นโรคติดต่อจากสัตว์ที่พบได้มากที่สุด มีพาหะนำโรคคือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ได้แก่ หนู สุนัข วัว ควาย ฯลฯ พบได้บ่อยในประเทศที่มีฝนตกชุก สามารถพบผู้ติดเชื้อได้ทุกช่วงอายุ แต่มักพบในวัยทำงานเนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะเจอเชื้อมากกว่า โดยเชื้อจะทำให้มีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ตาแดง คอแข็ง หรือตัวเหลืองตาเหลืองได้ การรักษาโดยการให้ยาฆ่าเชื้อและการรักษาภาวะแทรกซ้อนอื่นๆจนอาการหายดี
การติดต่อ
เกิดจากพาหะนำโรค คือ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ได้แก่ หนู สุนัข วัว ควาย ฯลฯ ที่พบบ่อยคือ หนู การติดต่อเกิดได้ 2 ทาง คือ

1. จากการที่ผิวหนังของคนไปสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากสัตว์ที่มีเชื้ออยู่โดยตรง (หรือถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัด)

2. สัตว์พาหะที่มีเชื้ออยู่ในร่างกายจะฉี่ไปสู่สิ่งแวดล้อม ได้แก่ แหล่งน้ำ หรือ ดิน ซึ่งเชื้อจะสามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานหลายสัปดาห์ (อาจพบได้ถึง 6 เดือน) แล้วเชื้อเลปโตสไปราจะไชเข้าสู่เนื้อเยื่อผิวหนังหรือเยื่อบุต่างๆ เช่น ตา ปาก หรือ จมูก การติดต่อเกิดจาก
  • เดินสัมผัสแหล่งน้ำที่มีเชื้อ จะมีโอกาสเกิดการติดโรคเลปโตสไปโรซิสได้บ่อย
  • มือสัมผัสเชื้อที่ปนอยู่ในน้ำหรือดินแล้วสัมผัสกับเยื่อบุปาก ตา จมูก
อาการที่พบ (Presentation)
เมื่อผิวหนังสัมผัสแหล่งน้ำหรือดินที่มีเชื้อเลปโตสไปราแล้ว เชื้อจะไชเข้ามาตามผิวหนังหรือเยื่อบุต่างๆ เช่น ตา ปาก จมูก หลังจากนั้นจะใช้เวลาเพิ่มจำนวน ระยะเวลาฟักตัวนานประมาณ 2-30 วัน (ส่วนใหญ่ 5-14 วัน) หลังจากนั้นจะมีเชื้อตามกระแสเลือด ทำให้มีไข้สูง แล้วจะก่อโรคโดยไปตามอวัยวะต่างๆ และมีไข้สูง เชื้ออาจจะไปอยู่ตามอวัยวะที่ภูมิคุ้มกันเข้าไปไม่ถึง ได้แก่ บริเวณไต ตา หรือสมอง ได้ และจากการที่เชื้อไปก่อโรคตามอวัยวะต่างๆทำให้เกิด ภาวะอวัยวะภายในล้มเหลวตามมา โดยอาการของโรคเลปโตสไปโรซิสได้ดังนี้

1. ไข้สูง อุณหภูมิร่างกาย 38-40 องศาเซลเซียส บางครั้งมีหนาวสั่น

2. ปวดกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะบริเวณน่อง ขา หรือเอว เวลากด,จับ หรือบีบจะปวดมาก

3. ปวดศีรษะมาก ปวดรุนแรง

4. ตาแดง

5. บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร ถ่ายอุจจาระเหลว

6. บางรายอาจมีอาการไอ เจ็บคอ ได้ อาจพบผื่นแดงไม่คันตามร่างกาย

โดยอาการเหล่านี้จะมีอยู่ประมาณ 5-7 ผู้ป่วยส่วนใหญ่(ร้อยละ 90)อาการจะดีขึ้น หายได้เอง แต่ บางรายอาการรุนแรงเกิดภาวะอวัยวะภายในล้มเหลว เกิดตับวาย ไตวาย ทำให้เสียชีวิตได้ในที่สุด โดยระยะเวลาในช่วงหลังนี้ใช้เวลาประมาณ 4-30 วัน ถ้าไม่มีอาการแทรกซ้อน
  • การติดเชื้อโรคเลปโตสไปโรซีส สามารถจำแนกกลุ่มอาการตามความรุนแรง ได้แก่
    กลุ่มที่ไม่แสดงอาการตัวเหลืองตาเหลือง (anicteric leptospirosis) ผู้ป่วยกลุ่มนี้อาการไม่รุนแรงและอาจหายได้เอง พบได้ร้อยละ 85-90 ของผู้ติดเชื้อที่แสดงอาการทั้งหมด
  • กลุ่มที่มีอาการตัวเหลืองตาเหลือง (icteric leptospirosis) ผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง ได้แก่ ไตวาย กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เลือดออกผิดปกติที่อวัยวะต่างๆ
การปฏิบัติตัวของผู้ที่เป็นโรค

1. พิจารณาการใช้ยาฆ่าเชื้อ ควรรับประทานยาต่อเนื่องตามแพทย์สั่ง

2. ในช่วงไข้สูง การดื่มน้ำ ควรดื่มน้ำเกลือแร่ เพราะการดื่มน้ำเปล่าจะทำให้ระดับเกลือแร่ในเลือดผิดปกติได้

3. การลดไข้ ใช้การเช็ดตัวบ่อยๆ และการรับประทานยาลดไข้ แนะนำเป็นยาพาราเซตามอล แต่การรับประทานยาไม่ควรมากเกินแพทย์สั่งเพราะจะทำให้ตับอักเสบ ทำให้อาการแย่ลงได้

4. ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และนอนพักผ่อนอย่างเพียงพอ
การป้องกันการติดเชื้อ

1. หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำลุยโคลน ถ้าหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรสวมรองเท้าบูทยางกันน้ำ โดยเฉพาะผู้ที่มีบาดแผลที่บริเวณขา/เท้า

2. หลีกเลี่ยงการยืน/เดินแช่น้ำหรือย่ำโคลนนานๆ เมื่อพ้นจากน้ำ/โคลนแล้วต้องรีบล้างเท้าให้สะอาดด้วยสบู่แล้วเช็ดให้แห้งโดยเร็ว

3. ระวังน้ำไม่สะอาด ไม่ให้กระเด็นเข้าปาก ตา หรือ จมูก

4. ห้ามดื่มน้ำตามแหล่งธรรมชาติในช่วงน้ำท่วม ถ้าหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องกรองน้ำและต้มน้ำให้เดือดระยะหนึ่งก่อน
อาการที่ควรไปพบแพทย์

ถ้ามีอาการไข้สูงเป็นระยะเวลานาน ร่วมกับอาการปวดกล้ามเนื้อมาก ปวดน่องมาก ตาแดง หรือตัวเหลืองตาเหลือง อาการเข้าได้กับโรคเลปโตสไปโรซิส ควรไปพบแพทย์ทันที
ภาวะแทรกซ้อน

1. ภาวะปอดอักเสบ หรือปอดมีเลือดออก

2. กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หัวใจล้มเหลว หรือ เต้นผิดจังหวะ

3. ถุงน้ำดีอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ

4. ภาวะเลือดแข็งตัวผิดปกติ เลือดออกผิดปกติ

5. อาการทางระบบประสาท  มีการเปลี่ยนแปลงระดับความรู้สึก หรือ มีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์

โรคเลปโตสไปโรซิสชนิดรุนแรง (เกิดได้ประมาณ 1 ใน 10) จะมีอัตราการตายประมาณ 5-40% ในผู้ป่วยที่อายุมากหรือมีภูมิคุ้มกันบกพร่องมีโอกาสเสียชีวิตได้มาก
กลุ่มโรคเยื่อบุตาอักเสบหรือโรคตาแดง
โรคเยื่อบุตาอักเสบหรือโรคตาแดง (Acute Viral Conjunctivitis)
โรคเยื่อบุตาอักเสบ (Acute Conjunctivitis) เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ติดเชื้อ ภูมิแพ้ ถูกสารเคมี เป็นต้น ชนิดที่จะกล่าวถึงที่พบได้บ่อยและติดต่อกันได้ง่ายมาก คือ โรคเยื่อบุตาอักเสบจากเชื้อไวรัส หรือ โรคตาแดง (Acute Viral Conjunctivitis) พบบ่อยในช่วงฤดูฝน สามารถพบผู้ติดเชื้อได้ทุกช่วงอายุ ในเด็กจะระบาดได้ง่ายกว่าเนื่องจากไม่รู้จักวิธีป้องกัน ความรุนแรงของโรคไม่มากและสามารถหายเองได้ อาการของโรคได้แก่ ตาแดง เคืองตา น้ำตาไหล เน้นการรักษาแบบประคับประคองอาการและจำกัดการแพร่เชื้อจนอาการหายดี
การติดต่อ
สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส ที่พบมากที่สุดคือ อดีโนไวรัส (Adenovirus) ส่วนรองลงมาได้แก่ เฮอร์ปีสไวรัส (Herpes virus), เอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) และ คอกแซกกี (Coxsackie) ติดต่อทางน้ำตา ผ่านทางการสัมผัสโดยตรงจากมือหรือเครื่องใช้ และไปสัมผัสตาของอีกคน หรือถูกน้ำสกปรกเข้าตาโดยตรง ไม่ติดต่อทางการมองหรือทางอากาศ ระยะเวลาแพร่เชื้อประมาณ 14 วัน
มักเกิดการระบาดในชุมชนที่มีคนอยู่ร่วมกัน เช่น โรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก ที่ทำงาน สระว่ายน้ำ เป็นต้น
อาการที่พบ (Presentation)
เมื่อมือหรือวัตถุที่มีเชื้อไวรัสมาสัมผัสตา จะใช้เวลาฟักตัวประมาณ 1-2 วัน เชื้อไวรัสจะทำให้เยื่อบุตาที่คลุมภายในหนังตาและคลุมตาขาวเกิดการอักเสบ บวม และเกิดตาแดง อาการของโรคเยื่อบุตาอักเสบ ได้แก่ ตาแดง เคืองตามาก น้ำตาไหล เจ็บตา โดยจะเป็นที่ตาข้างใดข้างหนึ่ง ยกเว้นจะติดเชื้อพร้อมๆกัน โดยส่วนมากตาอีกข้างมักจะติดเชื้อด้วยเนื่องจากไม่ได้ระมัดระวังการติดเชื้อ
อาการของโรคมักมีอาการมากในช่วง 4-7 วันแรก แต่จะหายได้เองในเวลาประมาณ 7-14 วัน ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อน
การปฏิบัติตัวของผู้ที่เป็นโรค
1. เนื่องจากเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ส่วนใหญ่จึงใช้วิธีการรักษาตามอาการ เช่น ยาหยอดตาแก้แพ้ ยาแก้ปวด ถ้ามีขี้ตามากเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย อาจพิจารณาใช้ยาหยอดตาฆ่าเชื้อ

2. พักผ่อนให้เพียงพอ พยายามลดการใช้สายตา งดการใช้คอนแทกเลนส์

3. หลีกเลี่ยงการสัมผัสตา หากเลี่ยงไม่ได้ หลังการสัมผัสตาให้ล้างมือให้สะอาด ไม่สัมผัสวัตถุอื่น งดการใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือสิ่งของร่วมกับผู้อื่น อาจเปลี่ยนปลอกหมอนบ่อยๆ

4. หลีกเลี่ยงการลงเล่นน้ำ ในสระ หรือในที่สาธารณะ เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อ
การป้องกันการติดเชื้อ

หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดคลุกคลีกับคนที่เป็นตาแดง ผู้ที่อยู่ร่วมกัน ควรลดการสัมผัสกับผู้ป่วย หรือใช้ของร่วมกับผู้ป่วย หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้ล้างมือหลังสัมผัส อย่าเอามือสัมผัสหรือขยี้ตา หลีกเลี่ยงการไปว่ายน้ำในช่วงที่มีตาแดงระบาด อาจเปลี่ยนปลอกหมอนบ่อยครั้ง ถ้าใช้คอนแทกเลนส์ควรทำความสะอาดอย่างถูกต้อง
อาการที่ควรไปพบแพทย์

เมื่อมีอาการตาแดง เคืองตา น้ำตาไหล อาการเข้าได้กับโรคตาแดง ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง และเมื่อหลังได้รับการรักษาแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นภายใน 3-4 วัน หรือมีอาการตามัว เคืองตามาก อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน ควรกลับมาพบแพทย์อีกครั้ง
ถ้ามีอาการปวดศีรษะ ตามัว มองเห็นแสงเป็นวง คลื่นไส้อาเจียน ระดับความรู้สึกผิดปกติไป อาจไม่ใช่โรคเยื่อบุตาอักเสบ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง
ภาวะแทรกซ้อน

1. อาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้อน ซึ่งเกิดได้บ่อย จะมีอาการมีขี้ตามาก หรือในบางรายที่เกิดภาวะกระจกตาอักเสบ จะมีอาการเคืองตามาก ลืมตาไม่ได้ ตามัวลง แต่โดยส่วนมากพยากรณ์โรคดี จะหายได้เองภายใน 3-4 สัปดาห์

2. การติดเชื้อไวรัสตาแดงซ้ำเนื่องจากไม่ได้ป้องกัน
สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับโรคที่มากับฤดูฝน คือ

1. การรับประทานยาลดไข้ ควรหลีกเลี่ยงยาในกลุ่มแอสไพริน (Aspirin) เพราะส่งผลอันตรายกับบางโรค เช่น ไข้เลือดออก และโรคฉี่หนู ซึ่งตัวโรคอาจทำให้เลือดออกได้ง่าย ซึ่งยาแอสไพรินมีผลป้องกันเลือดแข็งตัว จะทำให้เลือดออกได้ง่ายขึ้น

2. การป้องกันโรคที่มากับฤดูฝน ส่วนมากทำได้โดยพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ สวมเสื้อผ้าให้อบอุ่น ควรดื่มน้ำสะอาด รับประทานอาหารที่ปรุงสุกสะอาด ล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดบ่อยครั้ง

3. ในเด็กและผู้สูงอายุควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เพราะอาการเป็นได้มากกว่า และเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย
เอกสารอ้างอิง (References)
1. สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข. สธ.ออกประกาศเตือนประชาชนป้องกัน 15 โรคสำคัญฤดูฝน เผยปี 54 พบป่วยเกือบ 7 แสนคน. กระทรวงสาธารณสุข Ministry of Public Health Web site. May 20, 2012. Available at: http://www.moph.go.th/ops/iprg/include/admin_hotnew/show_hotnew.php?idHot_new=47030. Accessed June 4, 2012.

2. กรมควบคุมโรคติดต่อ และคณะ. 2545. แนวทางเวชปฏิบัติโรคเลปโตสไปโรซีส. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ

3. Turner RB. The common cold. Principles and Practice of Infectious Diseases. 7th ed. Philadelphia, Pa: Elsevier Churchill Livingstone; 2009:chap 53.

4. Simasek M, Blandino DA. Treatment of the common cold. American Family Physician. Feb 2007:75(4).

5. Hemilä H, Chalker E, Douglas B. Vitamin C for preventing and treating the common cold. Cochrane Database of Systematic Reviews 2007, Issue 3. Art. No.: CD000980.

6. Centers for Disease Control and Prevention, National Center for Immunization and Respiratory Diseases (NCIRD). Seasonal Influenza (Flu). Centers for Disease Control and Prevention Web site. July 2, 2012. Available at: http://www.cdc.gov/flu/. Accessed July 3, 2012.

7. Fiore AE, Fry A, Shay D, et al; Centers for Disease Control and Prevention (CDC). Antiviral agents for the treatment and chemoprophylaxis of influenza --- recommendations of the Advisory Committee on Immunization Practices (ACIP). MMWR Recomm Rep. 2011 Jan 21;60(1):1-24.

8. Weber R. Pharyngitis. Conn’s Current Therapy 2012. 1st ed. Philadelphia, Pa: Saunders Elsevier; 2011:chap 1.

9. Wessels MR. Streptococcal pharyngitis. N Engl J Med. 2011;364:648-655.

10. Gerber MA, Baltimore RS, Eaton CB, et al. Prevention of rheumatic fever and diagnosis and treatment of acute Streptococcal pharyngitis: a scientific statement from the American Heart Association Rheumatic Fever, Endocarditis, and Kawasaki Disease Committee of the Council on Cardiovascular Disease in the Young. Circulation. 2009 Mar 24;119(11):1541-51.

11. Kasper DL, Braunwald E, Fauci AS, et al, eds. Infectious Diseases. Harrison's Principles of Internal Medicine. 17th ed. New York: McGraw-Hill; 2008.

12. Marcos MA, Camps M, Pumarola T, et al. The role of viruses in the aetiology of community-acquired pneumonia in adults. Antivir Ther. 2006;Vol.11:351-359.

13. Centers for Disease Control and Prevention. Recommended adult immunization schedule--United States, 2012. MMWR. 2012;61(4).

14. Gwaltney JM. Acute bronchitis. Principles and Practice of Infectious Diseases. 6th ed. Philadelphia, Pa: Elsevier Churchill Livingstone; 2005:chap 58.

15. Wenzel RP, Fowler AA 3rd. Clinical practice. Acute bronchitis. N Engl J Med. Nov 16 2006;355(20):2125-30.

16. Rubenstein JB, Virasch V. Conjunctivitis: Infectious and noninfectious. Ophthalmology. 3rd ed. St. Louis, Mo: Mosby Elsevier; 2008:chap 4.6.
ที่มาของภาพประกอบ :

เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด A : Chris Bickel / Science vol. 312

รูป Pneumonia : National Heart, Lung and Blood Institute

รูป Bronchitis : ADAM.

รูป Spirochete : Image courtesy of Cornell University

รูป Conjunctivitis : Conjunctivitis.co
ที่มา  ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ
ขอขอบคุณ ผู้เรียบเรียงบทความ นายแพทย์วิรชัช สนั่นศิลป์
      ที่ปรึกษาบทความ  พญ พรรณพิศ    สุวรรณกุล  อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ

นิสิตสัมพันธ์

กระทู้
0
พลังน้ำใจ
11140
Zenny
3066
ออนไลน์
284 ชั่วโมง
โพสต์ 2012-10-15 17:59:30 | ดูโพสต์ทั้งหมด

มหาลัยซีเนียร์

กระทู้
3
พลังน้ำใจ
1688
Zenny
33299
ออนไลน์
117 ชั่วโมง
โพสต์ 2012-10-19 23:27:26 | ดูโพสต์ทั้งหมด
ขอบคุนครับ
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เข้าสู่ระบบ | สมัครเข้าเรียน

รายละเอียดเครดิต

A Touch of Friendship: สังคมจะน่าอยู่ เมื่อมีผู้ให้แบ่งปัน ฝากไวเป็นข้อคิดด้วยนะคะชาวจีโฟกายทุกท่าน
!!!!!โปรดหยุด!!!!! : พฤติกรรมการโพสมั่วๆ / โพสแต่อีโมโดยไม่มีข้อความประกอบการโพส / โพสลากอักษรยาว เช่น ครับบบบบบบบบ, ชอบบบบบบบบ, thxxxxxxxx, และอื่นๆที่ดูแล้วน่ารำคาญสายตา เพราะถ้าท่านไม่หยุดทีมงานจะหยุดท่านเอง
ขอความร่วมมือสมาชิกทุกท่านโปรดโพสตอบอย่างอื่นนอกเหนือจากคำว่า ขอบคุณ, thanks, thank you, หรืออื่นๆที่สื่อความหมายว่าขอบคุณเพียงอย่างเดียวด้วยนะคะ เพื่อสื่อถึงความจริงใจในการโพสตอบกระทู้ และไม่ดูเป็นโพสขยะ
กระทู้ไหนที่ไม่ใช่กระทู้ในลักษณะที่ต้องโพสตอบโดยใช้คำว่าขอบคุณ เช่นกระทู้โพล, กระทู้ถามความเห็น, หรืออื่นๆที่ทีมงานอ่านแล้วเข้าข่ายว่า โพสขอบคุณไร้สาระ ทีมงานขอดำเนินการตัดคะแนน และ/หรือให้ใบเตือนสมาชิกที่โพสขอบคุณทันทีที่เจอนะคะ

รูปแบบข้อความล้วน|โทรศัพท์มือถือ|ติดต่อลงโฆษณา|จีโฟกายดอทคอม

ข้อความที่ท่านได้อ่านในเว็บจีโฟกายดอทคอมนี้ เกิดจากการเขียนโดยสาธารณชน และตีพิมพ์แบบอัตโนมัติ หากท่านพบเห็นข้อความใดๆ ที่ขัดต่อกฎหมาย และศิลธรรม ไม่เหมาะสมที่จะเผยแพร่ ท่านสามารถแจ้งลบข้อความได้ที่ Link “แจ้งลบโพสนี้” ที่มีอยู่ใต้ข้อความทุกข้อความ หรือ ลืมพาสเวิดล๊อกอิน/ลืมชื่อที่ใช้สมัคร หรือข้อสงสัยใดๆแจ้งมาที่ G4GuysTeam[at]yahoo.com ขอขอบพระคุณที่ให้ความร่วมมือ

กรณีที่ข้อความ/รูปภาพในกระทู้นี้จัดสร้างโดยผู้ลงข้อมูลเอง ลิขสิทธิ์จะเป็นของผู้ลงข้อมูลโดยตรง หากจะทำการคัดลอก/เผยแพร่ ต้องได้รับอนุญาตจากผู้ลงข้อมูลก่อนนะคะ หรือลงที่มาไว้ด้วยค่ะ

©ขอสงวนสิทธิ์คอนเซ็ปต์,คำอธิบาย,หัวข้อ/หมวดหมู่เว็บ ห้ามลอกเลียนแบบ คิดเอาเองนะคะอย่าเอาแต่ลอก

GMT+7, 2024-12-22 21:26 , Processed in 0.083441 second(s), 25 queries .

Powered by Discuz! X3.5, Rev.8

© 2001-2024 Discuz! Team.

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้