วันครูแห่งชาติ
16 มกราคม ของทุกปี
วันครูแห่งชาติ
คำว่า “ ครู ” มาจากศัพท์ภาษาสันสกฤต “คุรุ” และภาษาบาลี “ครุ, คุรุ” คือ ผู้ที่มีความสามารถให้คำแนะนำอบรมสั่งและสอน ศิษย์ นักเรียน หรือ นักศึกษา ให้เกิดความรู้ คิด อ่าน เขียน เพื่อให้เกิดประโยชน์มีอาชีพที่ดี รวมถึงการปฏิบัติและแนวทางในการทำงาน เพื่อนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของสังคมและประเทศชาติ
ประวัติวันครู
วันครู
ได้จัดให้มีขึ้นครั้งแรก เมื่อ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 ซึ่งได้สืบเนื่องมาจากการประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ พ.ศ. 2488 ซึ่งระบุให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการเรียกว่า คุรุสภาเป็นนิติบุคคลให้ครูทุกคนเป็นสมาชิกคุรุสภา โดยมีหน้าที่ในเรื่องของสถาบันวิชาชีพครู เพื่อส่งเสริมความรู้และความสามัคคีของครู ในปี พ.ศ. 2499 ในที่ประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ ได้กล่าวคำปราศรัยต่อที่ประชุมครูทั่วประเทศว่า”ที่อยากเสนอในตอนนี้ก็คือว่า เนื่องจากผู้เป็นครูมีบุญคุณ เป็นผู้ให้แสงสว่างในชีวิตของเราทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าวันครูควรมี สักวันหนึ่งสำหรับให้บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายได้แสดงความเคารพ สักการะต่อบรรดาครูผู้มีพระคุณทั้งหลาย เพราะเหตุว่าสำหรับ คนทั่วไปถ้าถึงวันตรุษ วันสงกรานต์ เราก็นำเอาอัฐิของผู้มีพระคุณบังเกิดเกล้ามาทำบุญ ทำทาน คนที่สองรองลงไปก็คือครูผู้เสียสละ ทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าในโอกาสนี้จะขอฝากที่ประชุมไว้ด้วย ลองปรึกษาหารือกันในหลักการ ทุกคนคงจะไม่ขัดข้อง”
จากแนวความคิดนี้ กอปรกับความเห็นของครูที่แสดงออกทางสื่อมวลชนและอื่นๆ ล้วนเรียกร้องให้มีวันครูเพื่อให้เป็นวันแห่งการรำลึก ถึงความสำคัญของครูในฐานะที่เป็นผู้เสียสละ ประกอบคุณงามความดี เพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นอันมาก และเพื่อจะได้ประกอบพิธีระลึกถึงคุณบูรพาจารย์ ส่งเสริมสามัคคีธรรมระหว่างครูและเพื่อส่งเสริม ความเข้าใจอันดีระหว่างครูกับประชาชน
การจัดงาน “วันครู” ได้จัดเป็นครั้งแรกเมื่อ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 กระทรวงศึกษาธิการสั่งการให้นักเรียนและครูหยุดในวันดังกล่าวได้ ในส่วนกลางใช้สถานที่ของกรีฑาสถานแห่งชาติ เป็นที่จัดงานวันครูนี้ได้กำหนด เป็นหลักการให้มีอนุสรณ์งานวันครูไว้แก่อนุชนรุ่นหลังทุกปี อนุสรณ์ที่สำคัญคือ หนังสือประวัติครู หนังสือที่ระลึกวันครู และสิ่งก่อสร้างเป็นถาวรวัตถุ
คำปฏิญาณข้อ 1 ข้าจะบำเพ็ญตนให้สมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นครู
ข้อ 2 ข้าจะตั้งใจฝึกสอนศิษย์ให้เป็นพลเมืองดีของชาติ
ข้อ 3 ข้าจะรักษาชื่อเสียงของคณะครูและบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม
จากนั้นพระสงฆ์เจริญชัยมงคล แล้วต่อด้วยนายกรัฐมนตรีมอบรางวัลครูดีเด่นประจำปี มอบของที่ระลึกให้ครูอาวุโสนอกและในประจำการ สุดท้ายกล่าวปราศรัยกับคณะครูที่มาประชุม
กลอนวันครู
16 มกราวันนี้วันครู ท่านเป็นผู้ให้ความรู้ตลอดมา
ครูมีแต่ความหวังดีทุกเวลา ห่วงว่าศิษย์หลงทำผิดคิดพลาดไป
คอยอบรมสอนสั่งไม่ย่อท้อ ครูยังพอยิ้มได้และสุขใจ
เมื่อศิษย์ไปได้ดีดั่งหวังไว้ เหน็ดเหนื่อยเพียงไหนใจพร้อมสู้
ครูยืนอยู่เบื้องหลังเป็นกำลังใจ ความผิดใดที่ศิษย์ได้ทำไว้
โปรดขอครูนี้จงได้ให้อภัย ไม่ตั้งใจจริงๆสิ่งที่ทำไป
—————————————————-
ประนตน้อมพร้อมจิตลิขิตสาร ดำริกานท์ก้มเกศพิเศษหมาย
นบบูชาพระคุณครูมิรู้วาย ทั้งจิตกายตั้งมั่นกตัญญู
พระคุณที่สั่งสอนทั้งศาสตร์ศิลป์ ให้ศิษย์สิ้นสงสัยให้ความรู้
เกิดปัญญาก้าวหน้าเพราะคำครู ยังก้องอยู่โสตประสาทมิขาดไป
ตั้งแต่เรียนเขียน ก ทั้งนับเลข นิทานเสกสอนสั่งสร้างนิสัย
ขัดเกลาจิตศิษย์อยู่ให้รู้วัย ว่าสิ่งไหนนั้นควรไม่ควรทำ
ในวาระวันครู หนูจะเขียน ต่างแพเทียนธูปทองอันผ่องล้ำ
สร้อยอักษรล้วนจิตพินิจจำ กระแสน้ำพระคุณครูอยู่ชั่วกาล
บทสวดเคารพครู
(สวดนำ) ปาเจราจริยาโหนฺติ (รับพร้อมกัน) คุณุตฺตรานุสาสกา
ปญฺญาวุฑฺฒิกเร เต เต ทินฺโนวาเท นมามิหํ
สวดทำนองสรภัญญะ
(สวดนำ) อนึ่งข้าคำนับน้อม (รับพร้อมกัน) ต่อพระครูผู้การุณย์
โอบเอื้อและเจือจุน อนุศาสน์ทุกสิ่งสรรพ์
ยัง บ ทราบก็ได้ทราบ ทั้งบุญบาปทุกสิ่งอัน
ชี้แจงและแบ่งปัน ขยายอรรถให้ชัดเจน
จิตมากด้วยเมตตา และกรุณา บ เอียงเอน
เหมือนท่านมาแกล้งเกณฑ์ ให้ฉลาดและแหลมคม
ขจัดเขลาบรรเทาโม หะจิตมืดที่งุนงม
กังขา ณ อารมณ์ ก็สว่างกระจ่างใจ
คุณส่วนนี้ควรนับ ถือว่าเลิศ ณ แดนไตร
ควรนึกและตรึกใน จิตน้อมนิยมชม
(กราบ)
การจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมในวันครู
เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจในบทบาท และหน้าที่ของครู ตลอดจนจรรยามารยาทและวินัยตามระเบียบประเพณีครู และบทบาทหน้าที่ของศิษย์ที่พึงปฏิบัติต่อครู คลอดจนการจัดกิจรรมได้เหมาะสม และมีประสิทธภาพ
กิจกรรมในวันครู
การจัดงานวันครูได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกิจกรรมให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมตลอดเวลาในปัจจุบันได้จัดรูปแบบการจัดงานวันครูจะมีกิจกรรม 3 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้
1. กิจกรรมทางศาสนา
2. พิธีรำลึกพระคุณบูรพาจารย์ ประกอบด้วยพิธีปฏิญาณตนการกล่าวคำระลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์
3. กิจกรรมเพื่อความสามัคคีระหว่างผู้ประกอบอาชีพครู ส่วนมากเป็นการแข่งขันกีฬา หรือการจัดงานรื่นเริงในตอนเย็น
ปัจจุบันการจัดงานวันครู ได้มีการกำหนดให้จัดพร้อมกันทั่วประเทศ สำหรับส่วนกลางจัดที่หอประชุมคุรุสภาโดยมีคณะกรรมการจัดงานวันครู ซึ่งมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน ประกอบด้วย บุคคลหลายอาชีพร่วมกันเป็นผู้จัด สำหรับส่วนภูมิภาคมอบให้จังหวัดเป็นผู้ดำเนินการ โดยตั้งคณะกรรมการจัดงานวันครูขึ้นเช่นเดียวกับ ส่วนกลางจะจัดรวมกันที่จังหวัดหรือแต่ละอำเภอ
การระลึกนึกถึงพระคุณของคุณครู ในสมัยโบราณมีลักษณะอย่างไร
สาระหลักของการไหว้ครูคือการแสดงความเคารพระลึกถึงพระคุณของท่าน มอบกายถวายตัวให้กับท่าน ให้ท่านอบรมสั่งสอนมันเป็นอย่างนั้น แต่การแสดงออกก็จะมีหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมประเพณีของแต่ละที่กันไป อย่างเช่นในบางที่ก็ใช้วิธีการประกาศปฏิญาณตน บางที่ก็ใช้วิธีการว่าเอาข้าวตอกดอกมะเขือแล้วก็หญ้าแพรกต่างๆไปไหว้ครู เป็นต้น บ้างก็ใช้วิธีการแสดงออกโดยการประทักษิณ อย่างในพระพุทธศาสนาเรา การจะแสดงความเคารพ เราจะใช้การประทักษิณ เราคงได้ยินคำนี้ ประทักษิณอย่างเช่นว่าจะแสดงความเคารพพระพุทธรูป พระประธานในโบสถ์ ก็ประทักษิณรอบโบสถ์ เวียนเทียนนั่นเอง ก็คือเดินแล้วก็ด้วยอาการสำรวมเช่นพนมมือหรือสวดมนต์ไปเป็นต้น แล้วให้ขวามือของเรา อยู่ใกล้กับสิ่งที่เราแสดงความเคารพ เช่นจะเดินผ่านโบสถ์ก็ให้ขวามือเราเองอยู่ใกล้โบสถ์ แล้วก็เดินวนรอบ เรียกว่าเวียนประทักษิณ เจริญพร จะเป็นสถูปเจดีย์ต่างๆประทักษิณคือ เอาขวามือเราอยู่ใกล้สิ่งนั้นแล้วก็เดินรอบ 3 รอบโดยทั่วไป ก็เป็นการแสดงออกซึ่งความเคารพได้เหมือนกัน สำคัญที่ใจ แต่การแสดงออกทางกาย วาจา ก็มีผลเพราะว่า มันจะสื่อเนื่องไปถึงใจด้วย
การความเคารพ ควรแสดงออกแบบใดดีที่สุด
สิ่งที่แสดงออกสูงที่สุดคือปฏิบัติบูชา การแสดงความเคารพบูชาครูบาอาจารย์ ดีที่สุดคือปฏิบัติบูชา คือทำตามคำสอนของท่าน หน้าที่ของครูมี 2 อย่าง คือแนะให้รู้กับทำให้ดู แนะนำนั่นเองแหละ แนะคือสอนให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร นำก็คือทำให้ดูเป็นตัวอย่าง การประพฤติปฏิบัติของครูทำให้ดูเป็นตัวอย่าง 2 อย่างประกอบคือหน้าที่หลักของครู หน้าที่ของศิษย์เองก็จะต้องตั้งใจประพฤติปฏิบัติตามเรียกว่าปฏิบัติบูชา ครูบาอาจารย์สอนอะไรไม่ใช่เข้าหูซ้ายออกหูขวา แต่ใส่ใจรับฟังศึกษาให้เข้าใจแล้วก็นำมาปฏิบัติเป็นเนื้อเป็นหนังเป็นตัวเป็นตนของเราเอง จนซึมเข้าไปในใจของเราเป็นวิถีชีวิตของเราเอง อันนี้คือการปฏิบัติบูชาที่ดีที่สุด ถือเป็นการบูชาอันสูงสุด
ในทางพระพุทธศาสนาของเรานี่ ครูผู้ยิ่งใหญ่ของเราคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพระบรมครูนั่นเอง เรารู้จักพระพุทธเจ้าในฐานะ ผู้เป็นพระบรมครู ศาสดาเอกของโลก เราจึงควรศึกษาของดีๆ ที่มีอยู่ในพระพุทธศาสนา เพื่อนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่สังคมอย่างกว้างขวาง
พระพุทธเจ้าในสมัยเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ทรงได้รับการศึกษาเป็นอย่างดี จากอาจารย์ที่มีชื่อเสียง คือ อาจารย์วิศวามิตร วิชาที่ทรงศึกษา คือ ศิลปศาสตร์ 18 ประการ อันเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้จะเป็นกษัตริย์ จะต้องศึกษาศิลปศาสตร์ 18 ประการ คือ
1. ยุทธศาสตร์ วิชานักรบ
2. รัฐศาสตร์ วิชาการปกครอง
3. นิติศาสตร์ วิชากฎหมายและจารีตประเพณีต่างๆ
4. พาณิชยศาสตร์ วิชาการค้า
5. อักษรศาสตร์ วิชาวรรณคดี
6. นิรุกติศาสตร์ วิชาภาษาทั้งของตน และของชนชาติ ที่เกี่ยวข้องกัน
7. คณิตศาสตร์ วิชาคำนวณ
8. โชติยศาสตร์ วิชาดูดวงดาว
9. ภูมิศาสตร์ วิชาดูพื้นที่ และรู้จักแผนที่ของประเทศต่างๆ
10.โหราศาสตร์ วิชาโหรรู้จักพยากรณ์เหตุการณ์ต่างๆ
11.เวชศาสตร์ วิชาแพทย์
12.เหตุศาสตร์ วิชาว่าด้วยเหตุผล หรือตรรกวิทยา
13.สัตวศาสตร์ วิชาดูลักษณะสัตว์ และรู้เสียงสัตว์ว่าดี หรือร้าย
14.โยคศาสตร์ วิชาช่างกล
15.ศาสนศาสตร์ วิชาศาสนารู้ความเป็นมา และหลักศาสนาทุกศาสนา
16.มายาศาสตร์ วิชาอุบาย หรือตำหรับพิชัยสงคราม
17.คันธัพพศาสตร์ วิชาร้องรำหรือนาฎยศาสตร์ และวิชาดนตรีหรือดุริยางค์ศาสตร์
18.ฉันทศาสตร์ วิชาการประพันธ์
พระพุทธเจ้าทรงศึกษาศิลปศาสตร์ 18 ประการนี้ จนมีความรู้แตกฉาน ยากที่หาใครเสมอเหมือนได้ จึงกล่าวได้ว่า พระองค์ทรงมีความรู้ ในทางโลกเพียบพร้อม เป็นอย่างดีอยู่แล้ว เมื่อได้เสด็จออกบรรพชา พระองค์ทรงได้ศึกษาเพิ่มเติมจากอาฬารดาบส และอุททกดาบส ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยา และทรงบำเพ็ญเพียรทางจิตใจ จนได้ตรัสรู้ พระองค์จึงทรงพร้อมที่จะสอนบุคคลทุกชั้น ตั้งแต่คนธรรมดา จนถึงนักปราชญ์ และเทวดา ทุกโอกาสและสถานที่ เราลองมาพิจารณาการสอนแบบพระพุทธเจ้ากัน
ทรงพร้อมที่จะสอน
ทรงสอนด้วยการทำให้ดูเป็นตัวอย่าง
ทรงสอนโดยมีจุดมุ่งหมาย
ทรงสอนโดยคำนึงถึงความพร้อมของผู้ฟัง
ทรงสอนโดยคำนึงถึงความแตกต่างฯ
ทรงสอนโดยใช้สื่อภาษาที่เข้าใจง่าย
ทรงสอนจากสิ่งที่รู้ไปหาสิ่งที่ไม่รู้
ทรงสอนจากยากไปหาง่าย
ทรงสอนโดยจัดคำสอนเป็นข้อๆ
ทรงสอนตามความเข้าใจของผู้อื่น
ทรงสอนโดยวิธีซักถาม
ทรงสอนให้ผู้ฟังลงมือปฎิบัติ
ทรงสอนโดยใช้อุปกรณ์การสอน
ทรงสอนให้ใช้ปัญญาพิจารณาฯ
แหละนี่คือ หลักการสอนการปฏิบัติตนของพระบรมครูผู้ยิ่งใหญ่ของโลกนี่ ที่เราทุกคนควรนำหลักไปปฏิบัติ เพื่อให้สันติสุขบังเกิดขึ้นแก่โลกใบนี้
การจัดงานวันครูอันที่จริงมีมานานแล้ว ตั้งแต่ 16 มกราคม 2500 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21พฤศจิกายน 2499 แต่เริ่มจัดให้มีคำขวัญเกี่ยวกับงานวันครูเมื่อไม่นานมานี้เอง แรกๆก็เป็นคำขวัญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ในฐานะประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภา) ต่อมาก็เป็นคำขวัญของบุคคลทั่วไปที่ส่งเข้าประกวด ซึ่งพอจะรวบรวมได้ดังนี้
คำขวัญวันครู พ.ศ. 2522 - การให้การศึกษาแก่คนในชาติ เป็นกระบวนการที่ต้องทำต่อเนื่องกันไปตลอดชีวิต ดังนั้นจึงต้องระดมสรรพกำลังหลาย ๆ ด้านมาช่วยเหลือการศึกษา ปัจจัยที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งที่จะขาดเสียมิได้ก็คือ ครูซึ่งจะเป็นผู้ผลักดันให้ทุกอย่างไปสู่เป้าหมายได้ ฉะนั้นท่านทั้งหลายคงตระหนักถึงหน้าที่อันมีเกียรตินี้ ในโอกาสที่วันสำคัญอย่างยิ่งของครูได้เวียนมาบรรจบครบรอบอีกวาระหนึ่ง ข้าพเจ้าในนามของกระทรวงศึกษาธิการและประธานอำนวยการคุรุสภา ขอส่งความปรารถนาดีและความระลึกถึงเพื่อนครูทุกท่าน ทั้งนอกและในราชการขอจงประสบแต่ความสุขความเจริญโดยทั่วกันและขอได้โปรด ตระหนักถึงหน้าที่ยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีของครูที่ดีสืบไป เจ้าของคำขวัญ นายแพทย์บุญสม มาร์ติน
คำขวัญวันครู พ.ศ. 2523 - เป็นครูต้องยึดถือคุณธรรมของครู เจ้าของคำขวัญ ดร.ก่อ สวัสดิ์พาณิชย์
คำขวัญวันครู พ.ศ. 2524 - ครูที่แท้ต้องทำแต่ความดี ประพฤติปฏิบัติในระเบียบแบบแผนอันสมควรกับเกียรติภูมิของตน มีความรักในลูกศิษย์และอบรมปัญญาให้ลูกศิษย์มีความสมบูรณ์ทั้งทางด้านวิชาการ ความฉลาดรอบรู้ในเหตุและผล ทางด้านคุณธรรม จริยธรรม และทางด้านพลานามัย เจ้าของคำขวัญ ดร.สิปปนนท์ เกตุทัตฃ
คำขวัญวันครู พ.ศ. 2525 - ครูนั้น สังคมยกย่องนับถือว่าเป็นปูชนียบุคคล ทั้งนี้เพราะว่าครูเป็นผู้เสียสละ ยึดมั่นในคุณงามความดี และความถูกต้อง จึงขอให้รักษาความดีนี้ตลอดไป เจ้าของคำขวัญ ดร.เกษม ศิริสัมพันธ์ พ.ศ. 2526 - อนาคตของเด็กไทย อยู่ที่ความเอาใจใส่ของครูทุกคน เจ้าของคำขวัญ ดร.เกษม ศิริสัมพันธ์
คำขวัญวันครู พ.ศ. 2527 - ในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ 2527 ผมขอให้เพื่อนครูที่รักทั้งหลายและสมาชิกคุรุสภาทุกท่าน ประสบความสุขสิริสวัสดิ์พิพัฒน์มงคล สัมฤทธิ์ผลอันพึงปรารถนาตลอด เจ้าของคำขวัญนายชวน หลีกภัย
คำขวัญวันครู พ.ศ. 2528 - การที่บุคคลหนึ่งจะดำรงชีวิตได้อย่างดีนั้นมิใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะผู้เป็นครูมีแนวปฏิบัติที่ยากยิ่ง เป็นสิ่งน่าเห็นใจที่ครูจะต้องปฏิบัติโดยยึดถือความดีมีคุณธรรมระดับสูงกว่าบุคคลทั่วไป แต่ก็น่าภาคภูมิใจเมื่อครูผู้ปฏิบัตินั้น ได้รับความเชื่อถือ ศรัทธา และยอมรับจากสังคมมากขึ้น จึงขอให้เพื่อนครู ทุกท่านปฏิบัติตนด้วยความเสียสละ อดทน ยึดถือความดี มีคุณธรรมเพื่อจะบังเกิด ผลดีแก่ตนเอง ชุมชน และประเทศชาติสืบไป เจ้าของคำขวัญนายชวน หลีกภัย
คำขวัญวันครู พ.ศ. 2529 - ครูคือผู้พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณค่าต่อการพัฒนาชาติให้ก้าวหน้า และอยู่รอดปลอดภัย เจ้าของคำขวัญ นายชวน หลีกภัย
คำขวัญวันครู พ.ศ. 2530 - ครูดีมีวินัย และคุณธรรม ย่อมน้อมให้เยาวชนเป็นพลเมืองดี
เจ้าของคำขวัญ นายมารุต บุญนาค
คำขวัญวันครู พ.ศ. 2531 - ครูเป็นผู้สร้าง ครูเป็นผู้ให้ความหวัง ครูเป็นพลังให้ศิษย์เป็นคนดี
เจ้าของคำขวัญ นายมารุต บุญนาค
คำขวัญวันครู พ.ศ. 2532 - ครูดี มีจรรยา มุ่งค้นคว้าเพื่อพัฒนาเด็กไทย
เจ้าของคำขวัญ พลเอกมานะ รัตนโกเศศ
คำขวัญวันครู พ.ศ. 2533 - ครูคือผู้อุทิศทั้งชีวิตและจิตใจ ส่งเสริมเพิ่มพูนให้เยาวชนเป็นคนดี
เจ้าของคำขวัญ พลเอกมานะ รัตนโกเศศ
คำขวัญวันครู พ.ศ. 2534 - ครูคือผู้สร้างสรรค์ให้เยาวชนของชาติเป็นพลเมืองดี
เจ้าของคำขวัญ พลเอกมานะ รัตนโกเศศ
คำขวัญวันครู พ.ศ. 2535 - ครูคือ ผู้ให้ ผู้สร้าง ผู้พัฒนา และผู้นำเยาวชนของชาติ
เจ้าของคำขวัญ ดร.ก่อ สวัสดิ์พาณิชย์
คำขวัญวันครู พ.ศ. 2536 - ครูคือนักพัฒนา และรักษาสิ่งแวดล้อม
เจ้าของคำขวัญ นายสัมพันธ์ ทองสมัคร
คำขวัญวันครู พ.ศ. 2537 - ครูคือ ผู้มีคุณธรรม ชี้นำประชาธิปไตย สร้างเด็กไทยให้เป็นคนดี
เจ้าของคำขวัญ นายสัมพันธ์ ทองสมัคร
คำขวัญวันครู พ.ศ. 2538 - อุทิศเวลา รักษาคุณธรรม ชี้นำประชาธิปไตย สร้างเด็กไทยให้เป็นคนดี
เจ้าของคำขวัญ นายสัมพันธ์ ทองสมัคร
คำขวัญวันครู พ.ศ. 2539 - ครู เป็นหัวใจของการพัฒนาคน เจ้าของคำขวัญ นายสุขวิช รังสิตพล
คำขวัญวันครู พ.ศ. 2540 - ครูสร้างศิษย์ ด้วยมิตรและนำใจ ครูคือผู้ให้ เพื่อเยาวชนไทยได้พัฒนา
เจ้าของคำขวัญ นายสุขวิช รังสิตพล
คำขวัญวันครู พ.ศ. 2541 - ครูเป็นผู้นำทางปัญญา ชี้นำประชาธิปไตย สร้างเด็กไทยให้เป็นคนดี
เจ้าของคำขวัญ นายชุมพล ศิลปอาชา
คำขวัญวันครู พ.ศ. 2542 - ครูเป็นผู้เบิกทางแห่งปัญญา เจ้าของคำขวัญ นายปัญจะ เกสรทอง ครูชี้ทางสร้างสรรค์ภูมิปัญญา ชนเชิดบูชาพระคุณครู
เจ้าของคำขวัญ นางเซียมเกียว แซ่เล้า
คำขวัญวันครู พ.ศ. 2543 - ครูต้องมีจิตวิญญาณของความเป็นครู และประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี
เจ้าของคำขวัญ นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล สร้างชาติ สร้างคน ผลงานของครู ทั่วโลกรับรู้ เชิดชูบูชา
เจ้าของคำขวัญ นายประจักษ์ เสตเตมิ
คำขวัญวันครู พ.ศ. 2544 - พระคุณครูยิ่งใหญ่ สร้างไทยให้พัฒนา ขอบูชาคุณครู
เจ้าของคำขวัญ นางสาวสุทิสา ธนบดีไพบูลย์
คำขวัญวันครู พ.ศ. 2545 - สร้างคนสร้างชาติ สร้างศาสตร์ก้าวหน้า สร้างภูมิปัญญา ขอบูชาครู
เจ้าของคำขวัญ นายสุเทพ วิเศษศักดิ์ศรี
คำขวัญวันครู พ.ศ. 2546 - ครูให้ความรู้ ควบคู่จรรยา ปวงชนทั่วหล้า น้อมบูชาครู
เจ้าของคำขวัญ นางสมปอง สายจันทร์
คำขวัญวันครู พ.ศ. 2547 - ครูคือพลังสร้างแผ่นดิน ไทยทุกถิ่นน้อมบูชาพระคุณครู
เจ้าของคำขวัญ นางสาวพรทิพย์ ศุภกา
คำขวัญวันครู พ.ศ. 2548 - ครูสร้างคนสร้างชาติด้วยศาสตร์ศิลป์ ทั่วแผ่นศรัทธาบุชาครู
เจ้าของคำขวัญ นายประจักษ์ หัวใจเพชร
คำขวัญวันครู พ.ศ. 2549 - ครูดีเป็นศรัแผ่นดิน ศิษย์ทั่วถิ่นศรัทธาบูชาครู
เจ้าของคำขวัญ นางพรรณา คงสง
คำขวัญวันครู พ.ศ. 2550 - สิบหกมกรา เทิดทูน พ่อแผ่นดิน ภูมินทร์บรมครู ปี
เจ้าของคำขวัญ นางสาวศันสนีย์ แสนโรจน์
คำขวัญวันครู พ.ศ. 2551 - ครูของแผ่นดินเลิศศิลป์ศาสตร์ มหาราชภูมิพลฯ ชนบูชา
เจ้าของคำขวัญ นางพงษ์จันทร์ สุขเกษม
คำขวัญวันครู พ.ศ.2552 - ครูสร้างคนดี เป็นศรีแผ่นดิน ทั่วถิ่นศรัทธา บูชาคุณครู
เจ้าของคำขวัญ นางนฤมล จันทะรัตน์
คำขวัญวันครู พ.ศ. 2553 - น้อมจิตวันทา บูชาคุณครู กตัญญูกตเวที
เจ้าของคำขวัญ นายกันทา วงศ์จันทร์ทิพย์
คำขวัญวันครู พ.ศ. 2554 - เทิดพระเกียรติทั่วหล้า บูชาครูของแผ่นดิน ภูมินทร์ภูมิพล
เจ้าของคำขวัญ นางกนกอร ภูนาสูง
คำขวัญวันครู พ.ศ. 2555 - บูชาครูแห่งแผ่นดิน จอมปราชญ์ศาสตร์ศิลป์ สยามินทร์ ภูมิพล
เจ้าของคำขวัญ นางสาวขนิษฐา อุตรโส
คำขวัญวันครู ประจำปี 2556
"แปดสิบพรรษา พระราชินี ราษฏร์รัฐภักดี ครูศรีแผ่นดิน"
ของนายสะอาด สีหภาค จังหวัดศรีสะเกษ