สวัสดีครับเพือนๆ จากบทความที่แล้ว เรื่อง แถบไคเปอร์ ที่อยู่ของดาวพลูโต http://board.postjung.com/664360.html ว่าด้วยสถานที่อันห่างไกลจากโลกถึง 5,925,000,000 กิโลเมตร ที่นั่นมีดาวพลูโตอาศัยอยู่ในบริเวณแถบไคเปอร์ แต่โครงการที่จะสำรวจดาวพลูโตเกิดขึ้นก่อนที่มันจะถูกปลดออกจากดาวเคราะห์เป็นดาวเคราะห์แคระ ดังนั้นการสำรวจดาวพลูโตโดยการส่งยานขึ้นไปจึงได้เริ่มขึ้นเมื่อ 7 ปีก่อน โดยยานที่มีชื่อว่า นิวฮอไรซันส์ (New Horizons) เรามาติดตามเรื่องราวกันต่อดีกว่าครับว่ายานลำนี้ปัจจุบันได้เดินทางไปถึงไหนแล้ว นิวฮอไรซันส์ (New Horizons – ขอบฟ้าแห่งใหม่) เป็นยานสำรวจอวกาศของนาซาที่มีภารกิจสำรวจดาวพลูโต ดวงจันทร์บริวารคารอน และวัตถุอื่นๆ ในแถบไคเปอร์ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการเดินทางไปยังดาวพลูโต ติดตั้งแคปซูลหุ้มฉนวน ยานนิวฮอไรซันส์ ออกแบบโดยห้องปฏิบัติการ Applied Physics Laboratory (APL) มหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ ปล่อยขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2549 ด้วยจรวดแอทลาส 551 และจะเดินทางถึงดาวพลูโตประมาณเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2558 กำลังตกแต่งขั้นสุดท้าย ยานนิวฮอไรซันส์ เป็นยานลำแรกในโครงการ นิวฟรอนเทียร์ส (New Frontiers) ซึ่งเป็นโครงการสำรวจอวกาศขนาดกลางของนาซา (งบประมาณไม่เกิน 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ยาน นิวฮอไรซันส์ จะเป็นกุญแจที่ไขความลับของดาวพลูโตว่าจะเป็นดาวเคราะห์หรือไม่ (New Horizons: On to Pluto, Planet or Not) ติดตั้งบนฐานปล่อยจรวดแอตลาส ภายหลังจากยานนิวฮอไรซันส์ได้ทำการสำรวจดาวพลูโตเสร็จสิ้นแล้ว ก็จะเดินทางต่อไปยังแถบไคเปอร์ ซึ่งจะเป็นการเดินทางออกนอกระบบสุริยะที่ห่างไกลดวงอาทิตย์ นาซ่าได้ออกแบบยานไว้สำหรับเหตุการณ์นี้ไว้แล้ว เมื่อยานนิวฮอไรซันส์ต้องเดินทางห่างไกลดาวฤกษ์อย่างดวงอาทิตย์ จนไม่สามารถสังเคราะห์พลังงานแสงอาทิตย์ได้เพียงพอ ยานจะสามารถใช้พลังงานนิวเคลียร์มาผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บนตัวยานได้ และการเดินทางของยานในครั้งนี้ นาซ่าได้บรรจุเถ้ากระดูกของไคลด์ วิลเลียม ทอมบอ ผู้ค้นพบดาวพลูโต ไว้กับยานนิวฮอไรซันส์ด้วย ภาพขณะปล่อยยาน ความเร็วของยานโดยเฉลี่ยเท่ากับ 16.26 กิโลเมตร/วินาที หรือ (58,536 กิโลเมตร/ชั่วโมง หรือ 36,373 ไมล์/ชั่วโมง) ส่งผลให้ยานนิวฮอไรซันส์เป็นยานที่มีสถิติด้านความเร็วเป็นอันดับหนึ่ง จากวันที่ปล่อยยานสำรวจดาวพลูโต New Horizons จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 7 ปีกว่าแล้ว เรามาดูกันว่ายานได้เดินทางไปถึงไหนแล้ว ตาม Link : http://pluto.jhuapl.edu/mission/whereis_nh.php และภาพด้านล่างคือภาพที่แสดง ณ เวลาที่ผมกำลังพิมพ์อยู่้ครับ เพื่อนๆ ก็เข้าลิ้งค์ตรวจสอบได้นะครับว่ายานเดินทางไปถึงไหนแล้ว เส้นทางการเดินทางของยานนิวฮอริซันส์ เส้นสีเขียวคือเส้นทางที่ยานเดินทางผ่านมา เส้นสีแดงคือเส้นทางที่ยานจะเดินทางต่อไป โดย ณ วันนี้ 16 มีนาคม 2556 เวลา 14.00 น. (จากมุมด้านซ้ายของภาพ) ยานนิวฮอริซันส์ ได้เดินห่างจากโลกเป็นระยะทาง 26.05 A.U. หรือประมาณ 3,907,500,000 กม. แล้ว ซึ่งยังเหลือระยะทางที่จะไปถึงดาวพลูโตอีก 6.78 A.U. หรือประมาณ 1,017,000,000 กม. (1 A.U. มีค่าประมาณ 150 ล้านกิโลเมตร หรือ 93 ล้านไมล์) ถ้าไม่เกิดข้อผิดพลาด ยานสำรวจจะเดินทางถึงดาวพลูโตประมาณเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2558 ซึ่งเหลือเวลาอีกเพียง 2 ปีกว่าเท่านั้นเอง ข้อมูลที่ส่งกลับมายังโลกคงทำให้ความฝันของใครหลายๆ คน คงมีความสุขอย่างบอกไม่ถูกรวมทั้งผู้เขียนด้วย ดาวพลูโตอยู่ห่างไกลจากดวงอาทิตย์มากและได้รับแสงน้อย จึงมีอุณหภูมิต่ำมาก นักดาราศาสตร์จะได้ศึกษาดาวพลูโต และวัตถุในแถบไคเปอร์อย่างละเอียดในปี พ.ศ.2558 ซึ่งยานจำเป็นต้องไปให้ทันเวลา เพื่อให้ทันต่อการศึกษาวิจัยดาวพลูโต เพราะหากเมื่อดาวพลูโตมีวงโคจรห่างไกลจากดวงอาทิตย์ ดาวพลูโตจะเข้าสู่ฤดูหนาวยาวนานถึง 62 ปี และจะทำให้บรรยากาศกลายเป็นน้ำแข็งและร่วงลงสู่ผิวดาว ทำให้ไม่สามารถวิจัยบรรยากาศของดาวที่แท้จริงได้ และจะทำให้เสียองค์ประกอบทางด้านเคมีที่สำคัญในการวิจัยไป รวมถึง อุณหภูมิ ลม และโครงสร้างบรรยากาศของดาวไปด้วย ดาวพลูโตคล้ายกับเทหวัตถุในแถบไคเปอร์ ซึ่งอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ แถบไคเปอร์ซึ่งอยู่นอกวงโคจรของดาวเนปจูน การค้นพบเทหวัตถุในแถบไคเปอร์จำนวนมาก ทำให้นักดาราศาสตร์ส่วนใหญ่ไม่ยอมรับว่าดาวพลูโตเป็นดาวเคราะห์อีกต่อไปแต่ถือว่ามันเป็นเทหวัตถุขนาดใหญ่ที่สุดในแถบไคเปอร์ ดังนั้นการเดินทางครั้งนี้ก็จะเป็นการพิสูจน์ว่า ดาวพลูโตเป็นเพียงหนึ่งในก้อนน้ำแข็งจำนวนมากของแถบไคเปอร์หรือไม่ หรือมีองค์ประกอบที่มีมวลสารเป็นอย่างอื่น ดาวพลูโตอาจได้กลับมาเป็นดาวเคราะห์ของระบบสุริยะอีกครั้งหรือไม่ คงขึ้นอยู่กับผลการสำรวจของยานนิวฮอไรซันส์ ที่กำลังเดินทางใกล้จะถึงจุดหมายแล้ว ภาพวาดพื้นผิวของดาวพลูโต ซี่งน่าจะประกอบไปด้วยก๊าซมีเทน และ จุดสว่างเล็กๆ ด้านขวาคือดวงอาทิตย์ อีกเพียง 2 ปีเองครับ ที่เราจะได้ข้อมูลจากยานนิวฮอไรซันส์ ว่าจริงๆ แล้วดาวพลูโตมีสภาพเป็นอย่างไรกันแน่ และก็คงได้ทราบเกี่ยวกับกลุ่มเทหวัตถุที่อยู่ในแถบไคเปอร์ด้วยว่ามีอะไรกันบ้าง หรือบางทีเราอาจจะพบอะไรที่เราคาดไม่ถึงก็เป็นได้ ก็คงต้องเอาใจช่วยยานสำรวจลำนี้ให้เดินทางโดยปลอดภัย ที่ท่องอวกาศมา 7 ปี กับเถ้ากระดูของ ไคลด์ วิลเลียม ทอมบอ ผู้ค้นพบดาวพลูโตอย่างโดดเดี่ยว อีกสองปีข้างหน้าผมจะมารายงานให้เพื่อนๆ ได้รับข้อมูลกัน รอหน่อยนะครับ...mata
|