สวัสดีครับเพื่อนๆ เมื่อสองวันได้พิมพ์เรื่อง 18 ปี ชีวิตจั๊กจั่น กับการได้ขับขานเสียงเพลงแห่งป่า "เพียง 4 เดือน"http://board.postjung.com/688020.html#cmn25 คุณนิรันดร์ เพื่อนสมาชิกคอมเม้นท์ไว้ว่า "ตัวอ่อนที่ฝังอยู่ใต้ดินชาวบ้านจะเอามาปลุกเสกเป็นของขลัง" ทำให้ผมนึกถึงว่านจั๊กจั่นที่ได้ยินชาวบ้านพูดถึงกันพอสมควร เลยอยากไขข้อข้องใจเพื่อให้ผู้อ่านได้ทราบข้อเท็จจริงของว่านจั๊กจั่นว่า จริงๆ แล้วมันคืออะร ส่วนเพื่อนๆ ที่ได้อ่านบทความเรื่อง 18 ปี ชีวิตจั๊กจั่น ฯ ก็พอจะเดาออกแล้วใช่หรือเปล่าครับ
ตามคำบอกเล่าของชาวบ้านนั้น เชื่อว่า "ว่านจักจั่น" หรือ "ว่านต่อเงินต่อทอง" เป็นว่านกึ่งพืชกึ่งสัตว์ประเทภเดียวกับพวกมักกะลีผล ลักษณะเป็นพืชล้มลุก ต้นอยู่บนดิน ส่วนหัวจะโผล่ขึ้นมา มีหลายรูปแบบทั้งคล้ายดอกเห็ดเข็มทอง, ดอกเข็ม, ดอกบัวตูม, แบบเขากวาง และแบบงวงช้าง เมื่อขุดลงไปใต้ดินจะพบรากเกาะกันเป็นกระจุกๆ 2 - 3 ตัว มีขนาดประมาณ 3 - 5 นิ้ว มีลักษณะรูปร่างเหมือนตัวจักจั่นทุกประการ ทั้งหัว ลูกตา ลำตัวที่มีสีขาวและอ่อนนิ่ม รวมทั้งกลิ่นตัว และเสียงร้องที่จะดังขึ้นมาในบริเวณที่มีว่านชนิดนี้ ซึ่งว่ากันว่าหากใครได้ยินเสียงร้องของว่านจักจั่นจะถือว่าโชคดี และถ้าผู้ใดมีบูชาก็จะมีทรัพย์สินงอกเงยไม่ขาดมือ ทั้งนี้ยังมีหลายคนเชื่อว่า นอกจาก "ว่านจักจั่น" จะช่วยบันดาลโชคลาภให้แล้ว ยังเป็นยาขนานเอกที่จะช่วยรักษาโรคภัยไข้เจ็บให้คนป่วยหายได้ด้วย ทำให้มีหลายคน นำ "ว่านจักจั่น" มาต้มน้ำดื่ม จนมีอาการปวดท้อง เวียนศีรษะ ถูกนำส่งโรงพยาบาลกันหลายราย เป็นลำดับภาพที่ขุดว่านจั๊กจั่น (จั๊กจั่นที่โดนราฝังตัวอยู่) มีคำร่ำลือกันว่า "ว่านจักจั่น" เป็นสิ่งมหัศจรรย์ มักจะโผล่มาเฉพาะหัวเขาเล็กๆ เท่านั้น ซึ่งหาพบได้ยากมาก เพราะมีเทวดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์เฝ้ารักษาอยู่ ถ้าไม่ต้องการให้ผู้ใดพบเห็นก็จะไม่มีทางได้พบเจอ เพราะรุกขเทวดาจะบังตาไว้ ส่วนใหญ่มักขึ้นบริเวณภูเขาควายประเทศลาว และเทือกเขาแดนลาว ชายแดนไทย-ลาว ส่วนที่ประเทศไทยสามารถพบได้ที่ภูกระแต จังหวัดเลย และในอีกหลายพื้นที่ ความจริงก็คือ จั๊กจั่นตัวอ่อนในช่วงที่ขึ้นมาลอกคราบเป็นตัวเต็มวัยเหนือดิน เพื่อเข้าสู่ตัวเต็มวัยเพื่อสืบพันธุ์ตามวงจรชีวิต ในระยะนี้จั๊กจั่นจะอ่อนแอมาก ร่วมกับอากาศชื้นจากฤดูร้อนสู่ฤดูฝนที่มีความชื้นสูง ทำให้เชื้อราที่แพร่กระจายได้ดีในอากาศ เมื่อเชื้อราตกลงไปอยู่บนตัวจั๊กจั่นผู้อ่อนแอ จึงทำให้เชื้อราสามารถแทงเส้นใยเข้าไปและงอกงามภายใจตัวจั๊กจันได้ดี โดยดูดน้ำเลี้ยงในตัวจั๊กจั่นเป็นอาหาร และทำให้จั๊กจั่นตายในที่สุด เมื่อจั๊กจั่นตายแล้วเชี้อราหมดทางหาอาหารได้จึงต้องพยายามไปหาอาหารที่อื่น โดยการสร้างโครงสร้างสืบพันธุ์ที่มีลักษณะเหมือนเขายืดขึ้นเหนือพื้นดิน (ลักษณะที่เหมือนเขาของว่านจั๊กจั่น) สปอร์ หรือ หน่วยสืบพันธุ์ที่ติดอยู่บริเวณปลายเขาที่สร้างขึ้นเหนือพื้นดิน จะต้องอาศัยลมหรือน้ำในการพัดพาให้ไปตกอยู่ในที่อื่นๆ เพื่อค้นหาจั๊กจั่นโชคร้ายตัวต่อไป" ก็สำหรับเพื่อนๆ ที่ได้อ่านบทความที่แล้วก็จะเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้นนะครับ ความเชื่อของผู้คนในอดีต เป็นความศรัธทาที่บริสุทธิ์ ก็เป็นกำลังใจให้มุ่งมั่นในการทำงาน และทำแต่ความดี แต่ความเชื่อบางครั้งก็เป็นอันตราย อย่างกรณีนำไปใส่น้ำเพื่อดื่มแก้โรคภัยไข้เจ็บ เชื่ออย่างมีสติและต้องไม่หลงงมงาย จนตกเป็นเหยื่อของพวกนักต้มตุ๋นนำมาหลอกขายในราแพง ซึ่งบางตัวราคาเป็นแสนบาท ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่นำมาฝากเพื่อนๆ ให้ได้อ่านกัน แล้วพบกันใหม่ครับ... mata ปล. เรื่องที่เขียนส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นสาระ เกร็ดความรู้ ที่ไม่ได้อยู่ในกระแสสักเท่าไหร่ ยอดผู้เข้าชมจึงน้อยกว่าเรื่องทั่วไปที่วัยรุ่นชอบเข้าไปอ่านกัน จึงขอบคุณเพื่อนๆ ทุกคน ทั้งที่คอมเม้นท์ โหวต และ ไม่ได้คอมเม้นท์ โดยเฉพาะ ต้องขอบคุณเจ้าหน้าที่ประจำบอร์ด ที่กรุณานำเสนอบทความที่ผมเขียนให้ทุกเรื่อง ขอบคุณทุกคนครับ เรียบเรียงโดย พรชัย สังเวียนวงศ์ (mata) ขอบคุณภาพจาก ขอบคุณแหล่งข้อมูล ที่มา: ข้อมูลจาก ธิติยา บุญประเทือง ภัณฑารักษ์ พิพิธภัณฑ์เห็ดรา ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ
http://www.biotec.or.th/brt/index.php/biodiversity/320-cordyceps-sobolifer
|