ประวัติของสุนัขพันธุ์อเมริกันพิทบูล
ในช่วงศตวรรษที่19 ผู้ที่นิยมสุนัขในประเทศอังกฤษ ไอร์แลนด์ และสก๊อตแลนด์ ได้เริ่มที่จะผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างบูลด๊อกตัวที่เหนียวที่สุดกับ สุนัขเทอร์เรียตัวที่กล้าหาญ ที่สุด และดีที่สุดเข้าด้วยกัน ผลจากการผสมข้ามสายนี้ในไม่ช้าก็รู้กันว่าพวกมันคือ สุนัข บูล แอนด์ เทอร์เรีย(Bull-and-Terrier) หรือพวกมันก็คืออเมริกันพิทบูลนั่นเอง เพื่อต้องการที่ จะได้สุนัขที่มีลักษณะของการล่าเหยื่อ(เกมส์)ของสุนัขพันธุ์เทอร์เรีย กับ ความแข็งแกร่ง และความปราดเปรียวที่เหมือนกับสุนัขพันธุ์บูลด๊อก ผลที่ออกมานั้นก็คือสุนัขที่ประกอบไป ด้วยความเป็นนักสู้ผู้ยิ่งใหญ่ แข็งแรง ทรหด อดทน และอ่อนโยนกับคนที่มันรัก ผลของ การอพยพปรากฏว่ามีคนได้นำสุนัข บูล แอนด์ เทอร์เรีย นี้ไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้คนที่เป็นเกษตรกรและเจ้าของฟาร์มปศุสัตว์ได้มองเห็นความสามารถ ของสุนัขพันธุ์ อเมริกันพิทบูลและได้ใช้มันในการปกป้องทรัพย์สิน
เป็นสุนัขที่ใช้สำหรับการไล่ล่า ต้อนฝูง ปศุสัตว์(วัว หมู) รวมทั้งเลี้ยงเอาไว้เป็นเพื่อนสมาชิกในครอบครัว ปัจจุบันนี้สุนัขพันธุ์อเมริกัน พิทบูลแสดงความสามารถได้ในหลากหลายด้านด้วยกัน อย่างเช่นการฝึกให้ เชื่อฟังคำสั่ง ความสามารถในการสะกดรอย การแข่งขันเรื่องของความเร็ว (Agility) เป็นสุนัขอารักขา ความเฉลียวฉลาดในการทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับสายพันธุ์นี้โดยเฉพาะเช่น การลากน้ำหนัก
ยูไนเต็ด เคนนัล คลับ (ยูเคซี) เป็นผู้ขึ้นทะเบียนสุนัขพันธุ์อเมริกันพิทบูลเป็นรายแรก โดยที่ ซี แซท เบ็นเน็ทท์เป็น ผู้ก่อตั้งยูไนเต็ด เคนนัล คลับ(ยูเคซี) เขาได้มอบหมายให้ ยูเคซี เป็นผู้ที่จดทะเบียนเป็นรายแรกโดยการนำพิทบูลของตนเองมากำหนดเป็นมาตรฐาน ภายใต้ชื่อ เบ็นเน็ทท์ ริง ในปี 1898
รูปร่างลักษณะทั่วไป(General Appearance)
สุนัขพันธุ์อเมริกันพิทบูล มีขนาดรูปร่างปานกลาง มีสัดส่วนที่พอดี ขนสั้นเรียบ เป็นมันเงางามและมีกล้ามเนื้อที่เด่นชัดมาก สุนัขสายพันธุ์นี้เต็มไปด้วยพละกำลังและมีความปราดเปรียวเป็นอย่างมาก และมีรูปร่างที่ค่อนข้างยาวกว่าส่วนสูง แต่ตัวเมียอาจมีรูปร่างที่ยาวกว่าตัวผู้ ความยาวของขาหน้า(วัดจากข้อศอกถึงพื้น) ประมาณครึ่งหนึ่งของความสูงของสุนัขทั่วไป หัวมีความยาวปานกลาง กว้าง ส่วนกะโหลกนั้นจะแบนเรียบและค่อนข้างจะกว้าง ประกอบด้วยขากรรไกรที่แข็งแรงและกว้างใหญ่ หูจะมีขนาดที่เล็กจนถึงปานกลาง หูตั้ง และบางทีก็อาจจะมีลักษณะที่เป็นธรรมชาติ(ไม่ได้ตัดหู) หรืออาจจะตัดหูหรือไม่ตัดหูก็ได้ หางสั้นชี้ลง โคนหางใหญ่ และเรียวเล็กลงไปถึงปลายหาง อเมริกันพิทบูลมีทุกสี และมีทุกลาย สุนัขพันธุ์นี้จะต้องปรากฏให้เห็นถึงความแข็งแกร่ง กระฉับกระเฉง สง่างามและไม่ควรที่จะเทอะทะมากไปจนกล้ามเนื้อทั้งหลายขัดขวางต่อการเคลื่อนไหวของร่างกาย ความสมดุลนั้นควรจะมีสัดส่วนที่เหมาะสมต่อกันและกัน สุนัขพันธุ์นี้ไม่ควรที่จะผอมจนเห็นกระดูก
บุคลิกลักษณะ (Characteristics)
ลักษณะเฉพาะของสุนัขพันธุ์อเมริกันพิทบูลก็คือ ความแข็งแกร่ง มีความเชื่อมั่นในตัวของมันเอง และมีชีวิตที่กระหายใคร่รู้ต่อทุกสิ่งที่อยู่รอบๆตัวมัน สุนัขพันธุ์นี้ชอบให้คนดูแลเอาใจใส่ และมีความกระตือรือร้นมาก สุนัขพันธุ์อเมริกันพิทบูลเป็นเพื่อนกับทุกคนที่อยู่ในครอบครัวได้เป็นอย่างดี และมีความรักเด็ก เนื่องจากสุนัขพันธุ์นี้ ส่วนใหญ่มักจะแสดงความก้าวร้าวกับสุนัขทั่วไป และด้วยความแข็งแรงที่แสดงให้เห็นถึงการมีพละกำลังในรูปร่างของพวกมัน ดังนั้นสุนัขสายพันธุ์นี้จึงต้องการเจ้าของที่สามารถอบรมหรือฝึกให้เชื่อฟังคำสั่งได้ ธรรมชาติของสุนัขพันธุ์นี้มีความปราดเปรียว กระฉับกระเฉงโดยธรรมชาติ ความว่องไวของสุนัขพันธุ์นี้ทำให้พวกมันเป็นหนึ่งในสุนัขที่มีความสามารถในการปีนข้ามรั้ว อเมริกันพิทบูลไม่เหมาะที่จะเลือกไว้เป็นสุนัขอารักขา(Guard dog) เนื่องจากพวกมันค่อนข้างมีอัธยาศัยที่ดีกับคนแปลกหน้า นิสัยดุดันกับคนไม่ใช่บุคลิกลักษณะของพวกมัน สุนัขพันธุ์นี้มีความสามารถในหลากหลายด้าน เพราะมีความฉลาดมากเป็นพิเศษ รวมทั้งความกระตือรือร้นในการที่จะทำงาน สุนัขพันธุ์อเมริกันพิทบูลมีความสามารถในการทำสิ่งต่างๆได้เป็นอย่างดี หากแต่ว่าข้อบกพร่องของสุนัขสายพันธุ์นี้ ได้ตัดคะแนนความนิยมและความสามารถของมัน
หัว (Head)
หัวของสุนัขอเมริกันพิทบูลนับได้ว่ามีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น หัวของอเมริกันพิทบูลจะต้องมีกะโหลกใหญ่ และกว้าง ซึ่งให้ความรู้สึกได้ถึงความมีพละกำลังที่แข็งแรง แต่ว่าหัวของสุนัขพันธุ์นี้ไม่ได้สัดส่วนกับขนาดรูปร่างของมัน เมื่อมองดูจากด้านหน้า หัวของอเมริกันพิทบูลจะมีลักษณะคล้ายลิ่ม กว้าง ทู่ แต่เมื่อมองดูจากด้านข้าง กะโหลกและปากของมันจะขนานกัน และมีตำแหน่งจรดกันที่จุดลึกปานกลาง มีส่วนเว้าบนขอบเบ้าตา(รอยเว้าแหว่งมีได้เฉพาะบริเวณข้างลูกตา) แต่ไม่เด่นมาก หัวมีส่วนประกอบที่ชัดเจน ผสมผสานกับความแข็งแกร่ง ได้อย่างสวยงามซึ่งเป็นบุคลิกลักษณะเฉพาะตัว
หัวกะโหลก (Skull)
กะโหลกที่ใหญ่ แบน หรือค่อนข้างกลม ลึก และกว้างระหว่างตา เมื่อมองจากข้างบน กะโหลกจะเรียวไปด้านหน้า กล้ามเนื้อที่แก้มเห็นได้อย่างเด่นชัด แต่จะต้องไม่มีรอยเหี่ยวย่นบนหน้าผาก เมื่อใดที่สุนัขพันธุ์นี้อยู่ในระหว่างใจจดใจจ่อ(ตั้งใจ) รอยย่นจะปรากฏขึ้นบนหน้าผากได้ ซึ่งถือว่าเป็นเอกลักษณ์ที่น่าสนใจของสุนัขสายพันธุ์นี้
ปาก (Muzzle)
ปากกว้างและลึก โดยมีความเรียวเล็กน้อยที่ปลายจมูก และลาดลงเล็กน้อยใต้ตา ความยาวของปากสั้นกว่าความยาวของกะโหลก ในอัตราส่วนประมาณ2:3ที่ซึ่งขนานกัน เส้นบนของปากเป็นเส้นตรง ส่วนกรามล่างนั้นจะกว้างและลึก ริมฝีปากสะอาดและตึง
ข้อบกพร่อง (Faults) ปากแหลมเหมือนปากนก ปากเล็ก และกรามล่างไม่แข็งแรง
ฟัน (Teeth)
อเมริกันพิทบูลมีฟันที่สมบูรณ์ในช่วงระยะห่างที่เท่ากัน ฟันขาวที่สบกันแบบกรรไกร
ข้อบกพร่อง(Faults): ฟันบนและล่างไม่สบกันแบบกรรไกรกัน
ข้อบกพร่องที่ร้ายแรง(Serious Faults): ฟันล่างยื่นล้ำฟันบนออกมาหรือฟันบนยื่นล้ำฟันล่างออกมามากเกินไป (Undershot or Overshot) ปากเบี้ยว ฟันขาด (ไม่ครบชุด)
จมูก (Nose)
จมูกใหญ่และมีรูจมูกที่กว้าง อาจมีจมูกได้หลายสี
ตา (Eyes)
ตามีขนาดปานกลาง มีชีวิตชีวา กลมเหมือนถั่วอัลมอนด์ ตาอยู่ในตำแหน่งดี ต่ำกว่ากะโหลก ตาทุกสียอมรับได้ ยกเว้นตาสีฟ้า ที่ซึ่งถือว่าเป็นข้อบกพร่องที่ร้ายแรง และไม่ควรมองเห็นเยื่อของเปลือกตาที่ปลิ้นออกมา
ข้อบกพร่อง: ตาสีฟ้า
ข้อบกพร่องที่ร้ายแรง: ตาโปน ตาทั้งสองข้างคนละสี ตาสีฟ้า
หู (Ears)
ใบหูที่ระวังระไวและมีชีวิตชีวานั้นจะตั้งสูง อาจจะตัดหูหรือไม่ตัดหูก็ได้แล้วแต่ความชื่นชอบของแต่ละบุคคล ถ้าหูเป็นแบบธรรมชาติที่ซึ่งไม่ได้ตัดหูนั้น อาจจะพับครึ่งลงมาหรืออาจจะตั้งตรง หรือแบนเรียบ สำหรับหูที่กว้างเกินไปไม่เป็นที่ต้องการ
คอ (Neck)
คอมีความยาวปานกลาง แข็งแรงและเต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ เป็นเส้นโค้งพอเหมาะบรรจบกับหลัง คอค่อยๆกว้างออกจากจุดเชื่อมกะโหลกไปถึงไหล่ มีขนคอที่แน่นตึง ไม่มีเหนียง
ข้อบกพร่อง: คอสั้นมากและหนา คอเล็กหรือไม่แข็งแรง คอคล้ายกับแกะตัวเมีย มีเหนียง
ส่วนหน้า (Forequarters)
กระดูกหัวไหล่ยาว กว้าง ที่เต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ และอยู่ค่อนไปทางข้างหลัง กระดูกหัวไหล่นี้จะมีความยาวเกือบเท่ากับความยาวของกระดูกขาท่อนบน และกระดูกจะต้องอยู่ในมุมได้อย่างถูกต้อง ขาหน้าแข็งแรง และเต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ ข้อศอกอยู่ในตำแหน่งที่ใกล้กับลำตัว เมื่อมองจากด้านหน้า ตำแหน่งของขาหน้าจะกว้างออกได้อย่างชัดเจน และตั้งฉากกับพื้นดิน กระดูกที่ติดกับกระดูกขาท่อนล่างของขาหน้านั้นจะสั้น แข็งแรง ตั้งตรง และมีความยืดหยุ่นได้เป็นอย่างดี เมื่อมองจากด้านข้าง กระดูกที่ติดกับกระดูกขาท่อนล่างของขาหน้านี้เกือบจะตั้งตรง
ข้อบกพร่อง: มีไหล่สูงหรือตั้งเกินไป ข้อศอกบิดงออย่างชัดเจน หรือติดกันจนเกินไป ขาในส่วนที่ต่อจากกระดูกขาท่อนล่างของขาหน้าจะอยู่ในระดับต่ำเกินไป ข้อเท้าสูง นิ้วเท้าหลบใน หรือโผล่ออกมามากเกินไป
ลำตัว (Body)
ลำตัวใหญ่ กว้าง และมีลักษณะกลมและลึกลงมาตลอดลำตัวจนถึงบริเวณอก เพื่อใช้เป็นพื้นที่สำหรับหัวใจและปอด แต่ความกว้างของช่วงอกควรมีสัดส่วนที่พอดีกับความลึก คือความกว้างไม่มากกว่าความลึก ช่วงอกหน้าไม่ควรขยายมากเกินกว่าหัวไหล่ซี่โครงแผ่ขยายจากกระดูกสันหลัง และไปเชื่อมกับข้อศอก ประกอบกันเป็นรูปร่างลำตัวที่ดูลึก ส่วนบนโค้งลงเล็กน้อยจากตะโพก ถึงหลัง ช่วงท้องสั้น โค้งเล็กน้อยไปถึงส่วนบนของตะโพก ตะโพกลาดลงเล็กน้อย
ช่วงหลัง (Hindquarters)
ช่วงหลังแข็งแรง เต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ และมีความกว้างอย่างเหมาะสมตะโพกมีสัดส่วนดีระหว่างทั้งสองด้าน และลึกจากกระดูกเชิงกรานถึงจุดอวัยวะเพศ กระดูก และ ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อช่วงหลังสมดุลกับช่วงหน้า ขาท่อนบนหนาได้รูป เห็นกล้ามเนื้อได้อย่างชัดเจน เมื่อมองจากด้านข้างข้อเท้ามีส่วนโค้งที่ได้สัดส่วน และอุ้งเท้าหลังอยู่ในตำแหน่งดี และตั้งฉากกับพื้น เมื่อมองจากด้านหลัง อุ้งเท้าหลังตรงเป็นรูปขนาน
ข้อบกพร่อง: ช่วงหลังแคบและสั้น จากกระดูกเชิงกรานถึงอวัยวะเพศไม่มีกล้ามเนื้อ ข้อต่อตรงหรือเป็นเหลี่ยมมุมมากเกินไป ข้อเท้าเหมือนข้อเท้าวัว ขางอ
เท้า (Feet)
เท้ากลม มีสัดส่วนเหมือนสุนัขทั่วไป นิ้วเท้าโค้งคุ้มได้ขนาด อุ้งเท้าแข็งแรง และรองรับกันดี นิ้วเล็บส่วนเกิน(นิ้วติ่งหรือนิ้วหัวแม่มือ) อาจจะถูกกำจัดออกไปก็ได้
ข้อบกพร่อง: เท้าแบะ
หาง (Tail)
หางอยู่ในตำแหน่งที่ต่อมาจากส่วนบน และเรียวลงล่าง เมื่อสุนัขอยู่ในอารมณ์ที่เป็นปกติ หางจะชี้ลงอยู่ในตำแหน่งระดับข้อเท้า เมื่อสุนัขเคลื่อนไหว หางจะอยู่ในระดับเส้นหลัง เมื่อสุนัขอยู่ในอาการตื่นเต้น หางจะยกขึ้น แต่ไม่ม้วนมากจนถึงหลัง
ข้อบกพร่อง: หางยาวกว่าระดับข้อเท้า
ข้อบกพร่องที่ร้ายแรง: หางม้วน หางงอ
ข้อห้ามที่ทำให้หมดสิทธิ์: หางพุ่ม
ขน (Coat)
ขนมีลักษณะเป็นเส้นตรง สั้น เรียบติดตัว เป็นเงางาม เรียบ ละเอียด และการจัดวางของเส้นขนจะหยาบเพียงพอสำหรับที่จะป้องกันผิวหนังได้
ข้อบกพร่อง: ขนงอหยิก ม้วนเป็นคลื่น ขนบางไม่หนา
ข้อบกพร่องที่ร้ายแรง: ขนยาว สี (Color)
สุนัขพันธุ์นี้จะออกมาในหลากหลายสีสัน จากสีครีมไปจนถึงสีดำ รวมทั้งเฉดสีน้ำตาลแกมเหลืองและสีแดง ลายเสือรูปแบบของลายซึ่งเราอาจจะเห็นในหลายๆเฉดสี ก็ยังเป็นที่น่าจับตาเป็นพิเศษ แต่ละสียังมีความแตกต่างกันอย่างมากมาย
ความสูงและน้ำหนัก (Height and Weight)
อเมริกันพิทบูลควรมีความแข็งแรงและความว่องไว ดังนั้นน้ำหนักและส่วนสูงไม่ค่อยจะมีความสำคัญซักเท่าไหร่ สัดส่วนที่พอดีของน้ำหนักและส่วนสูงนั้น น้ำหนักสำหรับสุนัขตัวผู้(ที่โตเต็มที่แล้ว) อยู่ระหว่าง35-60ปอนด์ น้ำหนักสำหรับตัวเมีย (ที่โตเต็มที่แล้ว) จะอยู่ระหว่าง30-50ปอนด์ หากสุนัขที่มีน้ำหนักไม่อยู่ในเกณฑ์นี้ก็ไม่เป็นไร แต่ว่าจะต้องไม่ผอมจนเกินไป หรือมีสัดส่วนน้ำหนักและส่วนสูงที่มากเกินไป
ท่าทางการเดินและการวิ่ง (Gait)
อเมริกันพิทบูลเคลื่อนไหวด้วยความว่องไว มั่นใจ แสดงให้เห็นถึงความคาดหวังที่จะพบกับสิ่งใหม่ๆและน่าตื่นเต้น เวลาเดินเหยาะๆ ท่าเดินจะเรียบและมั่นคง เมื่อเคลื่อนไหว เส้นหลังคงระดับความโค้งเล็กน้อย แสดงถึงความอ่อนโยน เมื่อมองจากทุกด้าน ขามีการประสานกันเป็นอย่างดี เมื่อเร่งความเร็วขึ้น ขาจะเบนเข้าหากันที่จุดศูนย์กลางอย่างสมบูรณ์
ข้อบกพร่อง: ขาเคลื่อนไหวไม่สัมพันธ์กัน ย่างก้าวของขามากเกินไป ขาพันกันไปมา ขาหลังเคลื่อนไหวใกล้หรือเกือบเตะขาหน้า การวิ่งหรือเดินที่เอียงข้าง
ข้อห้ามในการตัดสิน (Disqualifications)
โมโหร้าย หรือมีความขี้อายมาก หูหนวกข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง หางพู่ สุนัขเผือก
ข้อสังเกต แม้ว่าความก้าวร้าวเป็นลักษณะหนึ่งของสายพันธุ์นี้ ผู้เลี้ยงควรทำตามนโยบาย/คำแนะนำของยูเคซี เนื่องจากยูเคซีมีประสบการณ์ถึงความขี้โมโหของสุนัขสายพันธุ์นี้เป็นอย่างดี
เนื้อหาโดย: Queen Cobra
|