เราคงเคยได้ยินเรื่องราวของบุคคลอัจฉริยะ หรือผู้ที่มีมันสมองปราดเปรื่อง ซึ่งสามารถพิชิตเป้าหมายของตนเอง สร้างผลงานสุดพิเศษให้โลกได้ประจักษ์ ด้วยวัยที่ไม่มีใครคาดว่าพวกเขาจะทำได้มาแล้ว ก็จะขอนำเรื่องราวจาก เว็บไซต์ Theweek.com ของ 6 สุดยอดวัยรุ่นที่สามารถบรรลุเป้าหมายของพวกเขาได้สำเร็จ จนได้ชื่อว่าเป็นผู้ประสบความเสร็จด้วยวัยที่น้อยที่สุดในแต่ละสาขา มาฝากทุก ๆ คนค่ะ
เกเบรียล เทิร์นเควสต์ (Gabrielle Turnquest)
1. ผู้พิชิตการสอบทนายของอังกฤษสำเร็จ ที่อายุน้อยที่สุด คงจะไม่ผิดหากเราจะบอกว่า เกเบรียล เทิร์นเควสต์ (Gabrielle Turnquest) เด็กสาวจากฟลอริด้า สหรัฐฯ เป็นหนึ่งในบุคคลอัจฉริยะอย่างร้ายกาจ เพราะเธอสามารถจบการศึกษาจากคณะจิตวิทยา มหาวิทยาลัยลิเบอร์ตี้ ( Liberty University) ของรัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐฯ ด้วยวัยเพียง 16 ปี ก่อนจะบินไปเรียนต่อทางด้านกฎหมายที่ประเทศอังกฤษ จนกระทั่งในอีก 2 ปีต่อมา ขณะที่เธอมีอายุ 18 ปี เกเบรียล ก็กลายมาเป็นบุคคลที่ผ่านการสอบทนายของอังกฤษมาได้ด้วยอายุที่น้อยที่สุด และในตอนนี้ เกเบรียล ก็ได้กลายมาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายแฟชั่นแล้ว
โช ยาโน (Sho Yano)
2. เด็กน้อยที่เข้าเรียนแพทย์ตั้งแต่ยังไม่เข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ในวัยเด็ก โช ยาโน (Sho Yano) อัจฉริยะจากพอร์ตแลนด์ รัฐออริกอน สหรัฐฯ สามารถเล่นเปียโนในบทเพลงของโชแปงได้ด้วยวัยเพียง 3 ขวบ และสามารถแต่งทำนองเพลงได้เอง ในตอนที่เขามีอายุได้ 8 ขวบ โชก็สามารถทำสถิติการสอบ SAT ได้ 1,500 คะแนน จากคะแนนเต็ม 1,600 คะแนน ก่อนจะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยโลโยลา ของรัฐชิคาโกในปีถัดมา และสามารถจบการศึกษามาด้วยคะแนนเกียรตินิยมภายใน 3 ปีเท่านั้น จากนั้นต่อมา ใน พ.ศ. 2546 โช ก็ได้ก้าวเข้ามาเป็นนักเรียนแพทย์ที่อายุน้อยที่สุดของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยชิคาโก และกลายมาเป็นนายแพทย์ที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยชิคาโก ด้วยวัยเพียง 21 ปี
เทย์เลอน์ วิลสัน (Taylor Wilson)
3. วัยรุ่นผู้ปูทางไปสู่การใช้พลังงานนิวเคลียร์อย่างปลอดภัย
ขณะที่พลังงานนิวเคลียร์กลายมาเป็นพลังงานทางเลือกที่จะช่วยปลดปล่อยสหรัฐฯ จากการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล แต่ก็เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า พลังงานนิวเคลียร์นั้นได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อสิ่งแวดล้อมของโลก และด้วยเหตุนี้ เทย์เลอน์ วิลสัน (Taylor Wilson) วัย 19 ปี ได้ออกแบบเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูแบบแยกส่วนขึ้น ซึ่งนอกจากจะมีขนาดเล็กกว่า และมีค่าใช้จ่ายระหว่างการทำงานต่ำกว่าแล้ว ยังปลอดภัยกว่าด้วย ซึ่งเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณู ของเทน์เลอน์นั้นสามารถประหยัดพลังงานได้ถึง 15 เปอร์เซ็นต์ของเครื่องปฏิกรณ์ที่ใช้อยู่ในทุกวันนี้ โดยจะต้องมีการเติมเชื้อเพลิงทุก ๆ 30 ปี แทนการเติมทุก ๆ 18 เดือน อย่างในเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้ เทย์เลอน์ เผยว่า ผลงานการออกแบบของเขา จะไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแม้แต่น้อย เพราะมันเป็นการนำพลังงานที่เหมาะสมมาใช้เพื่อพัฒนาโลก และพลังงานจรวดเพื่อสำรวจอวกาศ ซึ่งอาจกลายมาเป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าที่ปราศจากคาร์บอนก็ได้
สตีเฟน บาคคัส (Stephen Baccus)
4. ทนายความที่อายุน้อยที่สุดในสหรัฐฯ ด้วยความชื่นชอบทางด้านกฎหมาย ทำให้ สตีเฟน บาคคัส (Stephen Baccus) ซึ่งจบการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ในระดับมหาวิทยาลัยในวัยเพียง 14 ปี ตัดสินใจเข้าร่วมการสอบทนายของรัฐฟลอริด้า สหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2529 ขณะที่เขามีอายุได้ 17 ปี ซึ่งเขาก็ผ่านการสอบแสนยากนั้นมาได้อย่างงดงาม ทว่าโชคร้ายที่ใบอนุญาตของเขาถูกศาลฎีกาของรัฐฟลอริด้าสั่งระงับไว้ เนื่องจากตามกฎหมาย พวกเขาจะอนุมัติใบอนุญาตนั้นได้ก็ต่อเมื่อผู้ได้รับใบอนุญาตมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ต่อมา สตีเฟน ก็ได้กลายมาเป็นทนายความที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกันยุคใหม่ และได้เริ่มเปิดบริษัททนายความเป็นของตัวเอง ทว่าในปี 7 ปีต่อมา สตีเฟนก็มุ่งหน้าไปหาความท้าทายใหม่ และกลายมาเป็นอัจฉริยะที่สามารถจบกาศึกษาระดับปริญญาเอกด้านประสาทวิทยา จากมหาวิทยาลัยไมอามี่ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2542 ซึ่งสตีเฟนได้เผยว่า หากเขามีเงินเป็นแรงจูงใจในชีวิต เขาอาจเลือกวางแผนเส้นทางอาชีพที่ต่างออกไป แต่สำหรับเขา เขาสนใจที่จะทำในสิ่งที่เขาคิดว่าน่าสนใจเท่านั้น
เดวิด สจ๊วต (David Stuart)
5. ผู้ชนะรางวัล MacArthur Fellowship ที่อายุน้อยที่สุด
ในปี พ.ศ. 2527 เดวิด สจ๊วต (David Stuart) วัย 22 ปี ต้องตกตะลึงอย่างมากเมื่อเขาได้รับแจ้งจากคณะกรรมการผู้ตัดสินรางวัล MacArthur ว่าเขาเป็น 1 ในผู้ที่ได้รับคัดเลือกให้ได้รับรางวัล MacArthur ซึ่งจะมอบให้ชาวอเมริกันเพียง 20-40 คน ในช่วงวัยใดก็ได้ และทำงานในสาขาอาชีพใดก็ได้ ที่สามารถแสดงให้เห็นถึงความคิดริเริ่มสุดพิเศษและมุ่งอุทิศตนเพื่อการแสวงหาความคิดสร้างสรรค์ และนั่นก็ทำให้เขากลายมาเป็นผู้รับรางวัลที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของมูลนิธิ อย่างไรก็ตาม เมื่อลองย้อนกลับไปดูผลงานที่ผ่านมาของเขา เราคงแทบไม่แปลกใจเลยว่าทำไมเดวิดถึงได้รับเลือกให้เป็นผู้ชนะรางวัล MacArthur อันทรงเกียรตินี้ เพราะชายคนนี้เริ่มศึกษางานเขียนโบราณตั้งแต่ตอนอายุ 3 ขวบ จนกระทั่งตอนที่เขาอายุ 14 ปี ก็ได้ตีพิมพ์งานเขียนชิ้นแรกในชื่อ "Some Thoughts on Certain Occurrences of the T565 Glyph Element at Palenque" ก่อนที่เขาจะกลายมาเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านโบราณคดีมายันด้วยวัยเพียง 18 ปีเท่านั้น นอกจากนี้ งานเขียนของเดวิดอีก 2 ชิ้น ก็ยังได้รับการตีพิมพ์ตั้งแต่ก่อนที่เขาจะเรียนจบชั้นมัธยมปลาย พร้อม ๆ กับที่เดวิดได้รับการยอมรับในฐานะนักศึกษาชั้นปีที่ 3 ในการศึกษายุคพรี โคลัมเบียน หรือยุคก่อนที่โคลัมบัสจะค้นพบอเมริกา ในมหาวิทยาลัยวอชิงตัน และสาขาการวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จนกระทั่งเขาได้รับราววัล MacArthur ในที่สุด
แจ๊ค แอนดราก้า (Jack Andraka)6. วัยรุ่นมหัศจรรย์ผู้ต่อสู้กับโรคมะเร็งตับอ่อน จากความสูญเสียในวัยเยาว์เมื่อญาติผู้ใกล้ชิดได้จากไปด้วยโรคมะเร็งตับอ่อน ซึ่งเป็นโรคที่มักจะถูกตรวจพบเมื่อผู้ป่วยอยู่ในระยะลุกลามจนสายเกินกว่าจะช่วยเหลือผู้ป่วยได้แล้วนั้น ทำให้ แจ๊ค แอนดราก้า (Jack Andraka)ตัดสินใจอุทิศชีวิตของเขาในการคิดค้นอุปกรณ์เพื่อตรวจหาโรคมะเร็งตับอ่อนที่จะสามารถพบโรคได้ตั้งแต่ระยะต้น ๆ ในช่วงที่ผู้ป่วยยังมีความหวังในการรักษา และอาจหายขาดจากโรค จนกระทั่งในที่สุด แจ๊ค ในวัยเพียง 15 ปี ก็สามารถชนะรางวัลสูงสุดจากงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมนานาชาติของอินเทล ด้วยผลงานเซ็นเซอร์ตรวจมะเร็งตับอ่อน ซึ่งนอกจากจะได้ผลที่แม่นยำถึง 90% และ ไวต่อสิ่งตรวจจับขึ้น 400 เท่า เมื่อเทียบกับการตรวจจับมะเร็งตับอ่อนแบบมาตรฐานที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันแล้ว ยังมีราคาถูกลงถึง 26,000 เท่า เพราะเซ็นเซอร์ตรวจมะเร็งตับอ่อนของแจ๊คที่มีลักษณะเป็นกระดาษแผ่นบาง ๆ นี้ มีค่าใช้จ่ายในการตรวจโรคแต่ละครั้งเพียง 1 บาท เท่านั้น และใครจะเชื่อว่าสิ่งประดิษฐ์อันยอดเยี่ยมของแจ๊ค จะเกิดขึ้นจากการค้นคว้าตามนิตยสารออนไลน์และจากค้นหาในเว็บไซต์กูเกิ้ล ก่อนที่เขาจะร่างแผนเสนองานวิจัยเพื่อ พัฒนาสิ่งประดิษฐ์ของเขา รวมทั้งงบประมาณและระยะเวลา ส่งไปยังแล็บในมหาวิทยาลัย 200 แห่ง ซึ่งมีเพียง ดร.อนิบาน ไมทรา จากโรงเรียนแพทย์ จอห์น ฮ็อพกินส์ เพียงคนเดียวเท่านั้นที่ตอบรับคำขอใช้สถานที่ของแจ๊ค ซึ่งเขาก็ได้ทุ่มเวลาในช่วงหลังเลิกเรียน และทุก ๆ วันหยุดของเขาเพื่อค้นคว้าอุปกรณ์ชิ้นนี้ ในที่สุด แจ๊คก็ได้ประสบความสำเร็จในการคิดค้นเซ็นเซอร์ตรวจมะเร็งตับอ่อน ที่สามารถตรวจหาโปรตีนเมโซธีลินด้วยการหยดเลือดหรือปัสสาวะเพียงหยดเดียวลงไปบนกระดาษ และใช้เวลาเพียง 5 นาทีเท่านั้น ซึ่งจากนี้แจ๊คยังมุ่งมั่นที่จะพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ของเขาต่อไป
Credit kapook.com และ http://forums.goosiam.com/html/0027317.html
ที่มา: http://www.unigang.com/Article/15580
|