โรคพยาธิหนอนหัวใจเกิดจากเชื้อ Dirofilariaimmitis เป็นโรคที่พบได้บ่อยในสุนัขพบได้บ้างในแมว แต่พบได้ยากในคน มียุงเป็นพาหะการติดเชื้อเกิดขึ้นได้เนื่องจากยุงกินเลือดสุนัขที่มีตัวอ่อนของเชื้อนี้อยู่แล้วตัวอ่อนจะพัฒนาในตัวยุง
จากนั้นจะปล่อยตัวอ่อนระยะติดเชื้อให้สุนัขตัวอื่นที่ยุงกินเลือดพยาธิตัวแก่อาศัยอยู่ในหัวใจห้องล่างขวา หลอดเลือดแดงที่นำเลือดไปสู่ปอดและหลอดเลือดดำใหญ่ การที่มักจะพบพยาธินี้อยู่ในหัวใจ จึงเรียกว่า พยาธิหนอนหัวใจ(Heart worm)
พยาธิหนอนหัวใจพบได้ทั่วไปในเขตที่มีอากาศอบอุ่นและแถบเมืองร้อนทั่วโลกรวมทั้งรวมทั้งในประเทศไทยด้วยถ้าเลี้ยงสุนัขในบริเวณที่มีการแพร่ระบาดของโรคนี้สูงสุนัขก็มีโอกาสป่วยด้วยโรคนี้ได้มาก
ลักษณะและขนาด
ตัวแก่ :สามารถดูได้ด้วยตาเปล่า รูปร่าง ยาวเรียว มีขนาดยาว 20-30 เซนติเมตร หางของตัวแก่พยาธิหนอนหัวใจตัวผู้มีลักษณะเป็นขด
ตัวอ่อน : อาศัยอยู่ในเลือดต้องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ มีขนาดยาว 307-332 ไมโครเมตร และกว้าง 6.8 ไมโครเมตรทางด้านหน้าจะยาวเรียว แต่ทางด้านหลังจะทู่
วงจรชีวิต
ตัวแก่ของพยาธิหนอนหัวใจอาศัยอยู่ในหัวใจและหลอดเลือดใกล้เคียง ตัวเมียจะปล่อยตัวอ่อนเข้าไปในกระแสเลือดซึ่งจะถูกกินโดยยุงตัวเมียในขณะที่กินเลือดสุนัขที่ติดเชื้อนี้แล้วตัวอ่อนจะพัฒนาในตัวยุงกลายเป็นตัวอ่อนระยะติดเชื้อโดยใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ และไปอยู่ที่ปากของยุง
เมื่อยุงที่มีตัวอ่อนพยาธิหนอนหัวใจกินเลือดสุนัขที่ปกติก็จะปล่อยตัวอ่อนให้กับสุนัขนั้นตัวอ่อนจะเคลื่อนที่จากเนื้อเยื่อชั้นใต้ผิวหนังของสุนัข และมีการพัฒนา 2 ครั้งจนกลายเป็นตัวแก่ระยะแรกในหัวใจและหลอดเลือดสู่ปอดภายในเวลา3-4 เดือน และในระยะ 6 เดือน จะพบตัวอ่อนในกระแสเลือดเมื่อยุงกัดสุนัขที่มีเชื้อพยาธิหนอนหัวใจจะได้รับตัวอ่อนและมีการพัฒนาใน ยุง เมื่อยุงตัวนั้นไปกัดสุนัขปกติตัวอื่นก็ทำให้ติดเชื้อพยาธิหนอนหัวใจได้ตัวแก่ของพยาธิหนอนหัวใจมีชีวิตอยู่ได้หลายปีและสามารถปล่อยตัวอ่อนได้นาน ถึง 5 ปี
พยาธิสภาพ
ขึ้นอยู่กับจำนวนของตัวแก่ของพยาธิหนอนหัวใจถ้ามีตัวแก่จำนวนน้อยก็จะไม่พบอาการป่วยแต่ถ้ามีตัวแก่จำนวนมากทำให้เกิดปัญหาของระบบหมุนเวียนโลหิตได้ตั้งแต่ขัดขวางการไหลเวียนชองเลือดจนถึงขั้นเกิดภาวะหัวใจวายได้ถ้ามีพยาธิหนอนตัวแก่จำนวนมากยังทำให้ผนังกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้อาจจะเนื่องจากสิ่งขับถ่ายจากตัวพยาธินอกจากนี้พยาธิตัวแก่ที่ตายจะอุดตันหลอดเลือดที่นำเลือดไปสู่ปอดจึงเกดิความดันโลหิตสูงทำให้ร่างกายชดเชยโดยทำให้กล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างขวาใหญ่ขึ้นทำให้เกิดหัวใจวายได้ ซึ่งจะพบอาการบวมน้ำและท้องมาน ในระยะนี้สุนัขจะซึม ไอแห้งๆและอ่อนเพลียมาก
อาการป่วย
ถึงแม้สุนัขจะติดเชื้อพยาธิหนอนหัวใจเมื่ออายุน้อยอยู่ แต่ส่วนใหญ่มักจะแสดงอาการป่วยเมื่อสุนัขมีอายุมาก คือมากกว่า 4 ปีโดยพบว่าสุนัขที่ติดเชื้อพยาธิหนอนหัวใจจำนวนมากจะซึม เหนื่อยง่าย หายใจหอบร่างกายอ่อนเพลีย ไอแห้งๆ และบางตัวจะมีเลือดออกมาด้วยเมื่อไอและในระยะต่อมาจะบวมน้ำและท้องมาน และตายในที่สุด
ถ้าติเชื้อพยาธิหนอนหัวใจจำนวนไม่มากจำไม่พบอาการเด่นชัด แต่จะสังเกตได้ในสุนัขใช้งาน (เช่นพันธุ์อัลเซเชียน) โดยสุนัขจะเหนื่อยง่าย หอบเมื่อให้ออกกำลังกาย และสุนัขบางตัวถึงกับหัวใจวายตายได้
การวินิจฉัย
อาศัยอาการทางคลีนิคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของระบบหมุนเวียนโลหิต เช่น ไอแห้งๆ บวมน้ำ และท้องมาน เป็นต้นร่วมกับการตรวจพบตัวอ่อนของพยาธิหนอนหัวใจในเลือด
ในรายที่ตรวจไม่พบตัวอ่อนในเลือด แต่มีอาการอยู่ในข่ายที่สงสัยว่าเป็นพยาธิหนอนหัวใจต้องทำการวินิจฉัยทางวิทยาภูมิคุ้มกันเพื่อตรวจหาแอนติเจนของพยาธิตัวแก่ในเลือดก่อนซึ่งเกิดขึ้นได้ในรายที่ให้สุนัขที่มีอายุเกิน 6 เดือนซึ่งติดเชื้อพยาธิหนอนหัวใจกินหรือฉีดยาป้องกันโรคพยาธิหนอนหัวใจโดยไม่ทำการตรวจเลือดก่อนว่ามีตัวอ่อนพยาธิหนอนหัวใจหรือไม่ยาป้องกันโรคพยาธิหนอนหัวใจจะไปทำลายตัวอ่อนในรายที่ติดเชื้อพยาธิหนอนหัวใจทำให้ไม่สามารถตรวจพบตัวอ่อนของพยาธิหนอนหัวใจได้ทั้งๆที่มีตัวแก่ของพยาธิหนอนหัวใจอยู่ การตรวจวินิจฉัยโดยวิธีการนี้ให้ผลแม่นยำดีมากแต่ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง
การรักษา
เนื่องจากยาที่ใช้ฉีดทำลายตัวแก่พยาธิหนอนหัวใจมีความเป็นพิษสูงดังนั้นก่อนที่จะใช้ยานี้ในการรักษาโรคพยาธิหนอนหัวใจต้องตรวจสุขภาพสุนัขให้ละเอียด รวมทั้งการตรวจค่าโลหิตวิทยาเพื่อดูการทำงานของตับและไตในบางรายอาจจำเป็นต้องถ่ายเอ็กซเรย์ช่องอกเพื่อดูสภาพของหัวใจและปอดด้วยถ้าสุขภาพไม่ดีก็จำเป็นที่จะต้องให้การบำรุงไปก่อนถ้าสุขภาพอยู่ในขั้นที่จะฉีดยารักษาได้ก็ให้การรักษาทันที
ในปัจจุบันยาที่ใช้ในการรักษาโรคนี้มีราคาแพงมากจึงควรที่จะป้องกันและควบคุมไม่ให้เกิดโรคนี้จะดีกว่า นอกจากนี้สุนัขที่ฉีดยารักษาโรคพยาธิหนอนหัวใจอาจจะตายได้เนื่องจากตัวแก่ของพยาธิหนอนหัวใจที่ตายอุดหลอดเลือดดังนั้นจึงควรขังสุนัขที่ฉีดยารักษาไว้อย่างน้อย 2-6 สัปดาห์
หลังจากฉีดยาทำลายตัวแก่แล้วประมาณ 4 สัปดาห์จึงควรให้กินหรือฉีดยาทำลายตัวอ่อน และให้กินหรือฉีดยาป้องกันตามโปรแกรมที่แนะนำให้โดยสัตวแพทย์เพื่อไม่ให้เกิดเป็นโรคนี้ขึ้นมาได้อีก
การควบคุมและป้องกัน
การควบคุมโรคพยาธิหนอนหัวใจโดยการป้องกันไม่ให้ยุงที่มีเชื้อพยาธิหนอนหัวใจมากัดนั้นกระทำได้ยาก เพราะประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนและมียุงตลอดปีจึงต้องใช้วิธีการป้องกันโดยการกินหรือฉีดยาทำลายตัวอ่อนในเลือดสุนัขเพื่อไม่ให้พัฒนาไปเป็นตัวแก่ในหัวใจสุนัข แต่การฉีดยาป้องกันจะสะดวกและประหยัดกว่าการให้กินเพราะถ้าให้กินยาต้องให้กินทุกเดือน แต่ถ้าฉีดให้ฉีดให้ทุก 2 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่สุนัขอายุ3 เดือน
ถ้าจะใช้โปรแกรมการป้องกันพยาธิหนอนหัวใจในสุนัขที่มีอายุมากกว่า 6 เดือนในขั้นแรกต้องทำการตรวจเลือดก่อนว่ามีตัวอ่อนของพยาธิหนอนหัวใจอยู่หรือไม่ถ้าตรวจไม่พบตัวอ่อนก็เข้าโปรแกรมป้องกันได้เลย แต่ถ้าตรวจพบตัวอ่อนพยาธิหนอนหัวใจแสดงว่ามีตัวแก่อยู่ในหัวใจ ต้องฉีดยาทำลายตัวแก่ก่อนจากนั้นจึงเข้าโปรแกรมป้องกันโรคนี้
ส่วนสุนัขที่ต้องการจะเข้าโปรแกรมการป้องกันพยาธิหนอนหัวใจ แต่ (1) เคยได้รับยาป้องกันโรคพยาธิหนอนหัวใจมาแล้วแต่ไม่ได้รับต่อเนื่องตามโปรแกรมที่แนะนำโดยสัตวแพทย์ หรือ (2) เคยประยุกต์ใช้ยาป้องกันโรคพยาธิหนอนหัวใจมาใช้ในการกำจัดเห็บและขี้เรื้อนในทั้งสองกรณีนี้จำเป็นต้องทำการตรวจทางวิทยาภูมิคุ้มกัน เพื่อหาแอนติเจนของพยาธิตัวแก่ในเลือดเสียก่อนเพราะถึงแม้จะตรวจเลือดไม่พบตัวอ่อน แต่ก็อาจจะมีตัวแก่ในหัวใจได้ถ้าผลการตรวจเป็นลบ แสดงว่าไม่มีพยาธิหนอนหัวใจตัวแก่สามารถเข้าโปรแกรมการป้องกันได้เลย แต่ถ้าผลเป็นบวกแสดงว่ามีตัวแก่อยู่ในหัวใจต้องฉีดยาทำลายตัวแก่ก่อน จากนั้นจึงเข้าโปรแกรมการป้องกัน
โดย รศ.น.สพ.กมลชัย ตรงวานิชนาม