“สีรุ้ง” ดี๊ด๊า แกรมมี่ทำ “นิตยสารเกย์” จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ พานิตยสารเกย์ชื่อดังจากอังกฤษ Attitude (แอตติจูด) เข้าเมืองไทย เปิดยุคหนังสือเกย์หัวอินเตอร์ให้แก่ “ชาวสีรุ้ง” ได้วี้ดว้ายกะตู้วู้ ยืนยัน กำลังซื้อของคนกลุ่มนี้ใหญ่มากในการบำเรอความสุขให้แก่ตัวเอง แอตติจูดหาใช่หนังสือยั่วยุทางเพศแต่เป็นนิตยสารเกย์แฟชั่นและไลฟ์สไตล์ ที่จะเปิดทัศนคติและมุมองที่หลากหลายในอันที่จะร่วมกันเปลี่ยนมุมมองและทัศนคติของคนรอบข้างที่มีต่อเกย์ในสังคมไทยให้กว้างขวางขึ้น
“เกย์” คนปกติที่มีทัศนคติในแบบของเขา
“ป้อม” ลายคราม เลิศวิทยาประสิทธิ์ แห่ง GMM INTER PUBLISHING ซึ่งเป็นผู้ดูแลหัวหนังสืออินเตอร์ที่ทางแกรมมี่ได้ลิขสิทธิ์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น Madame Figaro, Herworld และ Maxim จนมาถึงเล่มล่าสุด attitude โดยมี “ต๊ะ” ธวัชชัย ดีพัฒนา เป็นบรรณาธิการ
แอตติจูด ไทยแลนด์ เล่มแรกวางตลาดแล้ว !!
“แอตติจูด” เป็นนิตยสารสัญชาติอังกฤษ ออกวางแผงเล่มแรกในปี ค.ศ. 1994 ในปี 2005 BSME ได้มอบรางวัล Best Men's Magazine Editor of The Year ให้กับ Adam Mattera บรรณาธิการบริหาร นับเป็นครั้งแรกที่บรรณาธิการนิตยสารเกย์ได้รับรางวัลสูงสุดของวงการนิตยสารอังกฤษ นอกจากนี้ Metthew Todd บรรณาธิการบริหารคนปัจจุบัน ยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลเดียวกันสองปีซ้อน ( 2009, 2010) เหตุที่เป็นนิตยสารเกย์คุณภาพในประเทศอังกฤษจึงมีเหล่าคนดังทุกสาขา อาชีพ ไม่ว่าจะเป็นเพศไหน ชายจริง หญิงแท้ เกย์ เลสเบียน ต่างตบเท้ากันมาขึ้นปกนิตยสารเล่มนี้กันมากมาย เช่น วินนี โจนส์, เดวิด เบคแคม, เฟรดเดอริก ลุงเบิร์ก, เจมส์ แอนเดอร์สัน นักคริกเกตดีกรีทีมชาติอังกฤษ, Harry Judd (สมาชิกวง McFly) โทนี่ แบร์ เป็นต้น
ภายใต้หัวหนังสือเกย์ที่มีอยู่อย่างหลากหลายในต่างประเทศ “ป้อม” ลายครามดูและศึกษาสารบัญทุกเล่ม แต่เธอตัดสินใจกับเล่มนี้
“ หนึ่ง แอตติจูด เป็นหัวหนังสือเกย์ที่เป็น Best in the world และสอง แอตติจูด ชื่อมันสวยและความหมายก็ดี แล้วมันก็ตรงประเด็น เพราะคนที่เป็นเกย์มันถูก แอตติจูด (ทัศนคติ) ของคนรอบข้างทำร้าย เพราะฉะนั้น เมื่อวิวัฒนาการของสังคมเปลี่ยนไป ทัศนคติของคนรอบข้างต้องเปลี่ยน และควรจะเปลี่ยนเพื่อการยอมรับความแตกต่างที่คนกลุ่มนี้มีในเชิงสร้างสรรค์มากในทุกสาขาอาชีพ อาจจะเป็นเพราะว่า สังคมยอมรับพวกเขาน้อย ความพยายามของคนกลุ่มนี้ก็เลยเยอะเพื่อที่จะพิสูจน์ตัวเอง และความพยายามที่เยอะกว่าคนปกติ เลยทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จในการทำงานแทบจะทุกวงการ ในความรู้สึกของพี่ พวกเขาคือคนปกติ เพียงแต่ว่า เขามีทัศนคติในชีวิตของเขาอีกแบบหนึ่งเท่านั้นเอง” “ป้อม” ลายคราม เลิศวิทยาประสิทธิ์ ในฐานะ Managing Director & Publisher กล่าว
“อันที่จริง ทางแอตติจูดที่โน่นก็ดูพี่อยู่ระยะหนึ่ง เพื่อสำรวจว่า เราสนใจจริงหรือไม่ นอกจากนี้ยังดูเรื่องฐานะของบริษัทจนมั่นใจว่า ลูกเขาเมื่อมาอยู่ในมือเราจะเติบโตหรือไปได้แค่ไหน เราเริ่มติดต่อดำเนินการมา 2 ปีแล้ว แต่ช่วงที่คุยกันเป็นจริงเป็นจังอยู่ที่ 6 เดือนให้หลัง จนเขามั่นใจว่า พี่มีทัศนคติกับเกย์ที่ดีมาก ถึงยอมปล่อยแอตติจูดมาอยู่ในมือเรา หลังจากนั้นถึงมาลงรายละเอียดกันว่า ค่าลิขสิทธิ์เป็นจำนวนเงินเท่าไร สัดส่วนเนื้อหาของหนังสือควรจะเป็นอย่างไร ส่วนไหนจะคงไว้ ส่วนไหนจะตัดทิ้ง พี่ยอมรับว่า ในช่วงระยะแรกๆ ขณะที่เราแสดงความต้องการอย่างแน่ชัดกับหนังสือเล่มนี้ เราก็มีการเตะถ่วงเพื่อที่จะรอจังหวะของเศรษฐกิจอยู่ด้วย เช่น บางครั้งเราอาจจะตอบช้านิดหนึ่ง จนพี่แน่ใจว่า สังคมพร้อมแล้ว เศรษฐกิจคงจะไม่เลวร้ายไปกว่านี้ และมีแนวโน้มว่าจะดีขึ้น แต่จะดีขึ้นแค่ไหนพี่ไม่รู้ แต่เราต้องทำแล้ว” “ป้อม” ลายครามย้อนเล่ารายละเอียดในช่วงดำเนินการให้ทีมสกู๊ปพิเศษฟังอย่างฉะฉาน มั่นใจ
เธอกล่าวประโยคหนึ่งต่อไปว่า “ถ้าไม่ทำเราจะไม่ใช่ผู้บุกเบิก” !!
ในวงการหนังสือ ข่าวทั้งหลายถึงกัน รับทราบกันมาเกี่ยวกับนิตยสารเกย์เล่มนี้กันมาเป็นปีแล้ว จากการบอกเล่า กันภายในจนคนภายในเริ่มไปพูดกับคนภายนอกองค์กรและ “ความลับไม่มีในโลก” !“ ในวงการเกย์เริ่มมีการพูดถึงเยอะ เพราะฉะนั้น พี่ถ่วงเวลาต่อไปอีกไม่ได้แล้ว ถ้าเทียบกับการทำนิตยสารไทย ทำปุ๊บ เสร็จปั๊บ แต่มันไม่ใช่รสนิยมพี่ พี่คิดว่า ณ เวลานี้เมื่อสังคมเปิดกว้าง แม้ว่าจะกว้างไม่ทั้งหมด เรามาช่วยกันแหกให้มันกว้างขึ้นดีกว่า”
ต้นเดือนตุลาคมปีที่แล้ว การพูดคุยทุกอย่างเสร็จสิ้น เหลือเพียงการทำสัญญา เป็นหนังสือหัวนอกเล่มแรกที่เธอขอตัวเลขที่ง่ายต่อการจดจำในวันร่วมลงนามเซ็นสัญญา แค่ง่ายต่อการจดจำ ไม่ได้เกี่ยวกับเลขมงคลหรือความเชื่อใดทั้งสิ้น และนั่นเป็นที่มาของวันที่ 10 - 10 - 2010
“คุณไพบูลย์มองในเชิงธุรกิจ เรามองด้วยทัศนะของคนทำมาค้าขาย ซึ่งพี่เห็นว่า นิตยสารเล่มนี้น่าทำ และพี่เป็นคนที่มีเพื่อนเป็นเกย์เยอะ เรารู้สึกอยู่ตลอดเวลาว่า คนเหล่านี้สร้างความสุข เวลาเราไปไหนกับเขา เขามีความเป็นมิตรกับเรา เราไม่ต้องกลัวอันตราย เที่ยวกับเพื่อนกลุ่มนี้เราได้ปลดปล่อยจริงๆ ในขณะที่เวลาทำงาน คนกลุ่มนี้มุมานะ ทำๆๆ เป็นตัวอย่างที่ดีซึ่งคนเพศอื่นควรจะมองไว้เป็นตัวอย่างด้วยซ้ำไป... ในเชิงธุรกิจแล้ว ตลาดของคนกลุ่มนี้ใหญ่มาก เนื่องจากกลุ่มเกย์มีกำลังซื้อและพร้อมที่จะใช้ชีวิตไปกับการบำรุง บำเรอความสุขให้แก่ตนเอง เขาไม่ใช่คนที่จะมุ่งแต่เก็บเงินสร้างอนาคตให้แก่ครอบครัวเหมือนอย่างคนที่เป็นผู้ชายและผู้หญิง แต่เกย์จะรู้จักการนำเงินส่วนหนึ่งมาปันเพื่อสร้างความสุขให้แก่ตัวเอง ดังนั้น คนกลุ่มนี้จึงใช้เงินไปกับการแต่งตัว กินอยู่ รักษาสุขภาพ บำรุงความงามอย่างมีรสนิยมเพื่อให้พวกเขาดูดีอยู่ตลอดเวลา”
ลายคราม เลิศวิทยาประสิทธิ์ทำงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการกับสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์มาทุกประเภทมา 26 ปีกับบริษัทแปซิกฟิกอินเตอร์คอมมิวนิเคชั่น ไม่ว่าจะเป็นนิตยสารดิฉัน , Cosmopolitan รวมถึงวิทยุ จส. 100 หรือรายการข่าวในอดีตที่ปีย์ มาลากุล ร่วมมือกับสมเกียรติ อ่อนวิมล ระหว่างที่กำลังจะเบนเข็มไปทำธุรกิจพรอพเพอร์ตี้ของครอบครัว ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรมก็เข้ามาทาบด้วยเสียดายในประสบการณ์ ชักชวนกันมาขยายอาณาจักร 8 ปีกับสิ่งพิมพ์หัวอินเตอร์ ไม่ว่าจะเป็น Madam Figaro, Herworld , Maxim จนมาถึง attitude คือผลงานซึ่งชัดเจนที่สุดของเธอ
คนทำต้องรู้จัก DNA ของหนังสือ
ก่อนเซ็นสัญญาเมื่อวันที่ 10 -10 -2010 “ป้อม” ลายครามเริ่มที่จะสรรหาผู้ร่วมงานแล้ว เพราะจากที่มีการพูดคุยเบื้องต้นนั้น ทางบริษัทแม่ขอมีส่วนในการคัดสรรบุคลากร โดยผ่านความคิดเห็นแบบตรงไปตรงมา ประเด็นสำคัญทางบริษัทแม่ต้องการคนทำงานที่รู้จัก DNA ของ attitude เป็นอย่างดี เธอพบว่า “ต๊ะ” ธวัชชัย ดีพัฒนา เป็นคนที่รู้จักหนังสือเล่มนี้ดีที่สุด ในกลุ่มที่เข้ามาแสดงเจตจำนงว่าจะร่วมงานด้วย
“ ไม่ว่าจะเลือกใครเป็นบก. แต่ควรทำหนังสือเล่มนี้” นี่คือประโยคหนึ่งที่ “ต๊ะ” บอกกับ “ป้อม” ลายคราม เมื่อคราวสนทนาทำความรู้จักกันในคราวแรก ขณะเริ่มอ่าน Attitude เล่มแรกเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นฉบับครบรอบ 5 ปี เธอเห็นความหลากหลายในการชักชวน ตั้งประเด็นกับคนอ่านของหนังสือเล่มนี้ ที่สำคัญ ไม่ใช่หนังสือเกย์ประเภทกะโหลกกะลาบ้ากาม !! “ต๊ะ” ธวัชชัย ดีพัฒนา หลังเรียนจบจากครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำงานเป็นประชาสัมพันธ์ให้กับสยามดิสคัฟเวอรี เขาเป็นเพื่อนรุ่นน้องที่มีความสนิทสนมกับ “ไมค์”(ปัจจุบันเป็น Advertorial Editer ให้แก่นิตยสาร Wallpaper ) ดังนั้นไมค์จึงมีการชักชวนกันกันมาทำหนังสือ คร่ำหวอดอยู่ในวงการหนังสือมากมายหลายเล่ม เริ่มจาก How to , WC , Honeymoon , Esquire, Veva และ Wallpaper ตามลำดับ ก่อนที่จะมาเป็นบรรณาธิการให้แก่ attitude ในวันนี้
“ แอตติจูด เป็นนิตยสารเกย์อีกเล่มหนึ่งที่เกิดจากประเด็นทางการเมือง พวกเขาต้องการพื้นที่เพื่อให้สังคมได้รู้ว่า ตัวตน และไลฟ์สไตล์ของเขาเป็นอย่างไร จากเป้าหมายนี้ก็เลยพัฒนาเรื่อยๆจนกลายเป็นสารบัญเรื่องราวต่างๆที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ เขาสามารถทำให้สังคมเห็นว่า คนกลุ่มนี้มีชีวิตที่เป็นปกติ เพียงแต่มีรสนิยมที่อาจจะแตกต่างกันไป และการที่เขาเป็นคนปกติในสังคม อะไรที่เขาเรียกร้องต่อมามันก็เลยเป็นผลให้เกิดการคุ้มครองในด้านกฎหมาย รวมถึงการรวมกลุ่มจนเป็นที่ยอมรับกันในสังคม” “ต๊ะ” ธวัชชัย กล่าว
ในฐานะของ “บรรณาธิการ” มีหลายเรื่องที่เขาอยากจะชี้แจง !! ในเรื่อง “การรับรู้” ที่อาจจะคลาดเคลื่อนและไม่ถูกต้อง
“ ต้องเรียนอย่างนี้ก่อนว่า นิตยสารแอตติจูด ไม่ใช่หนังสือในแนวกอสซิปที่จะไปแฉว่า คนโน้นเป็นเกย์ คนนี้เป็นเกย์ เพราะเราคิดว่า ในประเด็นนั้นไม่ใช่สาระของหนังสือที่เราจะต้องนำเสนอ เราต้องเคารพสิทธิ์ในการตัดสินใจของดารา หรือบุคคลต่างๆที่เราไปเชื้อเชิญเขามา สมมติว่า เขาเป็นเกย์ แต่เขาไม่สบายใจที่จะพูด ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าคุณไม่ได้เป็นเกย์ แต่คุณมีความชื่นชอบ คุ้นเคย และมีความคิดเห็นที่อยากจะบอกหรือพูดคุยกับคนกลุ่มนี้ เราก็โอเค และจะยินดีมาก ความจริงแอตติจูดที่อังกฤษ ก็มีผู้หญิงขึ้นเป็นปกอยู่หลายคน แต่อาจจะต้องเป็นผู้หญิงที่ก๋ากั๋นนิดหนึ่ง และเป็นผู้หญิงที่พวกเราชื่นชอบและประสบความสำเร็จในฐานะที่เป็นไอดอลของชาวเกย์”
“ ด้วยชื่อของ attitude ซึ่งแปลว่า ทัศนคตินั้น มันสื่อความหมายอยู่แล้ว ทัศนคติเป็นเรื่องที่ไม่มีคำว่าถูกหรือว่าผิด ซึ่งคนที่จะมาคุยกับเรา สามารถมองทั้งด้านบวกและด้านลบ มันมีคำถามว่า แล้วคนที่มาถ่ายแบบในนิตยสารเล่มนี้ ต้องเป็นเกย์หรือเปล่า อันนี้เป็นปัญหาที่เราเจอมาตั้งแต่ฉบับแรก ดาราบางคน อุ๊ย … หนังสือเกย์ กลัว เราต้องอธิบายให้ชัดเจนว่า ในต่างประเทศเขามีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอย่างไร ทำไมคนดังๆที่ไม่ได้เป็นเกย์ถึงมาขึ้นปกกัน เพราะว่านายแบบปกเหล่านี้คือคนที่เกย์คลั่งไคล้ และพวกเขาก็มองเกย์อย่างมนุษย์ เป็นเพื่อนกับเกย์ เมื่อเขามาขึ้นปกก็พร้อมที่จะพูดคุย แสดงทัศนคติ และโดยหลักสัมภาษณ์แล้วก็คุยกันในเรื่องทั่วๆไป แต่มันก็ต้องมีคำถามให้แสดงทัศนคติเกี่ยวกับเกย์บ้างเท่านั้นเอง”
สังคมไทยเข้าใจผิดและรับรู้ว่า นิตยสารเกย์ ผู้ชายต้องเป็น “แนวตั้งและเปลือยหมดจด” !! และคิดว่า อัลบั้มหนุ่มๆที่วางเรียงรายอยู่บนแผงและใต้แผงหนังสือในบ้านเรานั้น เป็นหนังสือเกย์ ความจริงไม่ใช่ เพียงแต่เกย์บางส่วนนิยมซื้อเท่านั้นเอง
“ คนไทยติดการรับรู้เรื่องนี้มานาน พอจะมีนิตยสารเกย์ออกมาเล่มหนึ่งก็ต้องคิดว่า ต้องโป๊แน่เลย ซึ่งความคิดนี้ทำให้คนที่อยู่รอบตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า นายแบบ หรือใครต่อใครกลัวกันมาก ซึ่งตรงนี้ เราต้องมาช่วยกันสร้างทัศนคติใหม่ให้รู้ว่า นิตยสารเกย์ไลฟ์สไตล์ที่มันถูกต้อง ดี สร้างสรรค์ หน้าตามันควรจะเป็นอย่างไร มันอาจจะมีรูปเซ็กซี่อยู่ แต่อยู่ในกรอบที่เหมาะสม และไม่ทำให้เขาเสียชื่อเสียง”
ในวันนี้ … เมืองไทยไม่มีนิตยสารเกย์ ซึ่งให้ความรู้ ข่าวสาร อันเป็นประโยชน์กับคนกลุ่มนี้ นอกจากเรื่องประสบการณ์กับรูปโป๊เปลือยของ “หนุ่มโนเนม” เท่านั้น
“ นิตยสารเกย์หัวไทย มันไม่มีแบรนด์ ไม่มี DNA ของความสำเร็จ แต่แบรนด์ตัวนี้ “แอตติจูด” มันประสบความสำเร็จ ส่งขายทั่วโลกมานานถึง 16-17 ปีแล้ว เราเป็นฉบับภาษาไทยที่เป็นลิขสิทธิ์แรกของโลกที่เป็นภาษาต่างประเทศ ตามสัดส่วนที่ตกลงกัน เราจะนำไลฟ์สไตล์จากต่างประเทศมาปรับใช้ 70 % ส่วนที่เหลือ 30 % เป็นเรื่องของคนไทย สังคมไทย เป็นการ กิน ดื่ม เที่ยวในแบบของเรา”
จุดเด่นของนิตยสารเกย์เล่มนี้ อยู่ที่ความครอบคลุมในเรื่องไลฟ์สไตล์ทั้งหมด เป็นหนังสือในเชิงบวก ให้สาระ ความรู้ และประโยชน์กับเกย์มาก มิใช่เป็นหนังสือในแนวยั่วยุ สัดส่วนที่มีการคุยและตกลงกันในด้านเนื้อหานั้น อยู่ที่ 70 : 30 โดย เนื้อหา 70 % เป็นเรื่องไลฟ์สไตล์ทั่วๆไปที่สามารถนำมาใช้ได้ ส่วนเหลืออีก 30 % เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคนไทย สังคมไทยโดยตรง
นอกเหนือจากเรื่องแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ แล้ว นิยสารแอตติจูดยังจะมีพื้นที่พิเศษเพื่อเป็นประโยชน์กับสังคม ซึ่งเป็นพื้นที่ของกลุ่ม องค์กร และหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวกับเกย์ รวมถึงเรื่อง HIV และ AIDS ด้วย
“ตรงนี้คือพื้นที่ของพวกเขา เป็นพื้นที่แห่งการเรียกร้องสิทธิในขอบเขตอันชอบธรรมที่จะทำให้คนทั่วๆไปค่อยๆยอมรับว่า นี่คือมนุษย์เพศปกติอีกเพศหนึ่ง และเราคือ กระบอกเสียงให้แก่กลุ่มเกย์”
อื่นๆที่นอกจากหนังสือ
นอกเหนือจาก นิตยสาร attitude ในตลาดนิตยสารรายเดือนด้วยราคาจำหน่าย 120 บาทแล้ว ยังมี Facebook , IPAD และ WEBSITE อีกด้วย
เฟซบุ๊ก เป็นออเดิร์ฟเรียกน้ำย่อยในส่วนแรกที่ดำเนินการมาก่อนการจัดทำนิตยสาร ประเดิมเริ่มต้นมาตั้งแต่ก่อนวันคริสต์มาสเพียง 1 วัน ( 24 ธันวาคม 2554 / 2011) เพื่อเป็นพื้นที่ในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ซึ่งมีทั้งส่วนที่เป็นสารบัญเก่าและเกี่ยวข้องกับเกย์ร่วมสมัย ณ วันที่หนังสือยังไม่ได้อยู่บนแผง มีสมาชิก FB แล้ว 400 กว่าคน และสารบัญใหม่ๆจะเริ่มดำเนินการในช่วงที่หนังสือใกล้วางตลาดแล้ว
“ ส่วนหนึ่ง ในเชิงธุรกิจ เราคิดว่า เราจะได้เงินจาก IPAD นะคะ บางคนที่เป็นเกย์และยังไม่กล้าเปิดตัวอะไรมาก ไม่กล้าซื้อ attitude ที่แผงหนังสือ ไม่เป็นไร ก็อาจจะโหลด เสียเงิน เป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค คือ เรื่องเทคโนโลยีมันก็ช่วยที่ทำให้เราเข้าถึงพวกเขามากขึ้น โดยเฉพาะในบางอาชีพ นักธุรกิจ นายทหาร นายตำรวจ ผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการเมืองสามารถเก็บไว้ดูส่วนตัวได้ มีโคตของตัวเอง ซึ่งคนเรามันต้องมีเรื่องเอนเตอร์เทนกับชีวิตบ้าง
นะ ผู้ชายอ่านแม๊กซิมได้ แล้วทำไมเกย์จะอ่านแอตติจูดไม่ได้ ผู้หญิงเราก็เหมือนกันมีหนังสือให้เลือกตั้งเยอะแยะ จริงๆแล้วเราตั้งใจว่า ในวันหนึ่งข้างหน้า ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้หญิง ผู้ชาย จะสามารถถือแอตติจูดได้อย่างเปิดเผย ซึ่งเท่ากับเป็นการบอกสังคมว่า ทัศนคติของสังคมได้เปลี่ยนไปแล้ว ไม่แคร์ที่จะมีเพื่อนเป็นเกย์ หรืออยากรู้เรื่องของเกย์โดยการอ่านหนังสือของเรา”
จริงอยู่ ...แม้ว่า สังคมจะเปิดกว้าง แต่ใช่ว่า ทัศนคติของคนในสังคมที่มีต่อคนกลุ่มนี้จะเสมอด้วยมาตรฐานเดียวกัน attitude นิตยสารเกย์หัวอินเตอร์เล่มแรกของไทยเป็นเพียงก้าวแรกของพื้นที่แห่งการแสดงออกและตอบรับของเกย์เท่านั้น เรื่องราวอื่นๆอันเกี่ยวข้องกับหลายประเด็นในด้านสิทธิอันชอบธรรม ยังเป็นเรื่องที่ไม่อาจขอได้ด้วย “คำพูดหรือแสดงทัศนคติ” ด้วยปากเปล่าเพียงอย่างเดียว
|